ผู้เขียน | ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ |
---|
แผ่นดินไหว เป็นวิบัติภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เท่าที่มนุษย์ทำได้ก็คือ เตรียมความพร้อมให้พร้อมที่จะรับมือกับโศกนาฏกรรมนี้ไว้ตลอดเวลา เช่น ทำให้สิ่งปลูกสร้างทั้งหลายมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะทานรับได้ เป็นต้น
แผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นเมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ทั้งสำหรับเมียนมาและไทย จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งนี้ตามข้อมูลของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (ยูเอสจีเอส) อยู่ห่างออกไปจากเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมาเพียงแค่ 17.2 กิโลเมตรเท่านั้น
นักวิชาการด้านธรณีวิทยาและแผ่นดินไหวรู้ดีว่าเมียนมามีแนวของรอยเลื่อนแผ่นดินไหวผ่ากลางประเทศอยู่ เรียกว่ารอยเลื่อนสะกาย เป็นรอยเลื่อนมีพลัง เคลื่อนไหวอยู่โดยตลอด และขึ้นชื่อว่าเป็นรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่ร้ายกาจรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รอยเลื่อนสะกายนี่เองที่เป็นที่มาของเหตุวิบัติภัยทั้งในเมียนมาและไทยในครั้งนี้
คำว่า “รอยเลื่อน” เป็นศัพท์เฉพาะทางธรณีวิทยา ซึ่งหากพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็สามารถเรียกได้ว่า คือแนวปริแยกออกจากกันของแผ่นเปลือกโลก รอยแตกที่ว่านี้เกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่ ซึ่งในกรณีนี้คือแผ่นออสเตรเลียน ถูกแรงผลักจากหลายทิศทางจนส่วนหนึ่งซึ่งเล็กกว่าปริแตกออกไป กลายเป็นแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กกว่าที่เรียกว่าแผ่นซุนดา บริเวณที่เปลือกโลกทั้งสองแผ่นแยกออกจากกันนี่เองคือ รอยเลื่อนสะกาย ที่มีความยาวจากเหนือไปจนแทบจะถึงนครย่างกุ้ง รวมเป็นระยะทางถึง 1,200 กิโลเมตร
แรงผลักในธรรมชาติยังคงกระทำต่อแผ่นเปลือกโลกทั้งสองอยู่โดยตลอด ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ แผ่นอินเดียนถูกผลักให้ไหลเลื่อนขึ้นเหนือไป ในขณะที่แผ่นซุนดาถูกผลักลงสู่ด้านใต้ ระดับความเร็วนั้นไม่มาก แต่เต็มไปด้วยพลัง จนทำให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนไปในทิศทางตรงกันข้ามกันปีละ 49 มิลลิเมตร
แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อบริเวณรอยเลื่อนมีจุดติดขัด ไม่เคลื่อนไปตามแรงผลัก ทำให้เกิดการสะสมพลังขึ้นตรงจุดนั้น ยิ่งนาน แรงสะสมยิ่งมาก เมื่อมากพอที่จะดันจนจุดที่ติดขัดหลุดออกจากกันก็จะเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกอย่างรุนแรงและฉับพลัน ซึ่งก็คือการเกิดแผ่นดินไหวนั่นเอง นักธรณีวิทยาเรียกแผ่นดินไหวชนิดนี้ว่า เป็นแผ่นดินไหวชนิด “สลิป-สไตรค์” ครับ
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ยิ่งซ้ำร้ายหนักข้อขึ้นไปอีก ด้วยเหตุที่ว่า จุดที่ติดขัดที่เป็นจุดสะสมพลังนั้นดันอยู่ใต้ผิวดินลงไปเพียงเล็กน้อย คือลึกลงไปเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ต่างจากกรณีทั่วไปที่แผ่นดินไหวในขนาดใหญ่ระดับนี้ความลึกของจุดติดขัด หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว มักจะอยู่ลึกลงไปราว 30 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น
ความลึกมากหรือน้อยมีผลแตกต่างกัน ยิ่งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ตื้นมากเท่าใด พลังที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะถ่ายทอดถึงสิ่งปลูกสร้างบริเวณผิวดินมากยิ่งขึ้นเท่านั้น นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมนักวิชาการบางรายถึงเชื่อว่านี่เป็นเหตุ
แผ่นดินไหวร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 70 ปีของเมียนมา เมื่อขนาดของแผ่นดินบวกรวมเข้ากับความตื้นของจุดเกิดเหตุนั่นเอง
ยูเอสจีเอสประเมินเอาไว้ว่า ที่ระดับความรุนแรงขนาดนี้ผสมกับความตื้นขนาดนี้ แถมยังเกิดใกล้กับบริเวณที่มีประชากรหนาแน่น เมื่อพลังมหาศาลถูกปลดปล่อยออกมา นอกจากจะทำให้สิ่งปลูกสร้างเสียหายอย่างหนักแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตมากถึงระหว่าง 10,000-100,000 คนเลยทีเดียว
อิทธิพลของแผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลไปถึงมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน รวมทั้งส่งอิทธิพลต่อไทย ทำให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จถล่มลงมาทั้งหลัง ทั้งที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวไม่น้อยกว่า 1,000 กิโลเมตร
โศกนาฏกรรมที่ไม่คาดฝันเช่นนี้เกิดขึ้นได้เสมอ และยังอาจเกิดขึ้นต่อไปได้อีกในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็คือ ศึกษาข้อเท็จจริงให้กระจ่างถ่องแท้ เพื่อสรุปเป็นบทเรียนไว้รับมือกับเหตุไม่คาดฝันครั้งต่อไปในอนาคตครับ
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์