ไทยประเทศที่ 68 ผ่านร่างกฎหมาย ‘ห้ามตีเด็ก’ ก้าวสำคัญของสังคม
ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศลำดับที่ 68 ของโลกที่ออกกฎหมายห้ามการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม เซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children Thailand) ระบุว่า โลกอาจยังต้องใช้เวลาอีกถึง 60 ปี หากต้องการบรรลุเป้าหมายระดับโลกในการยุติความรุนแรงต่อเด็กอย่างสมบูรณ์ในทุกประเทศ
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2568 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายไม่ตีเด็ก” ซึ่งห้ามมิให้มีการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในบ้าน โรงเรียน สถานสงเคราะห์ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน หรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
ในประเทศไทย เด็ก 3 ใน 4 คน ที่มีอายุระหว่าง 1-14 ปี เคยประสบกับการลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจโดยสมาชิกในครอบครัว ซึ่งยังคงเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยทั้งในบ้านและในโรงเรียน สะท้อนทัศนคติทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึก ซึ่งผู้ปกครองจำนวนมากยังมองว่ามีสิทธิลงโทษลูกได้ตามใจ
“พศวีร์” เด็กชายวัย 6 ขวบ จากโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในนนทบุรี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ผู้ใหญ่ตัวโตกว่าเด็ก ถ้าเขาตีเด็กก็จะเจ็บมากและจะเสียใจมาก” การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ของประเทศไทยนับเป็นก้าวสำคัญด้านสิทธิเด็ก และต่อเนื่องจากความคืบหน้าในประเทศทาจิกิสถานและลาวเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกในสหประชาชาติได้ตกลงร่วมกันในปี 2558 เพื่อให้การห้ามการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงเป็นหนึ่งในเป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
“กีโยม ราชู” ผู้อำนวยการบริหาร เซฟ เดอะ ชิลเดรน กล่าวว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งกับก้าวสำคัญของประเทศไทยในการออกกฎหมายห้ามการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เด็กได้รับความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่ยังเป็นการทำให้รู้สึกอับอาย และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจในระยะยาว เด็กหลายคนต้องแบกรับผลกระทบเหล่านี้ติดตัวไปจนโต และสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อพวกเขาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนออกไปถึงครอบครัวและชุมชนรอบตัวด้วย
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ครู ผู้ปกครอง ผู้ดูแล และผู้ใหญ่ทุกคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เพื่อให้สามารถใช้แนวทางการอบรมเชิงบวก และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาอย่างเหมาะสม