วิศวฯจุฬาฯ ผนึกกำลัง 15 องค์กรชั้นนำ ขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย พัฒนางานบำรุงรักษาและความปลอดภัย
กรุงเทพฯ – 27 มีนาคม 2568 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย 15 พันธมิตรภาคอุตสาหกรรมระดับแถวหน้าของประเทศ ประชุมเตรียมความพร้อมการจัดมหกรรมทางวิชาการและแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยและการบำรุงรักษาขั้นสูง หรือ SISTAM (Smart Industrial Safety & Technology for Advanced Maintenance) ประจำปี 2568 งานกำหนดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 25 – 26 กันยายน 2568 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ
ร่วมกับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย หรือ TIChE และบริษัทเอ็กซโปซิส (Exposis) งาน SISTAM 2025 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกลางในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีล้ำสมัย ดิจิทัล และโซลูชั่นต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในงานบำรุงรักษาเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทย ทั้งยังเป็นเวทีที่ผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้จัดจำหน่าย มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก องค์ความรู้ ผ่านกิจกรรมหลากหลายตลอด 2 วันของการจัดงาน อาทิ การประชุมเทคโนโลยี 3S – Smart, Safe & Sustainable Technologies toward Tomorrow ที่ครอบคลุมทุกหัวข้อที่สำคัญของเทคโนโลยีการบำรุงรักษาอัจฉริยะที่ปลอดภัยและยั่งยืน, โซนจัดแสดงเทคโนโลยี ที่จะนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัตโนมัติ (Automation) ซอฟต์แวร์ โซลูชัน ระบบและอุปกรณ์ด้านการบำรุงรักษาและความปลอดภัยต่าง ๆ, เวทีเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำเสนอแนวคิดใหม่ๆและเทคโนโลยีอัจฉริยะที่กำลังเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในอุตสาหกรรม ฯลฯ
รศ. ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะพันธมิตรองค์ความรู้และผู้ร่วมก่อตั้งงาน SISTAM กล่าวว่า ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการผลิตอัจฉริยะ ธุรกิจทั่วโลกกำลังปฏิวัติวิธีที่บริษัทต่างๆ ดำเนินการด้านการผลิต การจัดจำหน่าย และการบำรุงรักษา เทคโนโลยีขั้นสูงใหม่ๆ ช่วยปรับกระบวนการบำรุงรักษาไปเป็นดิจิทัล ทำให้การบำรุงรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจสามารถควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในกระบวนการผลิตได้ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาด เป็นผลให้ผู้ประกอบการมีหลากหลายทางเลือกในต้นทุนที่ไม่สูงเช่นอดีต การจัดงาน SISTAM 2025 ถือเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยยกระดับและเปิดมิติใหม่ในด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยและการบำรุงรักษาขั้นสูง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย
ต่อยอดจากความสำเร็จของการจัดงานครั้งก่อน ไฮไลท์สำคัญของงานในปีนี้คือ (1). งานประชุมสัมมนา “3S Smart, Safe & Sustainable Technologies Toward Tomorrow” ที่จะเพิ่มความเข้นข้นหัวข้อด้านเทรนด์และเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม มุ่งเน้นข้อมูลเชิงปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ นำไปประยุกต์ใช้ได้ พร้อมแบ่งปันกรณีศึกษา อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่ยั่งยืนกับการลด Carbon Footprint, OT (Operational Technology) Security หรือการนำ Security มาผนวกเข้ากับเทคโนโลยีด้านปฏิบัติการณ์ในอุตสาหกรรม, เทคโนโลยี 5G เซ็นเซอร์และ IoT กับโซลูชั่นทางธุรกิจ, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, ปัญญาประดิษฐ์, คลาวด์, ดาต้า, ฯลฯ (2). Digital Transformation Clinic ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและหน่วยงานชั้นนำภาคอุตสาหกรรมไทยมาให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อปรับเปลี่ยนจาก Industry 2.0 สู่ Industry 4.0 ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ การทำประเมิน ไปจนถึงโซลูชั่นที่เหมาะสม และโครงการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี (3). Safety Consultant Clinic ที่ผู้เชี่ยวชาญจะให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมความปลอดภัย
“ในนามของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในโอกาสครบรอบการสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ 111 ปี ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้ามามีบทบาทนำในการจัดงาน SISTAM 2025 ครั้งนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิชาการทั้งหมด ในฐานะพันธมิตรองค์ความรู้และประธานคณะกรรมการจัดงานในส่วนวิชาการ ผมขอขอบคุณเป็นอย่างสูงทั้ง 15 หน่วยงานที่ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ให้การสนับสนุนในการจัดงาน ให้คำแนะนำหัวข้อการประชุมที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็น 1) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม 3) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 4) สถาบันไทย-เยอรมัน 5) สภาอุตสาหกรรรมแห่งประเทศไทย 6) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 7) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 8) เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย 9) สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) 10) สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ 11) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย 12) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์ไทย 13) สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ 14) สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย และ 15) สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย” รศ. ดร.วิทยา กล่าว
SISTAM 2025 มหกรรมทางวิชาการและแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยและการ
บำรุงรักษาขั้นสูง กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 – 26 กันยายน 2568 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน SISTAM 2025 ได้ที่ www. https://sistam-asia.com/