เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) แถลงจัดงาน ’สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23‘ ภายใต้แนวคิด “ย ยักษ์ อ่านใหญ่” ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตรม. และใหญ่สุดในอาเซียน
โดย สำนักพิมพ์มติชน (บูธ J02) ร่วมสร้างสรรค์ของพรีเมียมสุดพิเศษในธีม “Read Friendly” ที่ออกแบบโดย “ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต” หรือ TUNA Dunn พร้อมด้วยโปรโมชั่นส่วนลดจัดเต็มตลอด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม – 7 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 21.00 น.
เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า นักอ่านหลากหลายช่วงวัยเดินทางหลั่งไหลมาเลือกซื้อหนังสือที่บูธสำนักพิมพ์มติชนอย่างไม่ขาดสาย พร้อมกับแลกของที่ระลึก อาทิ กระเป๋าผ้า กระเป๋าเป้ กระบอกน้ำ และหมวก ซึ่งออกแบบลวดลายสุดพิเศษโดย “TUNA Dunn” กันอย่างคึกคัก
รวมถึง น.ส.เมธินีย์ ชอุ่มผล นักวิชาการมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมเลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนหลากหลายเล่ม อาทิ ภารตะ-สยาม มูฯ ไทย ไสยฯ อินเดีย ผู้เขียน คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และบรรณาธิการโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, ประวัติจีนกรุงสยาม เล่มที่ 1-3 เขียนโดย เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร แปลโดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, กิตติพัฒน์ มณีใหญ่, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์, เปลี่ยนอีสานให้เป็น “ไทย”: อุดมการณ์รัฐชาติกับ สำนึกการเมืองของคนที่ราบสูง โดย ประวิทย์ สายสงวนวงศ์, การค้าทางเรือสำเภาจีน-สยาม ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ผู้เขียนโดย Jennifer Wayne Cushman และแปลโดย : ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ, จีนเทา จีนใหม่ไทยแลนด์ ผู้เขียนโดย ชาดา เตรียมวิทยา, ล้านนาสวามิภักดิ์ ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับล้านนา เขียนโดย โจวปี้เฝิง เป็นต้น
น.ส.เมธินีย์ กล่าวว่า มูลนิธิเล็ก-ประไพฯ ทำงานเกี่ยวกับวิชาการอยู่แล้ว เราก็จะเลือกซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด โดยนึกถึงนักวิชาการที่ทำงานกันเราเป็นอันดับแรกว่า เขาต้องการเอาความรู้ด้านไหนเอาไปใช้ เราก็จะไปหามา ส่วนความสำคัญต่อมาเราก็นึกถึงน้องๆ คนอื่นๆ ที่เข้ามาคุยงาน หรือมาพบปะพูดคุยกันเกี่ยวกับงานวิชาการ อาจจะได้มาใช้หนังสือในห้องสมุดของเราใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้ โดยอยากให้มีความหลากหลายทั้งวิจัย บทความ หรือวารสาร อยู่ในนั้นด้วย
“เราทำงานด้านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชุมชน มีทั้งงานโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ซึ่งเราก็ทำงานมูลนิธิเพื่อบริการสังคมในด้านวิชาการ และทำงานกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณด้วย เราก็พยายามจะหาหนังสือมาใช้ในการอ้างอิง เพราะอยากจะให้เน้นข้อมูลที่ถูกต้อง หรือ มีการอ้างอิง แล้วพอตอนลงพื้นที่จากมุมท้องถิ่นด้วย เราจะก็จะได้ข้อมูลที่มันสด จะได้เอามาคลุกเคล้าเรียบเรียงกันลงไปในวารสารเมืองโบราณ และผลิตคอนเทนต์ร่วมกับความรู้อื่นๆ” น.ส.เมธินีย์เผย
น.ส.เมธินีย์กล่าวอีกว่า มติชนก็เป็นเหมือนแหล่งผลิตหนังสือและข้อมูลที่เราหยิบมาใช้ได้ เพราะหนังสือเก่าเขาก็เอามาทำใหม่ มีต้นฉบับใหม่ ปกใหม่มาเรื่อยๆ และก็ยังมีหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคมด้วย มันก็เป็นข้อมูลอีกชุดที่เราสามารถเอามาทำบทความ เอามาทำคอนเทนต์ได้ ก็เรียกได้ว่า หนังสือจากมติชนมีประโยชน์กับเรา มันต้องเอาความรู้หลายมุมมาช่วยกัน
“วันนี้เลือกมาซื้อเซ็ตเล่มประวัติจีนกรุงสยาม เพราะเป็นมุมมองที่มีความรู้ที่เขาค้นคว้า เรียบเรียงมาแล้ว คนอ่านแบบเราก็จะได้เอาไปใช้เสริมความรู้ เช่น ถ้าเรามองไปเห็นตลาดที่เกิดขึ้น เราก็มักจะเห็นกลุ่มคนจีนอยู่ หนังสือมันก็อาจจะช่วยทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในนั้นได้” น.ส.เมธินีย์ระบุ
น.ส.เมธินีย์กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้เวลาอยากรู้เรื่องอะไร มักเสิร์ชหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตจากคำถามที่ตั้งไว้ แต่หนังสือมันต้องใช้เวลาในการค้นหาข้อมูลในเล่ม แล้วจะได้เห็นข้อมูลอื่นๆ ผ่านตาด้วย มันจะครอบคลุมข้อมูลจริงๆ ที่เราอยากรู้ คือ ถ้าคุณหาจากหนังสือ จะได้เห็น ได้เปิดอ่าน ได้ผ่านสายตา แต่ถ้าคุณเอาจากการเสิร์ชตามคำถามที่ตั้งอย่างเดียว ก็จะอาจะได้จากมุมเดียว