งานวันออทิสติกโลก ประตูสู่ความเข้าใจคนพิเศษ
GH News March 31, 2025 06:08 PM

ออทิสติกไม่ใช่โรค แต่เป็นลักษณะเฉพาะทางระบบประสาทที่ส่งผลต่อพฤติกรรม การสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม บุคคลออทิสติก (Autism Spectrum Disorder – ASD) มีความแตกต่างเฉพาะตัว บางคนอาจมีพรสวรรค์พิเศษ ขณะที่บางคนอาจต้องการการสนับสนุนหรือช่วยเหลือในการค้นหาความสามารถ สิ่งสำคัญคือ ทัศนคติของคนที่ไม่มองบุคคลออทิสติกแปลกแยกไปจากคนทั่วไป

องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้กำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day) เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะออทิสติก และสนับสนุนให้สังคมมีความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและศักยภาพของบุคคลออทิสติก

สำหรับประเทศที่มีการตระหนักและให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีภาวะออทิสติก ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) มูลนิธิออทิสติกไทย กรุงเทพมหานคร มิวเซียมสยาม อาร์ตสตอรี่ บาย ออทิสติกไทย และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยทรูปลูกปัญญ จึงได้ร่วมจัดงาน “วันรณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก” ประจำปี 2025 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 18

งานนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Au(tism) of Mind โลกของคนพิเศษ ถ่ายทอดมุมมองของบุคคลออทิสติกผ่าน 4 คาแรกเตอร์พิเศษ ได้แก่ น้องหวานใจ – จริงใจและอ่อนโยน , น้องจินจิน – มุ่งมั่นและจดจ่อ , น้องจิ๊ดริด – คิดสร้างสรรค์และไม่เหมือนใคร และ น้องฟาซอล – ไวต่อประสาทสัมผัส เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการยอมรับบุคคลออทิสติกในสังคม โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 เมษายน 2568 ณ มิวเซียมสยาม ตั้งแต่เวลา 16.00 – 21.00 น.

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวว่า ภาวะออทิสติก คือ บุคคลที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวัน หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องในการทำงานของสมอง ส่งผลให้มีความบกพร่องอย่างชัดเจนในเรื่องการสื่อสารทางสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในหลากหลายบริบท มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จํากัดซ้ำๆ ดังนั้นผู้ปกครองที่มีความสงสัยว่าบุตรหลายมีความเสี่ยงจึงควรมาพบแพทย์ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางในการรักษาให้หายขาด แต่สามารถรักษาตามอาการเพื่อให้เด็กที่มีภาวะนี่มีความนิ่งสงบ หรือการเข้าสังคมได้ง่าย

“ในสังคมยังมีการกล่าวถึงออทิสติกแท้และออทิสติกเทียม ซึ่งอาการออทิสติกไม่ได้มีการแบ่งว่าแท้หรือเทียม เพราะออทิสติกเทียมไม่ได้เกิดจากภาวะที่มาจากสมองหรือพันธุกรรม แต่มาจากการเลี้ยงดูที่อาจไม่เหมาะสม เช่น การให้ดูทีวีหรืออยู่กับโทรศัพท์มากเกินไป ส่งผลให้มีปัญหาด้านพัฒนาการหรือพฤติกรรม ดังนั้นคำว่าภาวะออทิสติกเทียมอาจจะเป็นคำที่ควรหลีกเลี่ยงใช้กับเด็กกลุ่มนี้ แต่ต้องนำมารักษาหรือส่งเสริมด้านพัฒนาการตามความเหมาะสม” นพ.ทวีศักดิ์ กล่าว

นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาวะออทิสติกยังคงเป็นภาวะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นราวๆ 1% ในเด็ดไทยประมาณกว่า 2.3 ล้านคน คาดว่าจะเป็นออทิสติกประมาณกว่า 23,000 คน ซึ่งแนวทางการดูแลรักษาหัวใจสำคัญคือ ดูแลด้วยความรัก พัฒนาด้วยความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสริมศักยภาพครอบครัว การส่งเสริมความสามารถ และการบำบัดรักษา เป็นต้น

ชูศักดิ์ จันทยานนท์

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และประธานมูลนิธิออทิสติกไทย กล่าวว่า ประเทศไทยก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด และให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนการเรียนรู้ เช่น ศูนย์เรียนรู้ดิจิทัล Autism Digital Learning Center และแพลตฟอร์ม Screening Tool for Person with Special Needs, การส่งเสริมการจ้างงานและสร้างอาชีพ ให้บุคคลออทิสติกได้มีรายได้และความมั่นคงในชีวิต และ การสร้างความเข้าใจและยอมรับจากสังคม ผ่านกิจกรรมประชาสัมพันธ์และการแสดงผลงานของบุคคลออทิสติกในหลากหลายด้าน เพราะชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน บุคคลออทิสติกจะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริง”

กาญจนา ภูพิพัฒน์ผล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงบุคคลออทิสติก ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความเข้าใจและยอมรับความหลากหลาย สนับสนุนบุคคลออทิสติกและคนพิการทุกประเภท ผ่านการจ้างงาน การจัดการศึกษา การฝึกอาชีพ และสวัสดิการต่างๆ สำหรับคนพิการกว่า 150,000 คนในกรุงเทพฯ ซึ่งงานในครี้งนี้ทุกคนจะได้เปิดใจ เรียนรู้ และเป็นกำลังใจให้กับบุคคลออทิสติกไปด้วยกัน

อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ เยาวชนบุคคลออทิสติกต้นแบบประจำปี 2567

อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ เยาวชนบุคคลออทิสติกต้นแบบประจำปี 2567 และเจ้าของแบรนด์ Alex กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลเยาวชนบุคคลออทิสติกต้นแบบเพราะอยากให้สังคมเข้าใจว่าบุคคลออทิสติกสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ซึ่งครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและช่วยสอนการเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือการไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆของผม ที่สำคัญคือ อยากให้คนในครอบครัวต้องยอมรับว่าบุคคลออทิสติกเป็น ของขวัญชิ้นพิเศษ ที่อาจต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่าเด็กทั่วไป เพื่อช่วยให้พวกเขาค้นพบความสามารถหรือพรสวรรค์ของตัวเอง

ตัวอักษรที่อเล็กออกแบบเอง ได้นำมาทำเป็นลายบนเสื้อ

“ปัจจุบันผมกำลังศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาครีเอทีฟกราฟิก ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพราะเป็นสิ่งที่ผมรักและสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ อย่าง Alex คือแบรนด์ที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของผม โดยได้ออกแบบภาพวาดหลายๆแนว เช่น ตัวอักษรเฉพาะของตัวเอง ซึ่งเป็นเหมือนภาษาที่เกิดจากจินตนาการ ทำให้แบรนด์อื่นๆ มาร่วมคอลแลปส์ด้วยจึงอยากให้ทุกคนที่มีความฝันได้ลงมือทำอย่างเต็มที่ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และหวังว่าผลงานของผมจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นได้” อเล็ก กล่าว

โสภี ฉวีวรรณ แม่ของอเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ เล่าว่า ตนมีลูก 3 คน แม้ว่าคนหนึ่งจะมีภาวะออทิสติก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการเลี้ยงดูให้เหมือนเด็กทั่วไปมากที่สุด ให้ทำกิจกรรมเหมือนกัน เพื่อให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและสังคม แต่อาจต้องดูแลเป็นพิเศษโดยไม่ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นภาระ ซึ่งอเล็กเป็นเด็กที่พูดเร็วและอาจมีการสลับคำเวลาพูด ส่วนในโรงเรียนเด็กๆ อาจยังไม่เข้าใจภาวะออทิสติกนัก ทำให้ช่วงประถมเขาเคยถูกแกล้งบ้าง แต่เมื่อได้ฟังเหตุผลของลูกที่ไม่ตอบโต้ เพราะอยากให้ปัญหาจบลง ก็ทำให้เข้าใจมุมมองของเขามากขึ้น หรือเวลาทำงานกลุ่ม อาจมีบางครั้งที่ไม่มีใครอยากอยู่ด้วย แต่น้องสาวก็ช่วยสนับสนุนและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อเล็กสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้

ผลงานจากเยาวชนออทิสติก

“อเล็กมีพรสวรรค์ด้านการวาดภาพและสร้างสรรค์งานจากจินตนาการ เราจึงเลือกสนับสนุนสิ่งที่เขาชอบและช่วยต่อยอดให้เห็นว่าสามารถพัฒนาเป็นอาชีพได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ครอบครัวต้องยอมรับ อย่ามองว่านี่คือเวรกรรม เราอาจรู้สึกเศร้าได้ แต่ต้องสู้และช่วยพัฒนาเขาให้ค้นพบสิ่งที่ชอบ พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้เขาเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข”  โสภี ทิ้งท้าย

ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น Shop & Booth from Partnership จำหน่ายผลิตภัณฑ์ฝีมือบุคคลออทิสติก บูธให้ความรู้และเทคโนโลยีสนับสนุน รวมถึง Talk Session โดยผู้เชี่ยวชาญและบุคคลออทิสติก เช่น Work with Autism โดย หมอเน๋ง ศรัณย์ และ พี่แจ็ค ผู้ช่วยผู้กำกับออทิสติก Autism Love & Learn ที่สะท้อนการเติบโตไปด้วยกันของครอบครัวออทิสติก

นอกจากนี้ ทรูร่วมกับมูลนิธิฯ และโรงแรมสยามเคมปินสกี้ นำ Autism Digital Learning Center มาให้ผู้เข้าร่วมงานสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ พร้อมเปิดตัวระบบคัดกรอง STS สำหรับผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ ยังมีบาริสต้าออทิสติกจากทรูคอฟฟี่มาสร้างแรงบันดาลใจ และการร่วมงานของ หมอเน๋ง ศรัณย์ จาก Good Doctor หมอใจพิเศษ ประชาชนทั่วประเทศสามารถรับชมถ่ายทอดสดตลอด 2 วัน ผ่าน Facebook Live ของทรูปลูกปัญญา มูลนิธิออทิสติกไทย และสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึมไทย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.