ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความยั่งยืนกลายเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ไม่เพียงเพื่อเศรษฐกิจที่เติบโต แต่ยังรวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนและสมดุลของสิ่งแวดล้อม การยกระดับชีวิตอย่างยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่การปรับปรุงวิถีชีวิตในปัจจุบัน แต่คือการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับอนาคต ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเซ็นทรัล จึงได้มุ่งมั่นสร้างความก้าวหน้าควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน ผ่านการทำงานร่วมกับ ชุมชน คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสีย โดยใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญของกลุ่มบริษัท ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจเชิงคุณภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม ภายใต้แนวคิด Creating Shared Values (CSVs) หรือการสร้างคุณค่าร่วม ที่ช่วยให้ทุกฝ่ายเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
จึงเป็นที่มาของโครงการ “เซ็นทรัล ทำ – ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” ที่กลายมาเป็นกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ด้วยแนวคิดที่มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ยึดหลัก 6 แนวทาง ได้แก่ Community พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน, Inclusion การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม, Talent พัฒนาศักยภาพที่เป็นเลิศของบุคลากร, Circularity ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน, Climate การฟื้นฟูสภาพอากาศ และ Nature การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งโครงการและกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ
สำหรับโครงการเซ็นทรัลทำ ที่ดำเนินการมากว่า 8 ปี ครอบคลุมกว่า 40 จังหวัด โดยใน 2567 ที่ผ่านมา ได้สร้างงานและสนับสนุนอาชีพให้แก่คนพิการกว่า 1,100 คน สร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 1,700 ล้านบาท ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนมากกว่า 150,000 ราย สนับสนุนและพัฒนาโรงเรียน 192 แห่ง เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่ากว่า 19,385 ไร่ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารกว่า 19,254 ตัน ลดปริมาณขยะที่เข้าสู่หลุมฝังกลบกว่า 43,663 ตัน ติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 1,430 สถานที่ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา 215 แห่ง และผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากถึง 207,176 เมกะวัตต์-ชั่วโมง
พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ตลอดเวลากว่า 8 ปี ของการดำเนินโครงการในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยเป้าหมายหลักคือการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ให้ทุกคนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน โดยยังรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ ผ่านการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว และมีการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยในปีนี้มี 4 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ น่าน เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และชัยภูมิ
ในพื้นที่ จังหวัดน่าน ในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย ได้มีการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และพัฒนาผลผลิตเพื่อจดทะเบียน GI เช่น ฟักทองไข่เน่า โกโก้ และมะม่วงหิมพานต์ โดยมีการแปรรูปและจำหน่ายผ่านงาน จริงใจ มาหา…นคร 2024 และร้านค้าชุมชน รวมถึงเครือเซ็นทรัล เช่น ท็อปส์ ในปี 2567 สร้างรายได้ 10 ล้านบาท ให้ 179 ครัวเรือน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนักท่องเที่ยวกว่า 7,000 คน มีการสร้างฝาย แหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำให้ 50 ครัวเรือน ลดภัยแล้งและฟื้นฟูป่า 2,800 ไร่ และพัฒนาโรงเรียนชุมชนบ้านอ้อย สนับสนุนห้องเรียน ICAP ทักษะ EF, STEM ห้องสมุด ห้องทักษะอาชีพ และกีฬาปันจักสีลัต ดูแลนักเรียน 586 คน ครู 60 คน พร้อมสนับสนุนอาชีพคนพิการขยายเครือข่าย 50 คน พัฒนาผลิตภัณฑ์ Good Goods และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้อาชีพระดับภูมิภาค
ส่วน จังหวัดเชียงใหม่ ในชุมชนแม่ทา อ.แม่ออน พัฒนาเป็นพื้นที่วิถียั่งยืนแม่ทา สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ สร้างแบรนด์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และขยายช่องทางจำหน่าย สร้างรายได้ 14 ล้านบาท ให้ 130 ครัวเรือน ปัจจุบันพัฒนาโฮมสเตย์และเตรียมเป็นศูนย์ท่องเที่ยวสุขภาพแบบองค์รวม มีผู้เข้าอบรมและดูงานกว่า 800 คน ด้านสิ่งแวดล้อม มีการจัดการขยะในตลาดจริงใจ แปรรูปขยะอินทรีย์ 7.52 ตัน เป็นปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ รีไซเคิลวัสดุ 8.74 ตัน เตรียมเปิดศูนย์เรียนรู้ด้านขยะ และขยายโครงการกาแฟสร้างป่า ที่แม่แจ่ม ครอบคลุม 1,570 ไร่
รวมถึงโครงการ Zero Burning Initiatives ลดการเผาเศษวัสดุการเกษตร ฟื้นฟูพื้นที่ 10,000 ไร่ ด้านการศึกษาได้พัฒนาโรงเรียนวัดดอนชัย ปรับปรุงอาคาร ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องสมุด และฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตั้งเป้าเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ในปี 2568 สนับสนุนอาชีพคนพิการ 22 ราย ผ่านโครงการเกษตรอินทรีย์ ทอผ้าซาโอริ และจ้างงานในร้าน Good Goods ภายในตลาดจริงใจ
ใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง ผลิตเมล่อนแบรนด์ Smile Melon ได้สร้างโรงเรือน 5 หลัง ซึ่งผลผลิตที่ได้ภายใน 6 เดือน สามารถสร้างรายได้กว่า 4 ล้านบาท และส่งออกไปสิงคโปร์ในปีนี้ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมากถึง 7,000 ลูก ซึ่งสร้างมูลค่าได้มาก พร้อมสนับสนุนโรงคัดบรรจุมาตรฐาน GMP และโรงเรือนเพิ่ม 7 แห่ง พร้อมออกแบบแพ็คเกจและป้ายจำหน่ายที่ท็อปส์ นอกจากนี้ฟาร์มเมล่อนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว มีผู้เยี่ยมชมกว่า 3,200 คนต่อปี สร้างรายได้ให้ชุมชน 17 ล้านบาท
ทั้งนี้มีแผนขยายเครือข่ายไปจังหวัดอื่น การดูแลสิ่งแวดล้อม มีการนำเมล่อนเสียมาเลี้ยงไก่ ขยายโครงการไปยังชุมชนและโรงเรียน พร้อมจัดการขยะในศูนย์การค้าเซ็นทรัล อยุธยา พัฒนาโรงเรียนวัดหนองไม้ซุง สนับสนุนฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กีฬาเทเบิลเทนนิส และขยายเครือข่ายส่งเสริมอาชีพให้คนพิการ ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสินค้าแฮนด์เมดของผู้ปกครองคนพิการสติปัญญา สร้างรายได้ 2 ล้านบาท พร้อมขยายเครือข่ายในปี 2568
สำหรับ จังหวัดชัยภูมิ ในวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจบ้านเทพพนา อ.เทพสถิต หนึ่งใน 7 ผู้ปลูกอะโวคาโดพันธุ์แฮสส์ของไทย มีเกษตรกรที่ปลูกด้วยเกษตรปลอดสาร จึงได้ส่งเสริมการทำเกษตรอัจฉริยะ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ธนาคารน้ำใต้ดิน และใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ พร้อมเพาะเห็ดเรืองแสงแก้ปัญหาโรคพืช สร้างรายได้ 40 ล้านบาท และขยายเครือข่ายผู้ปลูก 1,000 ราย นอกจากนี้ยังพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างศูนย์เรียนรู้รองรับนักท่องเที่ยว 14,000 คน พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ 5,000 ไร่
นอกจากนี้ยังมีการแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ อย่าง อะโวคาโด แมคคาเดเมีย ทุเรียน และกาแฟโรบัสต้า พัฒนาโรงผลิตถ่านไบโอชาร์และปุ๋ยหมัก ลด PM2.5 และเป็นต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และได้พัฒนาโรงเรียนบ้านไร่พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมต้น พร้อมส่งเสริมการปลูกอะโวคาโด จ้างงานคนพิการ และยกระดับการเรียนรู้โรงเรียนในเครือข่าย 10 แห่ง เน้นพัฒนาครูด้านภาษาอังกฤษ STEM และคุณธรรม
“จากการดำเนินการในพื้นที่แต่ละจังหวัดจะมีการลงพื้นที่เพื่อให้เข้าใจความต้องการของเกษตรกร และหาจุดเด่นของพืชที่สามารถปลูกได้ ดังนั้นการส่งเสริมเกษตรกรในแต่ละจังหวัดจึงมีความแตกต่างกัน พร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตช่องทางการขายในตลาด รวมถึงการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะสร้างการรับรู้และความใกล้ชิดระหว่างชาวบ้านและนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ในชุมชน รวมถึงการทำศูนย์เรียนรู้ที่เข้มแข็ง ดังนั้นแนวทางของเซ็นทรัล ทำ คือ การลงมือทำร่วมกันด้วยใจ คือรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ไม่เพียงแต่สร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่ยังร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนการเกษตรยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนได้พัฒนาทักษะ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาว ” พิชัย ทิ้งท้าย.