สั่งจำคุก“สิระ”ตัดสิทธิ์20ปี
GH News April 01, 2025 01:05 AM

ศาลอาญาสั่งจำคุก “สิระ เจนจาคะ” อดีตสส.กทม. 1 ปี ไม่รอลงอาญา พร้อมตัดสิทธิ์ลงเลือกตั้ง 20 ปี เหตุขาดคุณสมบัติลงสมัครเลือก ส.ส.ปี 62 “ดุสิตโพล” กางดัชนีการเมือง “แพทองธาร”เรตติ้งร่วง “เท้ง” ขยับแซง 10 % หลังศึกซักฟอก

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 31 มี.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ห้องพิจารณาคดี 903 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำอ.3200/2566 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายสิระ เจนจาคะ อดีต สส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นจำเลยฐานกระทำผิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 4,42(12),151และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลย 20 ปี

อัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2562 จำเลยได้บังอาจลงลายมือชื่อสมัครรับเลือกตั้ง สส.เขต 9 กทม.โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็น สส. อันเป็นลักษณะต้องห้าม เนื่องจากจำเลยเคยต้องโทษคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ให้จำคุก 4 เดือนฐานฉ้อโกง อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามคดีอาญาหมายเลขดำอ. 812/2538 ลงวันที่ 21 พ.ย.2538

ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศให้ผู้สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 4 - 8 ก.พ. 2562 ที่อาคารกีฬาเวศน์ 2 จำเลยได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 9 พรรคพลังประชารัฐต่อมาจำเลยได้รับเลือกตั้งต่อมาวันที่ 17 ธ.ค.2563 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกสภาพของจำเลยนั้นสิ้นสุดลงหรือไม่เนื่องจากปรากฏว่าจำเลยมีคุณสมบัติขาดคุณสมบัติรองรับสมัครการเลือกตั้งเนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวันในคดีทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์เป็นเวลา 4 เดือนต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกสภาพของจำเลยได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 62 การกระทำของจำเลยเป็นการเป็นการฝ่าฝืนการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำการไต่สวนโดยให้เพิกถอนจำเลยและดำเนินคดีอาญากับจำเลยเนื่องจากเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติลงรับสมัครการเลือกตั้ง

เห็นว่าคำเบิกความของพยานโจทก์พบว่าจำเลย เคยต้องโทษคำพิพากษาถึงที่สุด ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย ต่อศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งมีพ.ต.อ.เขมรินทร์ พิศมัย เป็นผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน ในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์จำนวน 200,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เป็นความผิด 2 กระทง จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 8 เดือน แต่คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกนายสิระ จำเลย 4 เดือน ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าจำเลยต้องโทษคำพิพากษาคดีถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน จำเลยจึงเป็นบุคคลต้องห้ามไม่มีสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้ง สส. มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอีกว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติในการลงสมัครเลือกตั้ง สส.แต่ยังลงรับสมัครเลือกตั้งหรือไม่  เห็นว่าจะพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักและน่าเชื่อถือเพียงพอส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้เชื่อว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติลงสมัครเลือกตั้ง สส.ซึ่งจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริง จึง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ 2561 มาตรา 42 (12),151 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และให้เพิกถอนสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้ง 20 ปี นับตั้งแต่วันมีคำพิพากษา ทั้งนี้ ภายหลังทนายความของนายสิระ ได้ยื่นหลักทรัพย์ต่อศาลเพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์สู้คดี

วันเดียวกัน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมีนาคม 2568" กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,141 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 24-28 มีนาคม 2568 โดยมีตัวชี้วัด 25 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยในด้านต่าง ๆ ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน สรุปผลเรียงลำดับจากค่าคะแนนสูงสุดไปถึงต่ำสุด ได้ดังนี้

1. "ดัชนีการเมืองไทย" เดือนมีนาคม 2568 ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 4.95 คะแนน (เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ได้ 5.02 คะแนน)

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า คะแนนดัชนีการเมืองไทยเดือนมีนาคมลดลงต่ำกว่า 5 คะแนนอีกครั้ง หลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เห็นชัดจากคะแนนผลงานฝ่ายค้านที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับคะแนนผลงานรัฐบาลที่ลดลงไปอยู่อันดับที่ 11 และผลงานนายกรัฐมนตรีไปอยู่อันดับที่ 14 แม้มีผลงานคืบหน้าแจกเงินหมื่นกลุ่มวัยรุ่นแต่ก็ยังไม่เพียงพอให้ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่นจากการตอบคำถามในสภา แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นการพัฒนาด้านการเมืองที่ชัดเจนขึ้นของตัวนายกรัฐมนตรี

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ยอดชาย ชุติกาโม อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ดัชนีการเมืองไทยเดือนมีนาคม 2568 ลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นทางการเมืองของคนไทยที่ลดลง ทั้งนี้ในบรรดาตัวชี้วัดทั้ง 25 ตัว มีเพียง 6 ตัวชี้วัด ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาทิ ผลงานของฝ่ายค้าน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ การประพฤติตนและพฤติกรรมของนักการเมือง การแก้ปัญหาการว่างงาน ผู้มีอิทธิพลและยาเสพติด แต่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญคือ เรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ความโปร่งใส โดยได้ 4.70 คะแนน เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ได้เพียง 4.61 คะแนน ขณะที่ผลงานของนายกรัฐมนตรีนั้น ได้คะแนนลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้าน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ มีคะแนนความนิยมเหนือนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร กว่า 10%

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะต้องไม่ลืมว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ผลโพลชี้ว่าการแก้ปัญหาความยากจนและราคาสินค้าได้รับคะแนนลดลงมากที่สุดซึ่งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีควรให้ความใส่ใจมากกว่าการรับฟังข้อมูลจากผู้ใต้บังคับบัญชา โดยปราศจากความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.