คณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม ร่วมสังเกตการณ์ ตรวจสอบคุณภาพเหล็กที่เก็บมาจากอาคารถล่ม ใช้ตัวอย่าง 28 เส้น 7 ประเภท บางเส้นมีสนิม
จากกรณีที่ นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) นำเจ้าหน้าที่สภาวิศวกรรมและ เจ้าหน้าที่ มอก. ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุอาคารกำลังก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เกิดถล่ม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ซึ่ง นายเอกนัฎ พร้อมเจ้าหน้าที่มาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ สมอ. เข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็ก ในอาคารที่ถล่ม ก่อนออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า “แค่เห็นผมก็อึ้งแล้วครับ”
ล่าสุดเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 มี.ค.68 ที่ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ พร้อมด้วย นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, นายณัฐพล สุทธิธรรม กรรมการกลางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และตัวแทนศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ สวทช. เป็นตัวกลางและเป็นพยานในการทดสอบครั้งนี้ด้วย นำตัวอย่างเหล็กที่เก็บจากจุดเกิดเหตุมาตรวจสอบ ซึ่งการทดสอบครั้งนี้จะมีทั้งการทดสอบแบบตรวจค่าทางเคมี และค่าทางกล ซึ่งเหล็กชิ้นเล็ก จะนำไปตีให้แบนก่อน แล้วค่อยเอาไปตรวจแบบยิงค่าทางเคมี
โดยก่อนการทดสอบมี นายปรเมศวร์ ปาสิงห์ นักวิชาการมาตรฐานสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ซึ่งเป็นคนที่เข้าไปเก็บตัวอย่าง และลงลายเซ็นไว้รับรองไว้ทุกเส้น ได้อธิบายขนาดเหล็กเส้นที่ได้ไปเก็บตัวอย่างมาทดสอบ พบว่าทั้งหมดจำนวน 28 เส้น 7 ประเภท ซึ่งมาจาก 3 บริษัท (มีทั้ง บ.สัญชาติจีน, บ.ร่วมทุนไทย-จีน และ บ.สัญชาติอินเดีย) ประกอบด้วย
-เหล็กเส้นกลม 9 มิลลิเมตร จำนวน 2 เส้น
-เหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร 3 เส้น
-เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร 3 เส้น
-เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร 6 เส้น
-เหล็กข้ออ้อย 25 มิลลิเมตร 2 เส้น
-เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร 7 เส้น (จาก 3 บริษัท)
-ลวดสลิง 15.2 มิลลิเมตร 5 เส้น
ทั้งนี้ จากการสังเกตพบว่าเหล็กเส้นบางเส้น ที่นำมาทดสอบ บางเส้นตรง, บางเส้นโก่งงอ และบางเส้นมีลักษณะคล้ายสนิมขึ้น
จากนั้นได้เริ่มนำเหล็กเส้น คือ เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร ไปตัดชิ้นส่วนที่ห้องตัดเหล็กสำหรับไซต์ 16 มิลลิเมตรขึ้นไป พอตัดเสร็จ นำชิ้นส่วนเหล็กดังกล่าวเข้าทดสอบในห้องแล็บ เพื่อตรวจส่วนประกอบทางเคมีของเหล็กว่ามีส่วนประกอบของธาตุใดบ้าง และมีค่าทางเคมีปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งผลจะแสดงบนหน้าจอทันทีไม่ว่าจะเป็นค่า คาร์บอนฯ, โบรอน และซิลิคอน ซึ่งทั้ง 3 ค่านี้เป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อตัดตัวอย่างเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้นำชิ้นส่วนเหล็กเข้าเครื่องโดยใช้รังสียิงเข้าไปและสะท้อนออกมาเพื่อดูองค์ประกอบทางเคมีและธาตุซึ่งใช้เวลา 3-5 นาที เบื้องต้น ผลทางเคมีของเหล็กขนาด 16 มิลลิเมตร ปรากฏว่าพบ โบรอน 0.00047%, คาร์บอน 0.2255 % และซิลิคอน 0.065%
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะนำเหล็กเส้นมาวัดขนาดความยาว และชั่งน้ำหนัก ก่อนจะนำมาคำนวณค่ามวลต่อเมตรว่า เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือไม่
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทยอยนำเหล็กทุกขนาดไปตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร, ขนาด 25 มิลลิเมตร และขนาด 32 ตามลำดับ ซึ่งเหล็กที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ในครั้งนี้คือลวดสลิงเนื่องจากว่าเส้นเหล็กฉีกขาดหากค่าอาจ error ได้ โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ก่อนจะมาแถลงผลต่อสื่อมวลชน