วุฒิสภา รับหลักการ ร่างกม.เหล้า-เบียร์ ส.ว.พรชัย แนะเลิก ม.32 สุราชุมชน ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์
GH News April 01, 2025 10:41 AM

“วุฒิสภา” รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นด้วยปลดล็อกโฆษณา“เทวฤทธิ์” ชี้ ต้องทำให้รายย่อยมีโอกาสแข่งกับรายใหญ่ ขณะที่”สว.พรชัย” ให้ยกเลิก ม.32 ส่งเสริมสุราชุมชนให้เป็นที่รู้จัก สามารถประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ด้าน ”นันทนา” เแนะ นำ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ทำสาเกแข่งญี่ปุ่น ทำแชมเปญแข่งฝรั่งเศส

เมื่อเวลา 16.40 น. วันที่ 31 มีนาคม ที่รัฐสภาในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่.. พ.ศ….ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ที่สามารถโฆษกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า-เบียร์ได้ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.) จำนวน 3 คณะเป็นผู้พิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของสมาชิก คือ1. กมธ.การท่องเที่ยวและการกีฬา 2. กมธ.การพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลาย ทางสังคม และ 3.กมธ.การสาธารณสุข

นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ส.ว.อภิปรายว่า ในส่วนของการโฆษณา บางเรื่องเราอาจจะเห็นว่าการโฆษณาแนบเนียน ซึ่งคนที่สามารถทำได้ก็คือผู้ค้ารายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาแฝง หรือเอาสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาแต่รายย่อยทำไม่ได้ ดังนั้นการจำกัดกำแพงที่สูงขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ขาที่จะก้าวข้ามกำแพงไปสู่ผู้บริโภคไม่เท่ากันแน่นอน และต้องเท่าทันสื่อ ซึ่งทำได้โดยไม่อาจเซ็นเซอร์หรือปิดหูปิดตาด้วยการควบคุมกำกับแต่การให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเปิดเผยโปร่งใสจะสร้างความตระหนักรู้ให้เท่าทันโฆษณาหรือการรณรงค์ต่างๆ การปล่อยให้เสรีและเป็นธรรม จะทำให้ประชาชนตระหนักรู้ การที่ตั้งกำแพงสูงเกินไปนอกจากจะทำให้ประชาชนไม่รู้ข้อมูลแล้ว อาจจะเป็นการทำลายเป้าหมายของตัวเองด้วยการเซ็นเซอร์ ดังนั้นต้องทำอย่างเสมอภาคทั้งฝ่ายทุนใหญ่และทุนเล็ก ไม่ใช่ปล่อยให้ทุนใหญ่สามารถทุ่มการรณรงค์โฆษณาได้อย่างเต็มที่ โดยที่ฝ่ายทุนเล็กไม่สามารถแข่งได้

ด้าน นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ ส.ว.อภิปรายว่า ยังไม่เห็นภาพการบังคับใช้กฎหมายจะมีกลไกการตรวจสอบอย่างไร จะให้ตำรวจสุ่มตรวจผู้ที่ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ หรือจะให้เกิดเหตุก่อน เช่น เมาแล้วขับ เมาแล้วอาวะวาดก่อน หรือเจอผู้เยาว์เมาก่อน ถึงจะไปเอาผิดกับผู้จำหน่ายหรือไม่นั้น จำเป็นจะต้องกำหนดกลไกการบังคับใช้กฎหมายก่อนหรือไม่ ทุกที่ที่จำหน่ายเหล้าควรมีการติดตั้งวงจรปิดไว้หรือไม่ เพราะถ้าไม่ชัดเจนอาจมีเอื้อให้เกิดการเรียกสินบนจากร้านค้า ร้านอาหาร ผับ บาร์ ต่างๆ โดยผู้บังคับใช้กฎหมายมากขึ้นหรือไม่ เรารู้กันอยู่แล้วว่าธุรกิจกลางคืนการส่งสวยให้ตำรวจเป็นเรื่องธรรมดาอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานจึงกลัวว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้เกิดปัญหาส่วยตำรวจนี้ รุนแรงยิ่งขึ้น

นายพรชัย กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกำหนดการโฆษณาใหม่จะยุติธรรมสำหรับกลุ่มสุราชุมชนหรือไม่ เพราะไม่มีมาตรการใดที่จะช่วยสนับสนุนให้สุราชุมชนสามารถโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เป็นที่รู้จักของประชาชนและลืมตาอ้าปากได้เลยจึงอยากถามว่าแล้วผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เป็นที่รู้จักมาก่อนจะประชาสัมพันธ์ตนเองจนเป็นที่รู้จักได้อย่างไร ดังนั้นตนขอเสนอว่า ให้ยกเลิกมาตรา 32 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อมเฉพาะสำหรับสุราชุมชน เพื่อเป็นการปลดล็อคและสามารถประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ให้ผู้ผลิตสุราชุมชนสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าและพูดถึงผลิตภัณฑ์ของตัวเอง สัญลักษณ์ ส่วนประกอบวิธีการจัดการการผลิต แหล่งที่มาหรือลักษณะของผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมสุราชุมชนของไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยได้ด้วย

ขณะที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว.อภิปรายว่า คิดว่ากฎหมายฉบับนี้เปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างในประเทศไทย โดยเฉพาะวิธีคิดของคนไทยเกี่ยวกับความสมดุลทางสังคม ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยแทบจะเป็นการผูกขาดของผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่ราย เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายใหม่ยากมากด้วยการห้ามโฆษณาอย่างเข้มงวด แบรนด์ที่คนรู้จักอยู่แล้วหากินได้สบาย ตลาดขยายตัว แต่รายใหม่แจ้งเกิดไม่ได้ ถึงจะคุณภาพดีอย่างไรแต่โฆษณาไม่ได้ก็ไม่ได้เกิด รวมทั้งข้อกำหนดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในประเทศไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ระบบภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยทำให้ชาวตะวันตกตกใจกันมากไม่ว่าจะเป็นไวน์ วิสกี้ หรือเบียร์ยี่ห้อที่ขายอยู่ในประเทศไทยราคาสูงกว่าที่ขายอยู่ในยุโรป 2-3 เท่า ทั้งหมดนี้อาจจะส่งผลดีในแง่ดีสาธารณสุขหรือปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนน แต่มีผลลบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก

“อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่ารวม 3 แสนล้านบาท ประมาณ 1.6% ของจีดีพีในประเทศไทย แล้ววันนี้ประเทศไทยมีผู้ผลิตกี่ราย ถ้าที่ร้อยเอ็ด ภูเก็ต เชียงราย มีคนอยากจะทำบ้างจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เราเป็นประเทศที่เคร่งศีลธรรมกัน แต่ของแบรนด์รวยกันสุดๆ อย่างนี้เรากำลังปกป้องผลประโยชน์ใครอยู่ คงไม่ต้องพูดถึงโอกาสการส่งออกของประเทศแต่โอกาสที่ประเทศไทยจะใช้ภูมิปัญญาหรือนวัตกรรมไปหารายได้จากต่างประเทศ โอกาสที่จะเอาวัตถุดิบทางการเกษตรเข้ามาสร้างอุตสาหกรรมแล้วนำรายได้เข้าประเทศ ลองคิดดูเราเป็นประเทศที่มีผลผลิตข้าวมากมายล้นตลาด จนกระทรวงพาณิชย์ปวดหัวอย่างมากในการหาตลาดระบายข้าว ทำไมเราไม่เอาข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้มาทำเอาสาเกแข่งกับญี่ปุ่นดูบ้าง ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะผ่อนปรนเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความหมายเป็นอย่างมาก น่าจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากในเวลาที่สถานการณ์เศรษฐกิจกำลังวิกฤตอยู่ในขณะนี้ ถ้าสาเกหรือสาโทของไทยโด่งดังไประดับโลกแบบญี่ปุ่น หรือแชมเปญของฝรั่งเศส ชื่อเสียงเศรษฐกิจของประเทศไทยจะรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาลขนาดไหน จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะให้คนไทยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเข้าไปเปิดตลาดกับชาวโลกบ้าง” น.ส.นันทนา กล่าว

น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า ตนมีข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ 3 ประการคือ 1. ให้น้ำหนักมิติด้านสาธารณสุขมากเกินไปหรือไม่ มาตรา 10 คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติก็ให้รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน รองประธานก็เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เรื่องนี้มีมิติที่หลากหลายทั้งเศรษฐกิจและสังค การหารายได้เข้าประเทศ หรือแม้แต่ที่รัฐบาลเรียกว่าซอฟพาวเวอร์ 2.บทลงโทษ สำหรับความผิดภายใต้กฎหมายฉบับนี้มาตรา 37 ที่มีการปรับหลักแสนบาทและอาจสูงถึง 5 แสนบาท รวมทั้งมีโทษจำคุก ถือว่าหนักมากทำอย่างกับว่าแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มร้ายแรงเหมือน ฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า ซึ่งเทียบกันไม่ได้ และ 3. มาตรา 31 มีอำนาจหน้าที่กับเจ้าหน้าที่กว้างขวางมาก สามารถเข้าไปในพื้นที่ในเวลาใดก็ได้ เรียกขอดูเอกสาร ตรวจสอบพยานหลักฐานที่จะใช้ในการดำเนินคดี ยึดอายัดเครื่องดื่มใดๆ แม้กระทั่งปิดร้านได้เลย เขียนแบบนี้ทำราวกับว่าไวน์ เบียร์ รุนแรงเท่ากับยาเสพติด ที่สำคัญกำลังตีเช็คเปล่าให้กับเจ้าหน้าที่ ในที่สุดก็จะกลายเป็นแหล่งทำมาหากินของคนมีสี หากมีความไม่ถูกต้องก็ควรดำเนินการตามกฎหมายปกติ ประเด็นเหล่านี้ตนไม่เห็นด้วยจึงขอไปแปรญัตติในชั้นคณะกรรมาธิการต่อไป

หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมทลงมติรับหลัการวาระที่ 1 เห็นด้วย 139 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้พิจารณา และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 27 คน แปรญัตติภายใน 7 วัน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.