ประชุมผู้นำBIMSTEC สะท้อนความสำคัญเพื่อนบ้าน ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง
GH News April 01, 2025 11:02 AM

ประชุมผู้นำBIMSTEC สะท้อนความสำคัญเพื่อนบ้าน ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง

หมายเหตุ “มติชน” คุยกับ น.ส.รุจิกร แสงจันทร์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการประชุมผู้นำบิมสเทค หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 เมษายนนี้ ว่าเหตุใดบิมสเทคจึงมีความสำคัญสำหรับไทย ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีโอกาสอะไรที่เราหลงลืมไปในอดีต และมีอะไรน่าจับตาในฐานะการประชุมระหว่างประเทศเวทีแรกที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่ประธานการประชุม

การจัดประชุมผู้นำบิมสเทคครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะจัดขึ้นในช่วงที่บริบทโลกเปลี่ยนไป ความท้าทายของชาติสมาชิกก็ต่างกัน โดยเฉพาะปัญหาข้ามแดนทั้งหลาย เช่น ด้านพรมแดนไทย-เมียนมา  พรมแดนเมียนมากับอินเดียและบังกลาเทศ เป็นต้น ซึ่งปัญหาข้ามแดนเหล่านี้จะแก้ไขไม่ได้ถ้าเราไม่คุยกัน ฉะนั้น บริบทของบิมสเทคคราวนี้จึงอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกประเทศต่างเผชิญความท้าทายร่วมกัน เรามีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ในวันที่ 2 เมษายน ที่จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสบิมสเทค  ก็จะเป็นวันที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศเรื่องมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า และมาตรการอื่น ๆ ซึ่งคงจะส่งผลกระทบกับหลายประเทศรวมทั้งไทย  เรื่องนี้ยิ่งทำให้เราต้องปรึกษาหารือกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงว่าในวิกฤตจะมีโอกาสใดได้บ้าง เราต้องกระชับความร่วมมือด้านใดเพิ่ม เช่น เราอาจขยายตลาดกับเพื่อนสมาชิกบิมสเทค เพื่อให้ประชาชนของประเทศในกลุ่มได้ประโยชน์  ไม่ว่าจะเป็นการขยายตลาดสินค้าบางประเภท หรือตลาดในภาคบริการ ไปจนถึงการกระชับความร่วมมือด้านเทคโนโลยี และส่งเสริมสตาร์ทอัพ ทั้งหมดก็เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในภูมิภาค ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ในขณะที่ประเทศสมาชิกอื่น ๆ อย่างอินเดียและบังกลาเทศ ยังคงมีคนหนุ่มสาวจำนวนมาก และมีขีดความสามารถทางดิจิทัลด้วย

อินเดียมีประชากรกว่าพันล้านคน ถ้าคิดเร็ว ๆ ว่ามีคนที่มีความสามารถทางดิจิทัลราว  30%  ก็จะเท่ากับ 300 ล้านคนแล้ว ถ้าเรามองเห็นโอกาสนี้ ก็ต้องคิดต่อว่าจะสร้างความร่วมมือให้เกิดประโยชน์ได้ยังไงบ้าง เช่น การสร้างแพลตฟอร์มหรือสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยที่จะพัฒนาเป็น Unicorn   เราต้องให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นพลังของอนาคต  ปีนี้ ไทยในฐานะประธานบิมสเทคได้จัดกิจกรรมพิเศษในวันที่ 3 เม.ย. 2568  ที่เรียกว่า “BIMSTEC Young Gen Forum : Where the Future Meets” ซึ่งเราเชิญคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทนำใน 7 สาขาความร่วมมือของบิมสเทคที่มาจากประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ ให้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ ในสาขาที่แต่ละประเทศเป็นแกนหลักยกตัวอย่างเช่น ไทยเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเรื่องความเชื่อมโยง หรือ connectivity  เราก็จะพูดเรื่องนี้  แต่เราไม่ได้เน้นเฉพาะความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเท่านั้น เพราะเรารวมถึงการเชื่อมโยงทางดิจิทัลด้วย ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ก็จะแลกเปลี่ยนในประเด็นที่แต่ละประเทศเป็นแกนหลักเช่นกัน  การรับฟังแนวคิดของคนรุ่นใหม่ในบิมสเทคมีความสำคัญและมีความหมายมากสำหรับภูมิภาคนี้ เราต้องช่วยกันขยายเครือข่าย young generation ให้สื่อสารกัน แลกเปลี่ยนกัน ช่วยกันสร้างอนาคตให้มั่นคง นอกจากนี้  กิจกรรมนี้ยังมีความพิเศษอีกอย่าง คือ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ซึ่งจะเป็นประธานบิมสเทคต่อจากไทย จะมาร่วมเป็นแขกพิเศษและขึ้นกล่าวในงานเสวนานี้ด้วย

สำหรับการประชุมผู้นำบิมสเทคครั้งนี้ก็ไม่ธรรมดา เพราะจะเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันระหว่างผู้นำบิมสเทคครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยนายกฯ แพทองธาร จะเป็นประธาน  ซึ่งจะเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกที่ท่านนายกฯ จะนั่งหัวโต๊ะ และจะแสดงวิสัยทัศน์ของไทย ส่วนผู้นำประเทศสมาชิกต่าง ๆ ก็จะแสดงความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ในการกระชับความร่วมมือในกรอบบิมสเทคเช่นกัน

ผลสัมฤทธิ์ข้อหนึ่งจากการประชุม ก็คือเราจะมีการลงนาม ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล (Agreement on Maritime Transport Cooperation) ที่จะทําให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในการเดินเรือ เพื่อเชื่อมโยงขนส่งทั้งในมหาสมุทรอินเดียและไกลกว่านั้น นอกจากนี้  จะมีการคุยกันเพื่อให้เชื่อมโยงไปยังถนนด้วย เพื่อให้ประเทศที่ไม่ติดทะเลอย่างเนปาล ภูฏาน ได้ประโยชน์ สิ่งที่ไทยให้ความสําคัญก็คือ Trilateral highway ที่เป็นถนนเชื่อม 3 ฝ่าย ระหว่างอินเดีย เมียนมา และไทย ถ้าแล้วเสร็จ ก็จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกมาก

นอกจากนี้ บิมสเทคยังมุ่งสร้าง ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (excellence center) ใครเก่งด้านไหนก็ทำตรงนั้น โดยในส่วนของไทยจะตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์เขตร้อนของมหิดลทํางานด้านนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ เรายังมีแผนจะตั้งศูนย์ที่เกี่ยวกับแพทย์แผนโบราณหรือแพทย์แผนไทย และศูนย์ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีด้วย

สำหรับในเรื่องปัญหาข้ามแดน ตอนนี้ครอบคลุมกว้างมาก ไม่ใช่แค่เรื่องออนไลน์สแกม แต่ยังมีเรื่องการค้ามนุษย์ ยาเสพติด ถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องคุยกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ต้องช่วยกัน เพราะเราแก้เองคนเดียวไม่ได้ การที่ผู้นำบิมสเทคได้มาปรึกษาหารือกันตอนนี้เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะมาก เพราะผู้นำจะให้นโยบายเพื่อเป็นแนวทางให้กลไกต่าง ๆ เดินหน้าต่อไปได้อย่างถูกทาง และสามารถเป็นจุดอ้างอิงสำหรับการร่วมมือกันต่อไปในอนาคต

กรอบความร่วมมือพหุภาคีอย่างบิมสเทค จึงเป็นประโยชน์มาก เพราะเราไม่ได้อยู่แต่ลำพังในโลก  และปัญหาที่เราเผชิญก็จะแก้ไม่ได้ถ้าไม่ร่วมมือกับประเทศอื่นๆ อินเดียก็ให้ความสำคัญกับบิมสเทคมาก เพราะเป็นเวทีที่อินเดียมีบทบาทนำในฐานะพี่ใหญ่ เขาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนมากที่สุด เพราะคิดจากสัดส่วนของขนาดเศรษฐกิจ ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างภูฏาน ที่เป็นประเทศเล็ก ก็ให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือนี้ เขาชอบประเทศไทย มีความนับถือในสถาบันพระมหากษัตริย์ และมองไทยอย่างเป็นมิตร เพราะเรามีความเข้มแข็งในด้านความเจริญทางวิชาการ ที่ชาวภูฏานจำนวนไม่น้อยเข้ามาเรียนที่บ้านเรา  เนปาล บังกลาเทศ และเมียนมาก็เช่นกัน ประเทศเหล่านี้ต่างเห็นว่าต้องร่วมมือกันจึงจะไปต่อได้ 

นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมเช่นนี้ ก็ยังเป็นโอกาสให้ประเทศสมาชิกได้มาพบปะหารือกันแบบทวิภาคีอีกด้วย ใครมีอะไรอยากเคลียร์กันก็สามารถคุยกันได้ที่นี่ หลายๆ ปัญหาก็จะถูกคลี่คลายไป ถือได้ว่าไทยเราได้เป็นเวทีในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศอื่นๆ ที่มารวมตัวกันที่นี่  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะดีได้ก็ต้องพบปะกัน คุยกัน สร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างกัน ยิ่งตอนนี้โลกมีเรื่องร้อนหลายเรื่อง เรายิ่งต้องคุยกัน

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาและไทยที่เกิดขึ้นก่อนการประชุมผู้นำบิมสเทคไม่กี่วัน ตอกย้ำถึงความเปราะบางของโลกและชีวิต เราเห็นภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก โครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคถูกทำลายหลายจุด การรับมือกับภัยพิบัติและการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจะเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ผู้นำบิมสเทคจะปรึกษาหารือกันว่าภูมิภาคของเราจะร่วมมือกันพัฒนากลไกด้านการจัดการภัยพิบัติ อย่างไรได้บ้าง เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.