สุขภาพดีเพื่อชุมชน หมั่นตรวจร่างกาย-สายตาทุกช่วงวัย
SUB_BUA April 01, 2025 12:20 PM

“เครือมติชน” พร้อมด้วยพันธมิตรด้านสุขภาพ นำโดย โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน, รพ.ตากสิน สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), CareCover Clinic (แคร์คัฟเวอร์ สหคลินิก), โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมด้วย บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน), บริษัท เชฟรอน (ไทย) จํากัด บริษัท ไทยสมายล์บัส จํากัด และบริษัท นิว อาย กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อาฟต้า เซอร์วิส แอนด์ ซัพพลาย จำกัด

ผนึกกำลังจัดงาน Healthcare Mini “สุขภาพดี ที่ประชาชื่น” เปิดให้บริการสุขภาพเชิงปฐมภูมิในพื้นที่ชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการดูแล รักษา ป้องกันสุขภาพ ด้วยการให้คำปรึกษา ตรวจสุขภาพตา และสุขภาพทั่วไป ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

แพทย์หญิงชุลีกร โสอุดร
แพทย์หญิงชุลีกร โสอุดร

หมอแนะ ตรวจสุขภาพปีละครั้ง

“แพทย์หญิงชุลีกร โสอุดร” รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากสิน (ฝ่ายการแพทย์) ให้ข้อมูลบนเวที “Special Talk : จำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี” โดยระบุว่า หลายคนอาจมองข้ามความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะคิดว่าร่างกายของเราแข็งแรงสมบูรณ์ดี เนื่องจากไม่มีอาการเจ็บป่วยหรือแสดงความผิดปกติอะไร

แต่อันที่จริงมีหลายโรคที่ร่างกายจะไม่แสดงอาการก่อน กว่าจะรู้ว่าป่วยก็มีอาการหนักแล้ว ทำให้เข้าถึงการรักษาไม่ทันท่วงที จึงต้อง “สร้าง นำซ่อม” กล่าวคือ การส่งเสริมสุขภาพให้เกิดความตระหนักรู้ ว่ามีความเจ็บป่วยอะไรหรือไม่ เพื่อเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วมากขึ้น ถ้าสามารถป้องกัน หรือทราบได้เร็วว่าป่วยเป็นโรคอะไร ก็จะเป็นข้อดีของเรา

นโยบายการตรวจสุขภาพฟรีจึงมีขึ้นเพื่ออยากให้ทุกคนตระหนักถึงสุขภาพของตัวเอง ว่าเจ็บป่วยอะไรหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การรู้ว่าจะสามารถป้องกันและส่งเสริมเพื่อไม่ให้เกิดโรคมากยิ่งขึ้นอย่างไร นอกจากนี้เราจะสามารถรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ไปถึงขั้นการเกิดโรค สุขภาพดีก็จะอยู่กับตัวเราไปอีกนาน

สำหรับความเหมาะสมของการตรวจสุขภาพประจำปี โดยปกติแล้วควรตรวจปีละครั้ง และสามารถตรวจติดตามผลได้เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี เพราะผลการตรวจบางอย่างอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น น้ำตาลในเลือด หรือไขมัน ซึ่งขึ้นอยู่กับอาหารที่บริโภค ไม่ว่าจะเป็นน้ำหวาน และชานมไข่มุก เป็นต้น ซึ่งล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลเลือด

ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพแต่ละช่วงวัยก็จะแตกต่างกัน ถ้าอายุน้อยโรคก็อาจจะน้อย ส่วนอายุมากโรคก็อาจมากตามไปด้วย ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีจะสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป โดยช่วงอายุ 15-35 ปี จะมีการตรวจน้ำตาลในเลือด เม็ดเลือด และการเอกซเรย์ (X-ray) ปอด

ขณะที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ จะเยอะขึ้น ก็จะมีการตรวจเบาหวาน น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด และตรวจคลื่นหัวใจ เพราะอายุที่มากขึ้นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น

สำหรับวัยทำงาน ควรตรวจน้ำตาลในเลือดว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งบางคนอาจมีเรื่องพันธุกรรมเข้ามาร่วมด้วย ตลอดจนการตรวจเม็ดเลือดเพื่อดูภาวะเลือดจาง และการตรวจเอกซเรย์ปอด ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม เพราะอาจไม่ไอ ไม่มีอาการ

แต่การตรวจสามารถทราบภาวะความเสี่ยงวัณโรคได้ หรือผลกระทบจาก PM 2.5 ในปัจจุบัน หากพบความผิดปกติ จะทำให้ตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมได้ และเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที

“ระหว่างการตรวจสุขภาพในรอบปี ต้องรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์”

นอกจากนี้ แพทย์หญิงชุลีกรยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลดน้ำหนักว่า อาจไม่ต้องตั้งเป้าหมายให้กดดันตัวเองมากเกินไป แต่ให้กำหนดเป้าหมายระยะสั้น ๆ ที่เราสามารถทำได้ โดย 2 ปัจจัยสำคัญที่ต้องควบคุม คือ อาหาร และการออกกำลังกาย เพื่อช่วยในการเผาผลาญ

แม้ว่าอายุที่มากขึ้นจะทำให้การเผาผลาญลดลง แต่ก็ควรทำกิจกรรมที่เพิ่มการเผาผลาญ เพื่อให้ลดน้ำหนักได้ อาจจะยากแต่ถ้ามีเป้าหมายเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้

นายแพทย์ศีตธัช วงศ์กุลศิริ
นายแพทย์ศีตธัช วงศ์กุลศิริ

แพทย์ชี้วุ้นตาเสื่อมเกิดกับทุกคน

“นายแพทย์ศีตธัช วงศ์กุลศิริ” จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการสาขาวุ้นน้ำตา-จอประสาทตา โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน ให้ข้อมูลบนเวที “Health Talk : โรคจอประสาทตา ในแต่ละช่วงวัย” โดยระบุว่า โรคจอประสาทตาในแต่ละช่วงวัยเปรียบดวงตาเสมือนลูกมะพร้าว จอประสาทตาจะเป็นเนื้อมะพร้าวที่อยู่ด้านในลูกตา และกระจกตาดำหรือตาขาวก็เปรียบเสมือนกะลามะพร้าว ส่วนของน้ำมะพร้าว เปรียบได้กับ “น้ำวุ้นตา”

เมื่ออายุมากขึ้น ทั้งน้ำวุ้นตาและจอประสาทตามักเสื่อมไปตามวัย แบบเดียวกับผมขาว ผิวหนังเหี่ยวย่น ข้อเข่าเสื่อม ซึ่งบางคนอาจเสื่อมมาก-น้อยแล้วแต่บุคคล ดังนั้นเรื่องวุ้นตาเสื่อมจึงเป็นเรื่องปกติ อาการเบื้องต้นจะเห็นเป็นหยากไย่ลอยไปมา พบมากในกลุ่มคนสายตาสั้น และเมื่อมีอาการดังกล่าวควรต้องพบแพทย์

เนื่องจากในกลุ่มผู้ป่วยกว่า 7-10% อาการวุ้นตาเสื่อมสามารถก่อปัญหาได้ เช่น จอตาฉีกขาด อาการเริ่มต้นเป็นแสงแฟลชวูบวาบ หรือเห็นม่านปิดบริเวณด้านข้างสายตา อาจทำให้ตาบอดได้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้เป็นโรคอีกสเต็ปหนึ่งของอาการวุ้นตาเสื่อม

“ไม่ว่าวุ้นตาจะเสื่อมเร็วหรือช้า มันเสื่อมอย่างแน่นอน ไม่ต้องไปกลัวมัน หากเกิดอาการให้พบแพทย์”

เมื่อถามถึงอาการเบาหวานขึ้นจอตา นายแพทย์ศีตธัชกล่าวว่า อาการเบาหวานขึ้นตา มาจากการที่น้ำตาลขึ้นสูง ส่งผลต่อหลอดเลือดทั้งร่างกาย ในดวงตาต้องใช้เลือดและออกซิเจนขนาดสูง หากมีอะไรนิดหน่อยกระทบกับเส้นเลือด จะส่งผลโดยตรงกับดวงตาทันที

อาการจอประสาทตาเสื่อม เป็นเรื่องของจุดรับภาพ ที่เปรียบเสมือนขั้วมะพร้าวด้านใน เมื่อจอตาเสื่อมส่งผลให้จุดภาพชัดแหว่งไป อาจเกิดขึ้นกะทันหันหรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ส่วนมากเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ จอประสาทตาเสื่อมมีความหมายที่กว้างมาก ในส่วนของจอตาเสื่อมตามวัยเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น แนะให้อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจจอประสาทตา

ตามัวตรงกลาง อ่านหนังสือไม่ได้

เส้นเลือดดำที่จอตาอุดตัน สามารถสังเกตได้เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาในเส้นเลือด จะเกิดเอฟเฟ็กต์ทันที ในรูปแบบเดียวกับ Stroke กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ กลุ่มคนไข้ที่เป็นต้อหิน และโรคความดันในเลือดสูง เสี่ยงหลอดเลือดดำอุดตัน ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง มีอาการมัว ๆ ตรงกลาง ไม่สามารถอ่านหนังสือได้

“ตามัว ตาแดง ปวดตา จริง ๆ แล้วเวลาบอกว่าโรคนี้มีอาการอย่างนั้น โรคนั้นมีอาการอย่างนี้ เวลาปรึกษาออนไลน์ แพทย์จะแนะนำให้พบโดยตรง เพราะโรคตาไม่เหมือนกับโรคอื่น ๆ มีความลำบากที่จะเจาะจงและซื้อยารักษาได้ด้วยตัวเอง หากวินิจฉัยผิดอาจทำให้ตาบอดได้”

ปัจจัยที่ทำให้จอตาฉีกขาด และหลุดลอก นอกจากเรื่องเสื่อมตามวัย คือการเล่นกีฬา โดยเฉพาะชกมวย ที่มีโอกาสจอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอกมากกว่ากีฬาประเภทอื่น การรักษาคือการยิงเลเซอร์ป้องกันจอตาลอก แต่หากตาลอกไปแล้วต้องผ่าตัดเท่านั้น

นายแพทย์ศีตธัชค้านเรื่องอาหารเสริมบำรุงจอตา เนื่องจากไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันหลักฐานแน่ชัดได้ว่า สารอาหารเสริมต่าง ๆ ช่วยให้สุขภาพตาดีขึ้น แต่อาจดีขึ้นได้เพราะอาการจากยาหลอก (Placebo Effect) ที่ส่งผลต่อความรู้สึก

ป้องกันดวงตาอย่างไรให้ยั่งยืน

“วิธีป้องกันโรคทางตาที่ดีที่สุดคือการใส่แว่น เราไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับตา แต่การมองเห็นอาจได้คุณภาพไม่ดี โดยเฉพาะแว่นหนา ๆ เหลือบตานิดหน่อยภาพก็จะบิด ๆ เบี้ยว ๆ หากคนไข้รับได้”

สำหรับคนสายตายาว แว่นโปรเกรสซีฟเป็นตัวช่วยที่ทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกขึ้น สามารถมองไกล-ใกล้ได้ ส่วนของคนสายตาสั้นอาจมีทางออกคือการทำเลสิก แต่การทำเลสิกมีจุดเสี่ยงคือการขุดกระจกตาให้เป็นเลนส์เว้าเหมือนกับแว่น หากขุดเยอะอาจเสี่ยงกระจกตาทะลุได้ หรืออีกวิธีหนึ่งคือการใส่เลนส์เสริมที่ออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติ (Implantable Collamer Lens : ICL) เข้าไปในลูกตา ซึ่งจะเหมาะสมหรือไม่ต้องตรวจดวงตาต่อไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.