รอยร้าวพระนอนวัดโพธิ์ ส่วนใหญ่เกิดก่อนแผ่นดินไหว ไม่กระทบโครงสร้าง
PUM Online April 01, 2025 04:24 PM

รมว.สุดาวรรณ ตรวจสภาพพระพุทธไสยาสน์ (พระนอนวัดโพธิ์) ส่วนใหญ่เป็นรอยร้าวเดิมก่อนแผ่นดินไหว ไม่กระทบโครงสร้าง มอบกรมศิลป์เร่งบูรณะซ่อมแซม-ปูพรมสำรวจโบราณสถานทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่พระวิหารพระพุทธไสยาส (วิหารพระนอน) วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพระพุทธไสยาสน์ (พระนอนวัดโพธิ์) ตามที่มีกระแสข่าวว่าพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานภายในพระวิหารเกิดรอยร้าวหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

ส่วนใหญ่เป็นรอยร้าวเดิม ไม่กระทบโครงสร้าง

นางสาวสุดาวรรณเผยว่า หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ได้มอบหมายให้กรมศิลปากร โดยกองโบราณคดี กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบพระพุทธไสยาสน์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

โดยกรมศิลปากรรายงานว่า ส่วนพระเศียร บริเวณพระศกและพระเกศา (เส้นผม) ไม่พบร่องรอยความชำรุดเสียหาย แต่พบรอยร้าวตั้งแต่พระเนตร (ตา) เป็นแนวถึงพระปรางขวา (แก้ม) ส่วนบริเวณพระกรรณขวา (หู) และบริเวณองค์พระพบความชำรุดของชั้นผิวที่เกิดการโป่งพอง บริเวณพระจุฑามาศ (ท้ายทอย)

นอกจากนี้ พบรอยร้าวด้านหลังองค์พระพุทธไสยาสน์ และพบรอยร้าวเพิ่มขึ้นในชั้นผิวที่ลงรักปิดทอง ส่วนฝ่าพระบาท (ฝ่าเท้า) ที่ตกแต่งด้วยลวดลายประดับมุขมงคล 108 มีสภาพสมบูรณ์ ไม่พบความชำรุด

นางสาวสุดาวรรณ ย้ำว่าสภาพความชำรุดส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรอยร้าวเป็นจุดที่ชำรุดเดิม จากการสำรวจเมื่อปี 2566 อย่างไรก็ตาม แม้รอยร้าวเดิมส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่ต้องให้กรมศิลปากรตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่ามีรอยร้าวใดที่มีการขยายเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งจะได้วางแผนในการบูรณะซ่อมแซมต่อไป

เนื่องจาก องค์พระพุทธไสยาสน์ มีความยาวถึง 46 เมตร แม้สันนิษฐานว่ารอยร้าวบางรอยอาจเป็นรอยใหม่ แต่ต้องรอการยืนยันอีกครั้งหนึ่งโดยกรมศิลปากร ว่ารอยนั้นเป็นการร้าวอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าเป็นรอยด้านนอกเท่านั้น ไม่มีความอันตรายและไม่กระทบถึงโครงสร้าง

“แม้จะเป็นรอยร้าวเดิม แต่ก็ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่าแผ่นดินไหวทำให้รอยนั้นลึกและเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่”

หลังจากนี้ คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในการตรวจสอบอย่างละเอียด อาจแบ่งการบูรณะเป็นเฟส โดยเริ่มจากส่วนผิวก่อน และจึงพิจารณาว่าจะมีการบูรณะใหญ่ต่อไปอย่างไรได้บ้าง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบในวันนี้เห็นว่าองค์พระพุทธไสยาสน์ควรได้รับการอนุรักษ์ซ่อมแซมใหญ่ จึงสั่งการให้กรมศิลปากรจัดทำแผนบูรณะองค์พระพุทธไสยาสน์ตามหลักวิชาการที่เหมาะสมต่อไป รมว.สุดาวรรณ กล่าว

มอบกรมศิลป์เร่งสำรวจโบราณสถานทั่วประเทศ

นางสาวสุดาวรรณกล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมของกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากกรมศิลปากรจะสำรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้ว ในพื้นที่ในต่างจังหวัดที่ได้รับรายงานว่ามีผลกระทบ เช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง และวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน เป็นต้น

ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและจะรายงานรายละเอียดให้ทราบโดยเร็ว

“โบราณสถานทั่วประเทศที่เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกรมศิลปากร หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่พื้นที่ไหนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่อาจมีการทรุดตัว กรมศิลปากรได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการค้ำยันเบื้องต้นไว้ก่อน และจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยจะซ่อมแซมในส่วนที่มีความเสียหายอย่างมีนัยยะสำคัญก่อน”

นอกจากนี้กรมการศาสนายังได้สำรวจความเสียหายของศาสนสถาน พร้อมทั้งดูแลพระภิกษุสงฆ์ นักบวช ตลอดจนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ดูแลศิลปินแห่งชาติ และศิลปินที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ

ตลอดจนสำรวจอาคาร สถานที่ ทรัพย์สินของทางราชการ รวมทั้งผลกระทบต่อบุคลากรและเครือข่ายทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรในหน่วยงาน จึงขอให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตรวจสอบ ความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัยของโครงสร้างอาคารหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น

หากยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยในการใช้อาคาร หัวหน้าส่วนราชการสามารถกำหนดให้มีการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (work from home) ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยขอให้แต่ละหน่วยงานรายงานความคืบหน้ามาเป็นระยะ นางสาวสุดาวรรณกล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.