สำนักงาน กสทช. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ครั้งที่ 2
วันที่ 1 เมษายน 2568 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ครั้งที่ 2 โดยมี นายต่อพงศ์ เสลานนท์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ รองศาสตราจารย์สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมงาน
ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารความเร็วสูงมีบทบาทสำคัญในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีการสื่อสาร ก็ต้องคำนึงถึงความสำคัญในการนำมาใช้เพื่อพัฒนาสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย การจัดทำ (ร่าง) ประกาศ ดังกล่าว จะนำไปสู่การจัดสรรคลื่นความถี่ที่รองรับกับความต้องการการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้บริการการสื่อสารความเร็วสูงของประเทศอย่างต่อเนื่อง การจัดสรรคลื่นความถี่ที่รองรับกับความต้องการการใช้งานที่หลากหลายนี้ คณะกรรมการ กสทช. มีความเห็นตรงกันว่า ควรมีการพิจารณาออกแบบหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างรอบคอบและรัดกุม เนื่องจากคลื่นความถี่ทุกคลื่น มีการนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีความสำคัญสำหรับการนำไปพัฒนาการให้บริการต่อผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรม โดย กสทช. มุ่งหวังให้มีกลไกการประมูลที่ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ รวมทั้งพิจารณาถึงโอกาสที่จะมีผู้ให้บริการรายใหม่เข้าสู่ตลาด ให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การใช้งานคลื่นความถี่ที่ยกระดับเครือข่าย 5G และการสื่อสารความเร็วสูงแห่งอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กสทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่าน ทุกภาคส่วนจะเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อนำไปใช้งานในภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า จากที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2568 และได้นำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และร่างประกาศหลักเกณฑ์ ต่อ กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 8/2568 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 และการประชุม ครั้งที่ 9/2568 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ซึ่ง กสทช. มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไปต่อ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์ฯ อีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้ (1 เม.ย 68)
สำนักงาน กสทช. ได้จัดงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ ครั้งที่ 2 เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับความคิดเห็นที่รอบด้าน ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และเพื่อให้เกิดประโยชน์สุงสุดต่อประชาชน และประเทศไทย โดยมีหัวข้อที่เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ ดังนี้ 1.) คลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล 2.) ความเหมาะสมของวิธีการประมูลและการจัดกลุ่มคลื่นความถี่ เพื่อให้ส่งเสริมการแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่ 3.) ความเหมาะสมของมูลค่าคลื่นความถี่และวิธีการคำนวณ รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Reserve price) 4.) ความเหมาะสมของการกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่และการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz หรือ 2300 MHz สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ และ 5.) ความเหมาะสมของการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ดำเนินการเพื่อสังคม และการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มเติมสำหรับผู้ถือบัตรประจำตัวคนพิการผู้ถือบัตรโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ตระหนักดีว่า คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล เป็นรากฐานสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูง ที่สามารถรองรับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ดังนั้น การออกแบบการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับบริการการสื่อสารความเร็วสูงของประเทศ สำนักงาน กสทช. จึงได้คำนึงถึงหลักการแข่งขัน และการกระจายทรัพยากรของชาติอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และผลักดันนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ยุติธรรม
การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.ฯ นี้ ได้จัดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ข้างต้น ซึ่งสามารถนำส่งแบบแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2568 จนถึงวันที่ 4 เมษายน 2568 ในเวลา 16.30 น.
อนึ่งประเด็นที่อุตสาหกรรมให้ความสำคัญอย่างมาก โดยมีนายกสมาคมโทรทัศนระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) คุณสุภาพ คลี่ขจาย และคณะ นำทัพผู้บริหารระดับสูงของดิจิทัลทีวีตบเท้าเข้าร่วมแสดงจุดยืนรักษาคลื่น 3500 MHz พร้อมหน้า ไม่ว่าจะเป็น คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม (จีเอ็มเอ็มแกรมมี่), คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ (วัน สามสิบเอ็ด) ,คุณวัชร วัชรพล (ไทยรัฐทีวี), คุณชาคริต ดิเรกวัฒนชัย (ช่อง 3 ) ,คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ (เนชั่นทีวี) คุณนงลักษณ์ งามโรจน์ (ช่อง 8 ) ,คุณศิริ บุญพิทักษ์เกศ (อมรินทร์ทีวี ) ฯลฯ