พิชัย กำชับคณะทำงานตรวจสอบเชิงลึก บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) คาดว่าวันที่ 4 เมษายนนี้ ประชุมชุดใหญ่ เผย 2 เมษายนนี้ ยื่นข้อมูลถึง DSI รับเป็นคดีพิเศษ และจัดคณะทำงานขึ้น 6 ชุดปูพรมตรวจสอบ นอมินี-แรงงาน-สินค้า-ท่องเที่ยวและที่ดิน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 เมษายน 2568 จะมีการประชุม คณะกรรมการเพื่อพิจารณาตรวจสอบบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีข้อสงสัยว่าจะเป็นธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) หรือไม่ โดยจากข้อมูลผู้ถือหุ้น เบื้องต้นพบว่าบริษัทมีผู้ถือหุ้นคนไทย 51% และคนจีน 49%
ทั้งนี้ ได้กำชับให้คณะทำงานที่ดูแลตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงให้ละเอียด เนื่องจากว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งจากการรายงานทราบว่าได้มีการรวบรวมและทราบข้อมูลในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งหากพบความผิดปกติก็จะดำเนินตามกฎหมายในทันที
“จากข้อมูลที่ได้รับรายงานพบว่ามีการโยงใยและถือหุ้นในหลายบริษัท”
ที้งนี้ หากพบธุรกิจเป็นนอมินีจริง ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษขั้นสูงสุด คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากการตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน คือ ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย และ วัตถุประสงค์ที่มาจากงบการเงินปีล่าสุด (2567) คือ เกี่ยวกับการบริการด้านการทรัพยากรมนุษย์และรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำการ ทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน กรรมการมีจำนวน 2 ราย คือ 1.นายชวนหลิง จาง และ 2.นายโสภณ มีชัย ขณะที่มีผู้ถือหุ้น แบ่งเป็น จีน 49% และ ไทย 51%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมี ร.ต.จักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน
ด้านนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการรับฟังการรายงานในพี่ที่ประชุมพบว่า ผู้ถือหุ้นบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มีการเชื่อมโยงกับ 13 บริษัทซึ่งมีความผิดปกติ และที่ประชุมได้พิจารณาว่าบริษัท จะเข้าข่ายการฮั้วประมูลหรือไม่ กระทำผิดนอมินี และผิดพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ไหม ซึ่งจำเป็นจะต้องตรวจสอบเชิงลึก
นอกจากนี้ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 กระทรวงพาณิชย์ จะจัดส่งข้อมูลที่คณะทำงานที่ได้พิจารณาหันในครั้งนี้ ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อประกอบเป็นข้อมูลพิจารณาให้รับเป็นคดีพิเศษต่อไป
อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีการพิจารณาเห็นชอบตั้งคณะย่อยขึ้นมา 5 ชุด เพื่อปูพรมตรวจสอบ ความผิดปกติและเข้าข่ายนอมินีโดย 3 ชุดแรกจะเข้าตรวจสอบเรื่องของนอมินีในเขตพื้นที่และปริมณฑล รวมไปถึงตรวจสอบการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ขณะที่อีก 2 ชุดจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องของการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และตรวจสอบการถือครองที่ดินด้วย