รพ.สงขลา ยืนยันความมั่นใจ หลังมีชื่อบริษัทที่ก่อสร้างอาคารสตง.ที่ถล่มเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก ตรวจสอบย้อนหลังพบเหล็กเส้นและคอนกรีตได้มาตรฐาน ไม่พบเหล็กรหัสเดียวกับที่ใช้ในอาคารสตง.ในอาคารแห่งนี้
จากกรณีโลกออนไลน์แชร์ภาพอาคารผู้ป่วยนอก 9 ชั้น โรงพยาบาลสงขลา ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างโดยมีการระบุว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารดังกล่าวคือ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 หนึ่งในบริษัทรับเหมาก่อสร้าง อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. จนมีหลายคนกังวลเรื่องความปลอดภัย
โดยเรื่องนี้ วันที่ 1 เม.ย.2568 ที่โรงพยาบาลสงขลา ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา นายไมตรี สรรพสิน โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันเข้าตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก 9 ชั้นของโรงพยาบาลสงขลา พร้อมระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่าสภาพอาคารที่มีการก่อสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 50 ไม่พบรอยร้าวหรือปัญหาแต่อย่างใด และจากการตรวจเอกสารการใช้เหล็กในอาคารก็ไม่พบว่ามีเหล็กที่เป็นรหัสเดียวกันกับเหล็กที่ใช้ในอาคารสตง.แต่อย่างใด อาคารแห่งนี้ก่อสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 50 และล่าช้ากว่าที่กำหนด
ในขณะที่ผู้บริหารโรงพยาบาลสงขลา ให้ข้อมูลว่า ได้มีการตรวจสอบการใช้เหล็กผ่านเอกสารการควบคุมงานย้อนหลังไปตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง คือปี 2565 ซึ่งไม่พบว่ารหัสเหล็กที่ใช้ในอาคารแห่งนี้ตรงกับอาคารสตง.ที่ถล่มจากแผ่นดินไหวแต่อย่างใด และไม่ได้กังวลกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้นรวมถึงไม่กังวลในเรื่องคุณภาพของอาคาร เนื่องจากทั้งเรื่องแบบแบบแปลนการก่อสร้างก็เป็นแบบที่ใช้ก่อสร้างมาแล้วที่จ.ปัตตานี ส่วนบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้างก็ผ่านการประมูลงานอย่างถูกต้องและมีผลการทำงานให้เห็นมาก่อนแล้ว
” ส่วนในประเด็นการนำแผ่นป้ายของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ซึ่งใช้อักษรย่อภาษาอังกฤษว่า CREC10 ออกจากไซส์งานนั้น ได้รับการชี้แจงว่า แผ่นป้ายดังกล่าวนั้น ลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกทำเอาไว้เหมือนม่าน จะปิดในช่วงกลางคืน เปิดในช่วงกลางวัน ซึ่งจะทำให้เห็นป้ายชื่อบริษัทในช่วงกลางคืนเท่านั้นกลางวันจะถูกเปิดและมัดเอาไว้เหมือนม่าน ขณะนี้ชำรุดไม่ได้มีการนำออกไปแต่อย่างใด ”
สำหรับงานก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสงขลา เป็นอาคารคสล. 9 ชั้นพื้นที่ใช้สอยประมาณ 21652 ตารางเมตร(โครงสร้างต้านแผ่นดินไหว) งบประมาณ 499,088,600 ราคาที่ชนะการประมูล 426,900,000 ผู้รับจ้างคือกิจการร่วมค้า AKC ซึ่งเป็นการร่วมทุน ระหว่างบริษัทอัครกร ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด ร้อยละ 51 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)จำกัด ร้อยละ 49 เริ่มสัญญาเมื่อ 29 สิงหาคม 2565 สัญญาสิ้นสุดวันที่ 24 กรกฎาคม 2568
สรุปการก่อสร้างระยะเวลาโครงการ 1060 วันงวดงานทั้งหมด 35 งวดดำเนินการแล้ว 935 วันคงเหลือ 125 วัน แผนงานตามสัญญา 86.28 ผลงานที่ทำได้ร้อยละ 50 ล่าช้าไปกว่าร้อยละ 50