โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) และ สภาเทคนิคการแพทย์ ประกาศความร่วมมือในโครงการ “Lab Benchmarking 2025” เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (แล็บ) ทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานสากล เป้าหมายหลักของโครงการ 150 ห้องแล็บทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการภายในปี 2568 สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและต่างชาติ
1 เม.ย. 2568 – ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของห้องแล็บในประเทศไทย กับบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ ประเทศไทย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีห้องแล็บที่ผ่านการรับรองมาตรฐานรวมกว่า 1,300 แห่ง แบ่งเป็น 814 แห่ง ได้รับการรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์ อีก 300 แห่ง ได้รับมาตรฐาน ISO จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และประมาณ 200 แห่ง ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ โครงการ Lab Benchmarking 2025 จะช่วยให้ห้องแล็บทั่วประเทศสามารถประเมินศักยภาพของตนเอง เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล และนำข้อมูลไปพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพบริการทางการแพทย์ของไทยให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ
นายมิไฮ อิริเมสซู กรรมการผู้จัดการ โรช ไดแอกโนสติกส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ความท้าทายหลักของห้องแล็บไทยในปัจจุบันคือ การปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ โครงการนี้จะช่วยเสริมศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ และส่งเสริมการใช้ นวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยโรค ที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มความแม่นยำของผลตรวจ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับ วัตถุประสงค์หลัก ของโครงการLab Benchmarking 2025 ได้แก่ 1.รวบรวมข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับการดำเนินงานของห้องแล็บในประเทศไทย 2.เปรียบเทียบมาตรฐาน กับห้องแล็บในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 3.พัฒนากระบวนการตรวจวินิจฉัยโรค ให้มีความแม่นยำและน่าเชื่อถือมากขึ้น 4.เตรียมความพร้อม สำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ทั้งนี้ มีขั้นตอนการดำเนินงาน การสำรวจข้อมูล ห้องแล็บที่สนใจเข้าร่วมโครงการจะกรอก แบบสอบถามออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม Lab Insights แบบสอบถามครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น ระบบคุณภาพ, การบริหารจัดการ, ต้นทุนการดำเนินงาน, และการใช้เทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล ห้องแล็บที่เข้าร่วมจะได้รับ รายงานผลการประเมินแบบเรียลไทม์ เพื่อดูจุดแข็งและจุดที่ต้องพัฒนา และการเผยแพร่ผลลัพธ์ ผลวิเคราะห์จะถูกนำเสนอในงาน Thailand LA Forum 2025 เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาสำหรับห้องแล็บทั่วประเทศ
โดยระยะเวลาดำเนินโครงการ จะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2568ประกาศผลประมาณ ไตรมาส 3 ของปี 2568 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ คือ รู้จุดยืนของตนเองเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ช่วยให้นำข้อมูลไปปรับปรุงระบบการทำงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองและประเทศ ในด้านประโยคต่อสาธารณสุขไทย จะช่วยยกระดับมาตรฐานการตรวจวินิจฉัยโรค สนับสนุนนโยบาย Medical Hub ของรัฐบาล และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้บริการทางการแพทย์ของไทย รวมถึงในด้านการเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น สร้างรายได้จากการแพทย์ครบวงจร ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจัดให้เป็น หนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่สำคัญของโลก ด้วยบริการที่ได้มาตรฐานและราคาแข่งขันได้ โครงการนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย
อย่างไรก็ดี การกระจายความรู้และเทคโนโลยีไปยังห้องแล็บทั่วประเทศ จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้รับบริการตรวจวินิจฉัยที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โครงการ Lab Benchmarking 2025 ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานห้องแล็บไทยสู่ระดับสากล สอดคล้องกับนโยบาย Medical Hub และเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพในอนาคต