จ่ายเคลมประกันแผ่นดินไหวแสนล้าน แพนิกชะลอ ‘ซื้อ-โอน’ คอนโด
SUB_BUA April 02, 2025 07:20 AM

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทุบซ้ำเศรษฐกิจไทยทั้งภาคอสังหาฯ-ท่องเที่ยว สะเทือนตลาดอาคารคอนโดฯ หวั่นลูกค้าแพนิกชะลอการตัดสินใจซื้อ-โอนคอนโดฯ ยักษ์อสังหาฯเร่งแผนฟื้นเชื่อมั่น ชี้ความกังวลของผู้บริโภคเป็นเพียงอาฟเตอร์ช็อกระยะสั้น 1-2 เดือน เฟรเซอร์สฯไม่ลังเลเดินหน้าลงทุนต่อ สมาคมประกันฯประเมินเคลมแผ่นดินไหวต่ำกว่าแสนล้าน พร้อมส่งสัญญาณ “ขึ้นเบี้ย-จำกัดความคุ้มครอง” รับภัยแผ่นดินไหว SCB-EIC ประเมินความเสียหายเบื้องต้น 3 หมื่นล้าน เอฟเฟ็กต์สต๊อกคอนโดฯกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 7.4 หมื่นยูนิต ต้องใช้เวลาระบายนานขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่ศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนถึงเมืองไทยจนทำให้เกิดเหตุตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่ม ขณะที่อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล และคอนโดมิเนียม ตึกสูงจำนวนมากก็ได้รับผลกระทบ

สะเทือนตลาดคอนโดฯ

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและสื่อสารองค์กร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลกระทบจากอาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหว เมื่อวันศุกร์ 28 มีนาคมที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วไทย

โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียมที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจทำให้การฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของตลาดคอนโดฯ

ทั้งนี้ ตลาดคอนโดฯมีซัพพลายรอการขาย ณ ไตรมาส 1/68 มูลค่ากว่า 458,390 ล้านบาท การเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความวิตกกังวล โดยลูกค้าอาจชะลอการตัดสินใจ และระมัดระวังในการเลือกซื้อคอนโดฯที่มีความสูงมากขึ้น ซึ่งจะต้องคำนึงถึงมาตรการในการออกแบบและก่อสร้าง ที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความวิตกกังวลนี้อาจจะยืดเยื้อ และส่งผลให้การขายคอนโดมิเนียมในปีนี้ดำเนินไปได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในโครงการที่ยังมีสินค้าคงค้างอยู่จำนวนมาก จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้พัฒนาโครงการ ต้องหาวิธีการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

บิ๊กอสังหาฯเร่งฟื้นเชื่อมั่น

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว บทบาทสมาคมคอนโดฯ คือออกมาขับเคลื่อนความมั่นใจ ตึกสูงของไทยวันนี้ไม่ใช่แค่คอนโดมิเนียม แต่รวมอาคารออฟฟิศ โรงแรม ไม่มีตึกที่วิบัติเลย ต้องเอาตรงนี้เป็นจุด Quick Win ประเทศไทยก่อน ต้องร่วมกันสื่อสารเรื่องนี้เพื่อให้เป็นจุดแข็งของประเทศ เป็นความพร้อมของประเทศไทย

“เข้าใจว่าแผ่นดินไหวมีความเสียหายของตัวอาคารเกิดขึ้น แต่ก็มีข้อเท็จจริงว่าวงการก่อสร้างไทยมีมาตรฐานอันดับต้น ๆ ของโลก ฉะนั้น อย่าไปเนกาตีฟประเทศมากนัก ภาพตึก สตง.ที่รับเหมาจีนสร้างถล่มลงมา จะทำให้เมืองไทยไม่มีที่ยืนในเวทีโลก

เราต้องฉายภาพตึกสูงในกรุงเทพฯ ไม่มีแม้แต่ตึกเดียวที่พังทลาย และเราได้เห็นผู้ประกอบการไทยทั้งรายใหญ่ รายกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของตึกสูง มีการเข้าไปดูแลลูกค้า ผู้พักอาศัยอย่างทันที ได้เป็นการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของผู้ประกอบการที่อยู่ในสมาคมอาคารชุดไทย มีความร่วมแรงร่วมใจ”

สำหรับประเด็นประชาชนมีความกลัวการพักอาศัยในตึกสูงนั้น ยอมรับว่าระยะสั้นเรื่องความตกใจเป็นภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนยุคน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่น้ำท่วม 2 เมตร คนที่กำลังจะโอนทาวน์เฮาส์ชานเมืองก็กลัว ไม่ยอมไปรับโอน แต่หลังจากน้ำแห้ง คนที่มีรายได้ก็กลับไปรับโอนกันหมด

“แผ่นดินไหวอาจกระตุกความรู้สึกคน 1-2 เดือน แต่เมื่อได้สติแล้วจะรู้ว่าการอยู่ตึกสูงปลอดภัย เพราะตึกสูงในกรุงเทพฯ ได้รับการพิสูจน์ด้วยข้อเท็จจริงแล้วว่าไม่มีตึกถล่มลงมาแม้แต่ตึกเดียว”

ธนพล ศิริธนชัย
ธนพล ศิริธนชัย

FPT ไม่ลังเล-เดินหน้าลงทุน

ด้านนายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ FPT กล่าวว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ต้องมีการทบทวนหรือชะลอการลงทุนหรือไม่นั้น มองว่าเรื่องการลงทุนทุกคนก็กลับมาทบทวนเป็นปกติ แต่ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะทำเพราะคนยังแพนิก ยังอยู่ในอาฟเตอร์ช็อก

“ผมคิดว่าเราก็ต้องมาตั้งสติก่อน ถ้าเราผ่านวันศุกร์ 28 มีนาคมมาได้ แผ่นดินไหวงวดนี้เป็นเรื่องผิดปกติ เพียงแต่คนไทยไม่เคยเจอก็จะตื่นตระหนก เพราะฉะนั้น เราต้องตื่นรู้ให้ได้ ต้องเอดูเคตสิ่งต่าง ๆ ในแง่การลงทุน บังเอิญผมทำบ้านแนวราบเยอะ อาจบอกได้ว่าเป็นโอกาสให้บ้านแนวราบ

แต่คิดว่ายังไงก็ตาม คนไทยหนีไม่พ้นการอยู่ตึกสูง เพราะถ้าไปถามคนญี่ปุ่น เขาจะบอกว่าเฉย ๆ ด้วยซ้ำ ฉะนั้น อาจจะรู้สึกว่าแพนิกชั่วคราว ถ้าผ่านได้แล้วการอยู่ในตึกสูงที่การก่อสร้างมีคุณภาพสูง ผมเชื่อว่าจะกลับมาเป็นปกติได้”

สำหรับปี 2568 การวางแผนธุรกิจทำอยู่บนพื้นฐานปัจจัยอนาคตที่คาดเดาไม่ได้อยู่แล้ว มีความเสี่ยงรอบด้านเต็มไปหมด ดังนั้นการทบทวนแผนลงทุนในระหว่างปีจึงไม่ได้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว แต่จะเกี่ยวกับในแง่ภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทำให้ต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง

โดยแผนธุรกิจที่เราตัดสินใจลงทุนแล้วก็จะเดินหน้า ไม่ได้กังวลอะไร เพราะว่าท้ายที่สุดถ้าไม่มีคู่แข่งสร้างหรือหยุดลงทุน จะกลับกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจด้วยซ้ำไป ซึ่งเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ มีความพร้อมด้านเงินทุน และพร้อมจะแสวงโอกาสลงทุนตลอดเวลา

ศุภาลัย มั่นกระดูกตึกไทยแกร่ง

นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มองภาพรวมในเชิงวิศวกรรม ตึกสูงจำนวนราวพันตึกทั่วกรุงเทพฯเกิดความเสียหายไม่มากนัก มีเพียงรอยแตกร้าวในส่วนงานสถาปัตย์หรือฝ้าผนัง ซ่อมแซมได้ ไม่เสียหายถึงขั้นกระดูกหรือโครงสร้างหลักของอาคาร

ผู้ก่อตั้งศุภาลัยเชื่อว่า ความกังวลของผู้บริโภคเป็นเพียงอาฟเตอร์ช็อกระยะสั้น ความเชื่อมั่นจะค่อย ๆ กลับมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงเทรนด์หรือแนวคิดการเลือกอยู่อาศัยของผู้คนในระยะยาว พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมา “ศุภาลัย” พยายามก่อสร้างด้วยมาตรฐานที่สูงกว่ากฎหมายกำหนดอยู่เสมอ

ดร.สมพร สืบถวิลกุล
ดร.สมพร สืบถวิลกุล

ประกันเคลมไม่เกินแสนล้าน

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ประเมินผลกระทบการจ่ายเคลมประกันทั้งระบบอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย มูลค่าน่าจะไม่เกิน 1 แสนล้านบาท

โดยรวมความเสียหายจากคอนโดมิเนียม/อาคารพาณิชย์ และตึก สตง.ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่มลงมา โดยเป็นการคาดการณ์ภายใต้สมมุติฐานเบื้องต้นที่ผู้เอาประกันยังไม่ได้มีการแจ้งเคลมเข้ามาอย่างครบถ้วน

การแจ้งเหตุความเสียหายเข้ามาส่วนใหญ่เป็นการเคลมประกันของอาคารสูงพวกคอนโดฯเป็นหลัก ซึ่งพบว่าอาคารโครงสร้างได้รับความเสียหายรุนแรงมีไม่มาก ขณะที่อาคารแนวราบพวกบ้านอยู่อาศัยส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้

“ความเสียหายที่ประเมินแบบคร่าว ๆ น่าจะน้อยกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ประกันภัยมีการชดใช้ค่าเสียหายกว่า 4 แสนล้านบาท และโควิดที่ระบบประกันภัยมีการชดใช้ค่าเสียหาย 1.5 แสนล้านบาท”

โดยบริษัทประกันจะมีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน กรณีเอกสารครบ

เปิดกรมธรรม์แผ่นดินไหว

ดร.สมพรเปิดเผยว่า ข้อมูลกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว ประกอบด้วย 1.กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี (ซื้อความคุ้มครองเพิ่มได้) มีอยู่ทั้งหมด 5.37 ล้านฉบับ อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 2.23 ล้านฉบับ และจังหวัดอื่น ๆ อีก 3.14 ล้านฉบับ

2.กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ มีกรมธรรม์ 1.11 ล้านฉบับ อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 4.52 แสนฉบับ และจังหวัดอื่น ๆ 6.61 แสนฉบับ

3.กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industial All Risk) อาคารชุด คุ้มครองความเสียหายต่อตัวอาคารส่วนกลาง เช่น โครงสร้างอาคาร, ลิฟต์, บันไดส่วนกลาง, สระว่ายน้ำ และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เป็นของส่วนกลาง ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวตามจำนวนวงเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit) เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการทั่วไป เช่น โรงงานอุตสาหกรรม, โรงแรม, โรงเรียน, สถานประกอบการต่าง ๆ โดยกลุ่มนี้มีจำนวน 1.94 แสนฉบับ อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 9.53 หมื่นฉบับ และจังหวัดอื่น ๆ อีก 9.9 หมื่นฉบับ

ยันกองทุนหนา-ไม่มีเจ๊ง

นายกสมาคมประกันฯยืนยันว่า ถึงแม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้จะสร้างความเสียหายเกิดขึ้นมากในระดับหนึ่ง แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะความมั่นคงของบริษัทประกันวินาศภัยในภาพรวม เนื่องจากบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบยังมีความมั่นคงในระดับดีมาก โดยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่เกือบ 300% ซึ่งสูงกว่า 3 เท่าที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 100%

นอกจากนี้ ทุกบริษัทประกันที่มีการรับประกันภัยสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สิน รวมถึงการก่อสร้าง มีบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กันแล้ว ดังนั้นทุกบริษัทจะบริหารความเสี่ยงโดยส่งประกันภัยต่อ (Re-insurance) กับบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศที่มีความมั่นคงทางการเงินในสัดส่วนที่สูง จึงไม่น่าจะต้องเป็นกังวล

“ยืนยันรอบนี้จะไม่มีบริษัทต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน เพราะขนาดช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 บริษัทประกันจ่ายเคลมไปกว่า 4 แสนล้านบาท ก็ไม่มีบริษัทใดเจ๊ง”

จับตาขึ้นเบี้ย-ลดคุ้มครอง

ดร.สมพรกล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนเหมือนเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ทำให้บริษัทประกันต้องปรับตัว เพราะว่าตอนนั้นประกันภัยน้ำท่วม ส่วนใหญ่เป็นการแถมเพื่อจูงใจให้คนทำประกัน แต่หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ บริษัทประกันวินาศภัยก็ได้ปรับวิธีด้วยการคิดเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมเพิ่ม 1% และมีการกำหนด Sub Limit คือจำกัดความรับผิดชอบไม่เกิน 20% ของมูลค่าทรัพย์สิน

เช่นเดียวกับแผ่นดินไหว ที่เดิมมองเป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัวสำหรับประเทศไทย แต่เหตุการณ์เมื่อ 28 มี.ค. 2568 ทำให้เห็นได้ว่าโอกาสหรือความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวเป็นเรื่องไม่ไกลตัวแล้ว ธุรกิจประกันวินาศภัยก็คงจะต้องปรับวิธีคิดเบี้ยและกำหนด Sub Limit ความคุ้มครอง

“ยกตัวอย่างประกันภัยการก่อสร้าง ให้วงเงินความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวเต็มมูลค่าการก่อสร้าง 100% คาดว่าต่อไปก็จะมีเงื่อนไขจำกัดความคุ้มครองเพียงแค่ 30% หรือ 50% ของมูลค่าก่อสร้าง และจำกัดความรับผิดที่ให้ความคุ้มครอง สำหรับทรัพย์สินที่มีการทำประกัน เช่น จาก 100% เหลือไม่เกิน 20-30% ของมูลค่าทรัพย์สิน เป็นต้น”

ตึก สตง.ถล่มคาดจ่าย 800 ล้าน

สำหรับการรับประกันตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่พังถล่มนั้น ดร.สมพรกล่าวว่า ตามที่ทราบมีบริษัทร่วมรับประกันภัยอยู่ทั้งหมด 4 บริษัท คือ ทิพยประกันภัย 40%, กรุงเทพประกันภัย 25%, อินทรประกันภัย 25% และวิริยะประกันภัย 10% สำหรับทิพยประกันภัยได้มีการบริหารความเสี่ยงโดยส่งประกันภัยต่อให้กับบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ สัดส่วน 95% รับประกันไว้เองแค่ 5%

ตอนนี้ยังไม่รู้มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงของโครงการนี้ แต่ถ้าประเมิน จากที่มีการทำประกันภัยมูลค่าความคุ้มครอง 2,241 ล้านบาท และจากข่าวที่ระบุว่าดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 40-50% บ้างนั้น ก็จะเท่ากับมูลค่าที่มีการทำประกันกว่า 1 พันล้านบาท และสัญญาประกันฉบับนี้จะมีความรับผิดชอบส่วนแรก (Deductible) ประมาณ 20% ดังนั้น บริษัทประกันจะจ่ายความเสียหายแค่ประมาณกว่า 800 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ทางทฤษฎีอาคารสูงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ค่อนข้างมีความเสี่ยง ทุกบริษัทประกันจะทำประกันภัยต่อไม่น้อยกว่า 90% อยู่แล้ว เท่ากับว่าความเสี่ยงที่แต่ละบริษัทประกันรับไว้เองเฉลี่ยแค่ 10% ของมูลค่า 800 ล้านบาท หรือประมาณกว่า 80 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของแต่ละบริษัทประกันอย่างแน่นอน

“EIC คาดเสียหาย 3 หมื่นล้าน

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า อีไอซีประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเบื้องต้น คาดจะมีความเสียหายราว 3 หมื่นล้านบาทผลกระทบ 3 ด้านหลัก คือ 1.การท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงในช่วงเดือน เม.ย.นี้ และค่อย ๆ ปรับตัวในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ขึ้นอยู่กับมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากภาครัฐ

2.อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง ระยะสั้นคาดว่าผู้บริโภคจะชะลอการโอนและการซื้อคอนโดมิเนียมออกไป ซึ่งอาจกดดันการระบายสต๊อก โดยปัจจุบันมีสต๊อกคอนโดฯในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีค้างอยู่ 7.4 หมื่นยูนิต อาจต้องใช้เวลาในการระบายนานขึ้น

โดยอีไอซีประเมินยอดการโอนคอนโดฯในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีนี้ อาจจะ “ติดลบ” นอกจากนี้ สร้างโครงการใหม่อาจจะชะลอออกไป ซึ่งอาจจะกระทบไปถึงภาคการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบอยู่ด้วย

ขณะที่ทุกภาคส่วนจะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูง และอาคารแนวราบ ที่จะต้องมีการบังคับใช้มาตรฐานเหล่านั้นอย่างเข้มงวด และจะกลายเป็นจุดแข่งขันและจุดขายของผู้ประกอบการ

แผ่นดินไหว+สงครามภาษี

3.ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาพการใช้จ่าย เพราะต้องมีการนำเงินมาใช้จ่ายในการซ่อมแซม ทำให้การใช้จ่ายอื่น ๆ อาจจะลดลง และการลงทุนต่าง ๆ อาจจะชะลอเพื่อรอดูความชัดเจนในเรื่องของผลกระทบและมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมา

“ภาพรวมมองว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะเป็นความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่า และอีกประเด็นคือ เรื่องนโยบายภาษีของทรัมป์ที่จะมีการประกาศในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งจะต้องติดตามใกล้ชิดว่าประเทศไทยจะอยู่ในข่ายได้รับผลกระทบมากหรือน้อยแค่ไหน”

สำหรับเศรษฐกิจปี 2568 มองว่าจะขยายตัว 2.4% โดยตัวเลขเศรษฐกิจจะเติบโตเร็วสุดช่วงไตรมาส 1/2568 และจะค่อย ๆ ชะลอลงเมื่อเทียบช่วงครึ่งหลัง เนื่องจากมีเรื่องของฐานปีก่อน ประกอบกับช่วงครึ่งแรกปีนี้ยังได้อานิสงส์ของการเร่งส่งออกเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายภาษี และทั้ง 2 ปัจจัยทำให้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปี
ปรับ GDP ลงต่ำกว่า 2.4%

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หลัก ๆ มาจากการหยุดชะงักหรือเลื่อนออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี หากรวมความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน การทรุดตัว/การสั่นสะเทือนของอาคารบางแห่งเพิ่มเติม รวมถึงการซ่อมแซมและการเคลมประกันหลังจากนี้ ผลกระทบจะมากกว่านี้ นอกจากนี้มองว่าในด้านธุรกิจ จะมีผลกระทบด้านลบต่อยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจช้าลงในบางโครงการ อีกทั้งจะเห็นพฤติกรรมความต้องการเช่า (ไม่ต้องการเป็นเจ้าของ) ที่จะมีมากขึ้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเบื้องต้นว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะมีผลกระทบต่อจีดีพีอยู่ที่ -0.06% ซึ่งทำให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีโอกาสปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.4% แต่ยังรอติดตามการประกาศผลการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ในวันที่ 2 เมษายนนี้ หากไทยโดนภาษีในอัตรา 25% ก็จะส่งผลกระทบต่อ GDP เพิ่มเติมอีกราว -0.3%

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.