ดีเอสไอ-พณ.สอบปมตึก สตง. กสทช.ชูเตือนภัยผ่านทีวี-วิทยุ
SUB_BUA April 02, 2025 09:03 AM

พิษตึก สตง.ถล่มบานหนัก ดีเอสไอ-พาณิชย์ตั้งกรรมการสอบรูดบริษัทต่างด้าวที่รับเหมา เจาะประเด็นมีนอมินี และวัสดุได้มาตรฐานหรือไม่ ขณะที่ผลตรวจเหล็กเส้นจากที่เกิดเหตุ ซึ่งนำมาเป็นตัวอย่างจำนวน 28 ชิ้น 7 ขนาด พบมีปัญหา 2 ขนาดจำนวน 13 เส้น เป็นของบริษัทเหล็กจากจีน ที่เพิ่งถูกสั่งปิดไปเมื่อปลายปี 2567 เพราะปัญหามาตรฐาน คลังระบุสอบเบื้องต้น สตง.จัดซื้อจัดจ้างไม่มีปัญหา รัฐบาลทำแผนเตือนภัยในอนาคตผ่านทีวีรวมการเฉพาะกิจและวิทยุ ทันทีที่เกิดเรื่อง

จากกรณีเกิดแผนดินไหวที่ประเทศเมียนมา จนส่งแรงกระเพื่อมมาถึงประเทศไทยหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ เป็นเหตุให้มีอาคารสูงหลายแห่งได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะอาคารที่กำลังก่อสร้างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ย่านหมอชิต ถึงกับถล่มลงมาจนมีแรงงานบาดเจ็บ-เสียชีวิต และติดอยู่ในซากจำนวนมาก ทำให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด รวมถึงหารือถึงมาตรการเตือนภัยหากเกิดเหตุภัยพิบัติในอนาคต

เหล็กอาคาร สตง.มีปัญหา

ความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุอาคาร สตง.ถล่ม นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลการตรวจสอบตัวอย่างเหล็กของตึก สตง. ทั้งหมด 7 ขนาดจากจำนวน 28 ชิ้น พบว่ามีเหล็ก 2 ขนาด คือ เหล็กข้ออ้อย 20 มม. กับเหล็กข้ออ้อย 32 มม.ไม่ได้มาตรฐาน ที่เหลือส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐานทั้งทางเคมีและทางกล

อย่างไรก็ตาม มีเหล็กบางรายการ “ตกเกรด” เช่น มีมวลต่อเมตรที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหมายถึง น้ำหนักเหล็กหายไป เช่น เหล็ก 1 เมตร จะต้องมีน้ำหนัก 10 กก. แต่พบว่ามีน้ำหนักแค่ 9.5 กก.เท่านั้น ซึ่งเรียกว่า “เหล็กเบา” และจะต้องมีการเก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่ม เพราะที่นำมาวิเคราะห์วันนี้เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น

“เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน หากนำไปใช้ในงานก่อสร้างจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า อาคารจะพัง เพราะความจริงแล้วการเกิดเหตุตึกถล่มจะมีหลายปัจจัยทั้งโครงสร้างและแวดล้อมอื่น ๆ มาประกอบ” นายวิโรจน์กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า เหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. ที่ไม่ผ่านมาตรฐานในเรื่องของน้ำหนักมวลต่อเมตร หรือเป็นเหล็กเบา ส่วนเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มม.ไม่ผ่านมาตรฐานในเรื่องของแรงต้านที่ดึงถูกทางหรือเมื่อดึงแล้วไม่หดตัวกลับ

มาจากโรงงานที่ถูกปิดไปแล้ว

ด้าน น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันเหล็กฯใช้เวลาการตรวจสอบเหล็กทุกท่อนมากกว่า 4 ชั่วโมง โดยมีเหล็กนำมาตรวจสอบทั้งหมด 28 ชิ้น 7 ขนาด ประกอบด้วย 1) เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น ยี่ห้อ SKY (บริษัท ซินเคอหยวน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง) 2) เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น ยี่ห้อ SKY

3) เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 20 มม. จำนวน 6 เส้น ยี่ห้อ SKY 4) เหล็กข้ออ้อย SD50T ขนาด 25 มม. จำนวน 2 เส้น ยี่ห้อ SKY 5) เหล็กข้ออ้อย SD50T ขนาด 32 มม. จำนวน 7 เส้น ยี่ห้อ SKY 2 เส้น TATA (บริษัท ทาทา สตีล) 4 เส้น และยี่ห้อ TYS (บริษัท ทีวาย สตีล เครือบริษัทไทยคูน ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย) 1 เส้น 6) เหล็กเส้นกลม SR24 ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น ยี่ห้อ SKY และ 7) ลวดสลิงขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น

ผลตรวจพบว่าเหล็ก 15 เส้น 5 ขนาดได้มาตรฐาน ส่วนเหล็ก 13 เส้น 2 ขนาด คือ ขนาด 20 มม. และ 32 มม. ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเหล็กทั้ง 2 ขนาดนี้มาจากบริษัทเดียวกัน (บริษัท ซินเคอหยวน) ซึ่งเป็นโรงงานเหล็กจีน ที่ถูกสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สั่งปิดไปในช่วงเดือนธันวาคม 2567 และปัจจุบันก็ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ

“เราต้องตรวจสอบย้อนหลังกลับไปว่า เหล็กข้ออ้อยลอตนี้นำมาใช้ก่อสร้างตึก สตง.เมื่อไร เพราะ ซินเคอหยวน ถูกสิ่งปิดชั่วคราวไปเมื่อ 4 เดือนก่อน หากพบว่าลักลอบนำเหล็กไม่ได้มาตรฐานออกมาใช้ ก็ต้องดำเนินคดี” น.ส.ฐิติภัสร์กล่าว

อาคาร สตง.แบบพื้นไร้คาน

รศ.ดร.กิจพัฒน์ ภู่วรวรรณ กรรมการวิศวกรรมโยธาและประธานคณะอนุกรรมการโครงสร้างเหล็ก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า อาคาร สตง. เป็นนวัตกรรมการก่อสร้างแบบพื้นไร้คาน การก่อสร้างรูปแบบดังกล่าวมีในไทยมานานแล้วประมาณ 10 ปี ข้อดีคือสร้างง่าย เร็ว ประหยัดเวลา ใช้แรงงานน้อย ทำให้การสร้างอาคารมีต้นทุนลดลง

อย่างไรก็ตาม การสร้างแบบไร้คานนี้จะมีความน่ากังวลคือ เรื่อง “การออกแบบ” ที่ต้องวางงานระบบให้เสร็จไปพร้อมกัน เพราะหากสร้างเสร็จแล้วจะมาเจาะหรือวางงานระบบเพิ่มจะยากและอาจมีผลต่อโครงสร้าง เมื่อไม่มีคานหากเกิดอาคารถล่มจะทำให้พื้นหล่นลงมาทับกันเป็นชั้น ๆ ต่างกับการสร้างแบบมีคาน ถ้าถล่มพื้นจะยังคงค้างอยู่บ้าง ไม่หล่นทับมาทั้งหมด

“ถามว่าในอนาคตเป็นไปได้หรือไม่ที่การสร้างแบบไร้คานจะไม่อนุญาตให้ทำแล้ว ตามหลักวิศวกรแล้วการสร้างอาคารแบบมีคานไม่ได้บอกว่าปลอดภัยกว่าไม่มีคาน เพราะสาเหตุของการถล่มมันมีหลายองค์ประกอบ การออกแบบ วัสดุที่ใช้ และพื้นที่ มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกหรือห้ามไม่ให้สร้างแบบไร้คาน มันอยู่ที่ว่าออกแบบมาถูกหลักวิศวกรไหม ใช้วัสดุถูกประเภทไหมมากกว่า” รศ.ดร.กิจพัฒน์กล่าว

เอกนัฏตรวจโรงเหล็กอีกรอบ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เหล็กที่มีปัญหามาจากผู้ผลิตที่กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งหยุดโรงงานไปแล้ว เมื่อเดือน ธ.ค. 2567 แต่การก่อสร้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 สร้างมาแล้ว 5 ปี จึงต้องตรวจสอบว่าเป็นเหล็กลอตไหน อย่างไรก็ตาม เตรียมลงพื้นที่ตรวจโรงงาน ซินเคอหยวน ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่สั่งปิดอีกครั้ง

เนื่องจาก สส. ประชาชนในพื้นที่ พบว่าโรงงานดังกล่าวยังมีความเคลื่อนไหว พบรถบรรทุกทำงานอยู่ ทั้งที่มีการสั่งปิดตั้งแต่ปี 2567 ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการลักลอบผลิตเหล็กอยู่หรือไม่ ทั้งนี้หากพื้นที่แล้วตรวจพบและพบว่ามีการลักลอบจะถูกตั้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดีเพิ่มอีก

ชง ครม.ออกแผนเยียวยา

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เหตุตึกถล่มจากแผ่นดินไหว ว่าเรื่องการเยียวยาจะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติที่มีการกระทำผิดทางอาญาเกิดขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวหากมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ประมาททำให้เสียชีวิต ถือเป็นฐานความผิดทางอาญา จะไปเข้าข้อกฎหมาย แต่ในการช่วยเหลือเยียวยาของเหตุภัยพิบัติ มีหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของรัฐบาลมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เหมือนโศกนาฏกรรม ต้องดูแลช่วยเหลือเต็มที่ ดังนั้นการเยียวยาทางด้านจิตใจและที่เป็นตัวเงินจะต้องมี ซึ่งในการเยียวยาเหตุภัยพิบัติสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอให้คดีสิ้นสุด นอกจากนี้ รัฐบาลอาจมีมติคณะรัฐมนตรีในการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม สำหรับของกระทรวงยุติธรรมจะเข้าไปดูแลเรื่องหนี้สินครัวเรือน

สอบบริษัทรับเหมาต่างด้าว

กรณีบริษัทสร้างอาคาร สตง. มีอยู่ 3 ประเด็นที่ต้องตรวจสอบ คือ 1.การประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าวที่ใช้นอมินี เท่าที่ดูจากงบการเงินที่เผยแพร่กันอยู่ของบริษัทดังกล่าว ขาดทุนมาตลอด และไม่มีการเสียภาษี อีกทั้งนำเงินของบริษัทไปให้กรรมการกู้ แม้อำนาจที่แท้จริงจะให้ต่างชาติ 49% ไทย 51% แต่หากมองในลักษณะมีอำนาจครอบงำ จะเห็นในเรื่องของการบริหาร ต้องดูว่าการกระทำใดที่เป็นความผิดในพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าว และเข้าข่ายที่จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าไปดำเนินการหรือไม่

2.หากสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ดีเอสไอมีอำนาจในการสอบสวน และ 3.การจัดซื้อจัดจ้าง ที่เรียกว่าฮั้วประมูล หากเกินกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป กรมสอบสวนคดีพิเศษก็มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ

เมื่อถามว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 มีบริษัทเครือข่ายเดียวกันกว่า 24 บริษัท พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ทราบจากการรายงานของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือการตรวจสอบว่า เพราะเหตุใดถึงเกิดเหตุแค่ตึกเดียว จะดูว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งมีข้อมูลทางทะเบียนไปตรวจสอบ เรื่องการเสียภาษี ที่เกี่ยวกับกรมสรรพากร รวมถึงการตรวจสอบในเชิงลึก ได้กำชับให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งดำเนินการ

พณ.พบโยงกับอีก 13 บริษัท

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงข้อสังเกตการใช้นอมินีคนไทยถือหุ้น บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) 51% ว่า ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กรมสรรพากร

ลงไปตรวจสอบโดยใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ให้ดำเนินการเรื่องนี้และสรุปภายใน 7 วัน“เบื้องต้นพบว่าบริษัทนี้เกี่ยวพันกับบริษัทอื่น ๆ อีกประมาณ 13 บริษัท และทั้งหมดทำงานและรับงานที่ไหนบ้าง เราจะตรวจสอบและดำเนินการอย่างเข้มข้นตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกฉบับ”

คลังยันจัดซื้อจัดจ้างรัดกุม

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีการก่อสร้างตึก สตง. ยืนยันว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างค่อนข้างรัดกุม ที่ผ่านมากระทรวงการคลังทบทวนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างต่อเนื่องและจัดเกรดผู้รับเหมาขนาดใหญ่ ซึ่งในรายละเอียดผู้รับเหมาขนาดใหญ่พิเศษก็จะต้องมีการเข้าไปดูด้วย

ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า ตึกที่ประสบเหตุทำประกันภัยการก่อสร้างไว้ มูลค่ารับประกัน 2,100 ล้านบาท ผ่าน 4 บริษัท ทั้งนี้ ฐานะการเงินบริษัทดังกล่าวมีความมั่นใจว่าสามารถรับประกันได้

ตึก สตง.ถล่ม ผลกระทบ 800 ล้าน

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า การรับประกันตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่พังถล่มนั้น ตามที่ทราบมีบริษัทร่วมรับประกันภัยอยู่ทั้งหมด 4 บริษัท คือ ทิพยประกันภัย 40%, กรุงเทพประกันภัย 25%, อินทรประกันภัย 25% และวิริยะประกันภัย 10%

สำหรับทิพยประกันภัยได้มีการบริหารความเสี่ยงโดยส่งประกันภัยต่อให้กับบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ สัดส่วน 95% รับประกันไว้เองแค่ 5%

ตอนนี้ยังไม่รู้มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงของโครงการนี้ แต่ถ้าให้คาดคะเนโดยประเมินจากมูลค่าความเสียหาย ทำประกันภัยรวมมูลค่าความคุ้มครอง 2,241 ล้านบาท ซึ่งจากข่าวที่ระบุว่าดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 30% บ้าง หรือ 40-50% บ้างนั้น ขอยกตัวอย่างการก่อสร้างไปแล้ว 50% จะเท่ากับมูลค่าที่มีการทำประกันประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งสัญญาประกันฉบับนี้จะมีความรับผิดชอบส่วนแรก (Deductible) ประมาณ 20% ดังนั้นบริษัทประกันจะจ่ายความเสียหายประมาณกว่า 800 ล้านบาท

สั่ง ปภ.ทำแผนเผชิญภัยพิบัติ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการที่นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำแผน และมาตรการป้องกันภัยพิบัติทุกรูปแบบภายใน 30 วันว่า จะกลับไปสั่งการให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดทำแผนบูรณาการที่ไม่ใช่เฉพาะเหตุแผ่นดินไหวอย่างเดียว แต่รวมถึงภัยพิบัติทุกประเภท และภัยทางไซเบอร์ด้วย เพื่อให้ครอบคลุมในการรายงาน และเชื่อมต่อกับเครือข่ายด้านการสื่อสารอื่น ๆ จะให้แจ้งเตือนภัยให้เร็วที่สุดและครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่

เปิดแนวทางเตือนผ่านทีวี-วิทยุ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมการแก้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยพิบัติในทุกมิติของประเทศที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปกำหนดแนวทางการประกาศสำคัญ ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) และวิทยุกระจายเสียง

โดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาราชการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวในที่ประชุมว่า สรุปข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางยึดถือปฏิบัติ ดังนี้

1.กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรง ฉุกเฉินเร่งด่วนทันที หรือเหตุอื่น ๆ ของชาติ การแถลงการณ์ของนายกฯ ดำเนินการ หรือโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ให้ทุกสถานีโทรทัศน์ต้องเชื่อมโยงสัญญาณถ่ายทอดสดพร้อมกันจากสถานีแม่ข่ายทันที

2.กรณีเหตุภัยพิบัติ หรืออื่นใด เมื่อระดับความรุนแรงลดลง การแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่สำคัญต่อเนื่อง โดย “นายกรัฐมนตรี” ให้สถานีเชื่อมโยงสัญญาณสดโดยพร้อมเพรียงกัน

3.กรณีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ ความคืบหน้าการดำเนินงาน หรือเรื่องสำคัญอื่น ๆ ให้ถ่ายทอดสด โดยสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์อื่น ๆ สามารถเชื่อมสัญญาณหรือนำเนื้อหาไปเผยแพร่ต่อในรูปแบบของข่าว หรือสื่ออื่น ๆ ตามความเหมาะสม

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.