คอนโดกรุงเทพฯ Quick Win สอบผ่านแผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ไม่มีตึกพังทลาย
SUB_NUM April 02, 2025 11:20 AM

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันศุกร์ 28 มีนาคม 2568 จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่สหภาพพม่า แต่แรงสะเทือนส่งต่อระดับความไหวมาถึงกรุงเทพฯ เมืองที่มีตึกสูงทั้งประเภทตึกเตี้ย 8 ชั้น และตึกสูง 40-50 ชั้น หนาแน่นมากถึง 5,994 อาคาร ซึ่งเป็นตึกที่ก่อสร้างเสร็จและมีการใช้อาคารเรียบร้อยแล้ว

น่าสนใจมากที่สุดก็คือ แผ่นดินไหวขั้นรุนแรง 8.2 ริกเตอร์ในประเทศพม่า แรงส่งต่อไม่สามารถสร้างความเสียหายรุนแรงจนทำให้ตึกสูงในกรุงเทพฯ ที่มีการเปิดใช้อาคารแล้ว มีภาพถล่มพังทลายได้แม้แต่ตึกเดียว เรื่องนี้ย่อมไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นเพราะไทยมีกฎหมายต้านแผ่นดินไหวออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 ประเด็นนี้ควรจะเป็นข่าวดี

แต่ทว่า ดันมีข้อยกเว้นจากการก่อสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ “สตง.-สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน” ที่ขอใช้แลนด์แบงก์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณจตุจักร พื้นที่ 11 ไร่ อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคาร 30 ชั้น มีการถล่มพังลงมาทั้งตึก ในทางดำเนินคดีก็มีแนวโน้มสาเหตุพังถล่มไม่น่าจะใช่ภัยพิบัติธรรมชาติ

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ภาพตึก สตง.ที่กำลังก่อสร้างกลายเป็นภาพภาพเดียวที่มีการออกสื่อต่างประเทศใช้โหมประโคมข่าวโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวที่ไม่ได้มีจุดศูนย์กลางอยู่ในเมืองไทย เป็นข่าวร้ายที่กลบข่าวดี และเป็นบททดสอบครั้งสำคัญอีกครั้งสำหรับตลาดคอนโดมิเนียมไทย รวมทั้งธุรกิจตึกสูงทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศบิลดิ้งหรือสำนักงานให้เช่า และโรงแรม 5-6 ดาว

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย อนาคตวงการตึกสูงในเมืองไทยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในตำนานในรอบร้อยปี

คู่เทียบ “โควิด-แผ่นดินไหว” คนและกฎหมายไทยเอาอยู่

ถึงแม้คำถามแรกจะโฟกัสผลกระทบจากแผ่นดินไหว ที่มีภาพตึก สตง.กำลังก่อสร้างถล่มลงมา ซึ่งกระทบกับจิตวิทยาผู้บริโภคที่กลัวการอยู่อาศัยในตึกสูง ซึ่งหมายถึงย่อมกระทบต่อตลาดคอนโดฯโดยตรง ประเด็นนี้ นายกสมาคมคอนโดฯตอบแบบชวนคิด ชวนคุย

“สถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ อยากชวนเปิดมุมมองไปด้วยกัน คีย์เวิร์ดคือเราผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด คิดไม่ถึงมากที่สุด อย่างน้อย 2 เรื่องที่อยากจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์โควิดได้พิสูจน์วงการแพทย์ไทย ซึ่งเราได้รับคำชมจากทั่วโลก แผ่นดินไหวที่พม่า 8.2 ริกเตอร์ ก็ได้พิสูจน์มาตรฐานวงการก่อสร้างตึกสูงไทย ว่าเรามีมาตรฐานความปลอดภัยอาคารอันดับต้น ๆ ของโลก

ตึกที่สร้างเสร็จแล้ว ตึกที่เปิดใช้แล้ว ทุกตึกไม่มีการพังทลายลงมา นี่คือ Quick Win เรื่องแรกของไทย ผมต้องรอเช็กข้อมูลให้มั่นใจเสียก่อนจึงจะออกมาพูดอย่างนี้ได้ เพราะพูดในนามสมาคมคอนโดฯ แม้แต่ตึกที่มีกระจกเยอะ ๆ ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร จึงเป็นประเด็นหลักที่ต้องสื่อสารให้เห็นภาพเดียวกันก่อน ในสภาวะที่สังคมยังแพนิกจากแผ่นดินไหว”

โดยยอมรับว่า บนข่าวดีที่ไม่มีตึกสร้างเสร็จและเปิดใช้แล้วมีการพังทลาย แต่ก็แน่นอนว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ ผลกระทบตึกสูงอาจมีเรื่องความเสียหายจากวัสดุหุ้มบ้าง และงานตกแต่งบางส่วน เป็นเรื่องที่เจ้าของอาคารหรือผู้บริหารจัดการอาคารต้องเข้าไปตรวจสอบแก้ไข ซ่อมแซม เรื่องก็จบแล้ว เพราะเป็นความเสียหายจาก “ส่วนควบ” ของตึก ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากโครงสร้างหลัก

สรุปคำถามสำคัญว่าแผ่นดินไหวจะทำให้ตลาดคอนโดฯ ปี 2568 ถึงกับล่มสลายหรือไม่ เพราะเกิดในช่วงต้นปี คำตอบคือ “…ไม่หรอก กลับตรงกันข้ามกัน ด้วยความตระหนกของคนที่มีการเห็นรอยร้าว มีวัสดุหลุดร่อนออกมา แต่อย่าลืมดู และดูด้วยความเป็นธรรม ไม่ได้เข้าข้างธุรกิจตัวเอง ข้อเท็จจริงไม่มีตึกไหนที่เปิดใช้อาคารแล้วมีคนเสียชีวิตจากการใช้อาคาร

เรื่องนี้จึงเป็นการพิสูจน์ข้อกฎหมายและข้อบังคับกฎหมายก่อสร้างและควบคุมอาคารของไทย ที่มีโครงสร้างกฎหมายรองรับเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2550 และถูกปฏิบัติมาด้วยความเข้มงวด ซึ่งการก่อสร้างต้านแผ่นดินไหว กฎหมายแม่ออกมาปี 2550 แล้วมีการแก้ไขปรับปรุงบางส่วนเล็กน้อย ในปี 2552 กับปี 2564 โดยปรับปรุงรายละเอียดปลีกย่อย เพราะหลักการของกฎหมายปี 2550 ก็เอาอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่ไทยโชคดีที่มีโครงสร้างกฎหมายรองรับระยะยาว”

คำสรุปซ้อนสรุปก็คือ “ตึกสูงในกรุงเทพฯทั้งหมดไม่พังทลาย เป็นเพราะเราลงทุนกับเรื่องการก่อสร้างต้านแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2550 วันนี้ออกดอกออกผล วันนี้เราต้องฉายภาพเรื่องนี้ออกไปสู่ต่างประเทศ เผลอ ๆ เราอาจจะส่งออกการก่อสร้างตึกสูงโดยคนไทยออกไปต่างประเทศ เพราะพิสูจน์แล้วว่าระบบมาตรฐานเมืองไทยเอาไปใช้ทั่วโลกได้ เพราะรองรับแผ่นดินไหวขนาดนี้ ตึกไม่วิบัติ คุ้มกับการลงทุนระยะยาว”

จับตาตึกสร้างก่อนกฎหมายต้านแผ่นดินไหวปี 2550

ในเมื่อมีการย้ำหมุดว่าประเทศไทยมีกฎหมายต้านแผ่นดินไหวบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 คำถามต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของตึกที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 จะเป็นยังไง และจะอยู่กันอย่างไร

“ก่อนปี 2550 เมื่อก่อนโชคดีที่บ้านเราวงการตึกสูงเพิ่งมาบูมช่วงหลังปี 2550 ก่อนหน้านั้นไม่มีตึกสูงมากนัก ความสูงอย่างมาก 10-20 ชั้นเท่านั้นเอง และจะเห็นว่ากฎหมายต้านแผ่นดินไหว เราใช้ในปี 2550 แต่เรื่อง Code of Conduct (หลักปฏิบัติในการทำงาน) การก่อสร้างเรามีกฎหมายเฉพาะออกมาใช้บังคับอยู่แล้ว โดยที่กฎหมายปี 2550 ออกมาเพื่อมา Lean ไม่ให้หลุด Code of Conduct ในเรื่องแผ่นดินไหว

เพราะฉะนั้น ตึกที่สร้างก่อนปี 2550 สามารถมั่นใจได้ว่ามีความแข็งแรงเพียงพอ มีการดีไซน์ตึกให้แข็งแรงเยอะอยู่แล้ว หลายอาคารมีการคำนวณเซฟตี้แฟกเตอร์เยอะเกินกฎหมายกำหนดด้วยซ้ำไป ทำให้ไม่เกิดปัญหา และแผ่นดินไหววันนี้ก็พิสูจน์ว่าตึกที่สร้างก่อนปี 2550 ก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน”

แน่นอนว่ากฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น กรณีอาคารสร้างก่อนปี 2550 ผลกระทบจากแผ่นดินไหวก็มีข้อยกเว้นสำหรับตึกเก่าโบราณ อายุตึกนับหลัก 100 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นตึกศิลปวัฒนธรรมทั้งหลาย อาทิ วัดวาอาราม ที่ปรากฏมีพระพุทธรูปแตกหัก โบราณสถานร้าว เพราะการก่อสร้างไม่ได้รองรับแผ่นดินไหวไว้ จึงเป็นเรื่องที่กรมศิลปากรต้องเข้าไปดูแล

“ที่อยู่อาศัยแนวสูงไม่มีคอลแลบส์ (พังทลาย) เลย จะมีบ้านเรือนใกล้พม่าทางภาคเหนือของไทยที่อาจจะคอลแลบส์ลงมาเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะสร้างแบบชาวบ้านสร้างเองก็มี สร้างจากเสาเข็มหกเหลี่ยมบ้าง ไม่ลงเสาเข็มบ้าง แผ่นดินไหวรุนแรงก็พังลงมา ในขณะที่ตึกสูงมีโครงสร้างกฎหมายรองรับไว้หมดแล้ว นี่คือเหตุการณ์ที่สร้างภูมิรู้ให้สังคมได้เรียนรู้ไปด้วยกัน”

โจทย์หิน 8.2 ริกเตอร์ ทุบมู้ดคนไม่กล้าอยู่ตึกสูง

ถึงแม้มาตรฐานความปลอดภัยและแข็งแรงของตึกสูงในไทยสอบผ่านจากการไม่มีตึกสร้างเสร็จพังทลาย แต่ผลกระทบแผ่นดินไหวเขย่าขวัญและกำลังใจผู้บริโภคกระเจิดกระเจิงแบบกู่ไม่กลับในช่วงที่เหตุการณ์เพิ่งเกิดสด ๆ ร้อน ๆ ประเด็นนี้ นายกสมาคมคอนโดฯยอมรับว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรอก เปรียบเทียบกับปี 2554 ที่มีมหาอุทกภัย น้ำท่วมทาวน์เฮาส์ทำเลชานเมือง กลุ่มลูกค้าบลูคอลลาร์ หรือมนุษย์เงินเดือน เห็นน้ำท่วมบ้าน 2 เมตร กับตาตัวเอง คนที่ซื้อแล้วและกำลังจะโอนไม่ยอมมารับโอนบ้าน แต่หลังจากน้ำแห้ง มู้ดผู้บริโภคก็เปลี่ยน เมื่อมีรายได้ก็กลับมารับโอนทาวน์เฮาส์กันหมด เป็นรูปแบบที่เรียกว่า no choice cannot change

“แผ่นดินไหวอาจกระตุกความรู้สึกคน 1-2 เดือน แต่โมเดล no choice cannot change เมื่อได้สติจะรู้ว่าการอยู่ตึกสูงปลอดภัย ไม่มีตึกถล่มลงมาแม้แต่ตึกเดียว แม้กระทั่งมีแผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ แม้จะมีความเสียหายจากวัสดุตกแต่ง แต่โครงสร้างอาคารตึกสูงโปรเท็กต์ชีวิตคนได้ทั้งตึก น่าจะเป็นสิ่งที่ถ้าคนเริ่มหายตระหนก จะเริ่มเข้าใจขึ้น”

พร้อมกับเปิดมุมมองใหม่ ๆ ว่า โนว์เลจเบสประเทศไทยอยู่ในสาขาแพทย์กับวิศวกรรม โดยวิศวะโยธาบ้านเราเป็นอันดับหนึ่งในสมัยก่อน ยุคนี้เป็นวิศวะไอที แต่ยุคก่อนหน้านี้ใครเก่งที่สุดเข้าเรียนวิศวะโยธา อีกอาชีพคือสถาปนิก แบบแปลนต้องสวยและต้องแข็งแรง ผ่าน Code of Conduct ด้านความแข็งแรงปลอดภัยของวิศวกรด้วย

“…เรื่องนี้สำคัญมาก มันสมองบ้านเรา ทรัพยากรมนุษย์บ้านเรา คนที่เก่ง ๆ อยู่ใน 2 อุตสาหกรรม คือวงการแพทย์กับวิศวกร นี่คือสิ่งที่เราโชคดี อินฟราสตรักเจอร์ด้านฮิวแมนรีซอร์ซบ้านเราคือสองวงการนี้ ทำให้แม้เกิดแผ่นดินไหวที่เราไม่เคยเจอ วันนี้เราสอบผ่าน”

สอบผ่าน Quick Win-สเต็ป 2 สร้างความเชื่อมั่น

สถานการณ์แผ่นดินไหวต้องใช้คำว่าทำงานแข่งกับเวลาจริง ๆ สำหรับบิ๊กแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ โดย CEO แบรนด์ใหญ่-แบรนด์กลางล้วนขนทีมวิศวกรลงภาคสนาม เร่งตรวจสอบอาคารทุกโครงการในเครือ ออกมาตรการดูแลการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพราะปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาก่อน เป็นจังหวะเวลาที่การทุ่มเทเรื่องแบรนดิ้งจะออกดอกออกผลว่าลูกค้าให้ความไว้วางใจกับแบรนด์มากน้อยแค่ไหน (อ่านประกอบหน้า 6 “แผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ บททดสอบความเชื่อมั่นคอนโด-ตึกสูงในไทย)

“ตั้งแต่วันเกิดแผ่นดินไหว ทุกคนเทกแอ็กชั่นหมดแล้ว ไม่ว่า ศุภาลัย แสนสิริ ออริจิ้นฯ อนันดาฯ พฤกษาฯ เอพี และทุก ๆ แบรนด์ เทกแอ็กชั่นในการดูแล Quick Win ก่อนทุกโครงการ หลังจากนั้นก็เทกแอ็กชั่น Third Party เข้าไปในสเต็ปที่ 2 จัดให้มีที่ปรึกษาทางวิศวกรรมที่เป็นกลาง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความเชื่อมั่นกลับมา วันนี้ต้องเอาความเดือดร้อนประชาชนเป็นที่ตั้งก่อน ให้เขาสามารถเข้าไปใช้ไปอยู่อาศัยในอาคารได้ก่อน เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวระบบลิฟต์ตัดอัตโนมัติ ระบบน้ำ ระบบดับเพลิงอาจมีการหลุดรั่วได้ เพราะมีการ “ให้ตัว” (หรือโยก) ของอาคาร และอาจเชื่อมกับระบบอื่น ๆ

ฉะนั้นวันนี้เราต้องให้มี Quick Win เพื่อให้อาคารเปิดใช้ได้ก่อน ซึ่งทุกคนทำหมดเลย ทำหมดแล้ว ผู้ประกอบการร่วมกันทำหมดแล้ว โดยส่วนราชการทั้ง กทม. (กรุงเทพมหานคร) ผังเมือง (กรมโยธาธิการและผังเมือง) สภาวิศวกร เป็นตัวกลางเข้าไปเช็กอัพโครงสร้างว่ามีความปลอดภัยระดับไหน ต้องมีการแก้ไขอย่างไร ซึ่งการแก้ไขเชื่อว่าสามารถแก้ไขได้ทั้งหมด”

อีกคำถามที่อยากรู้ ภาพตึก สตง.กำลังสร้างแต่ถล่มลงมา กระทบลูกค้าต่างชาติมากน้อยแค่ไหน

“…นี่คือสิ่งที่ต้องช่วยกันในการคอมมิวนิเคชั่น ภาพที่ออกไปเป็นภาพตึกถล่มของ สตง.ในต่างประเทศ สมาคมคอนโดฯจึงต้องทำแถลงการณ์ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน แสดงข้อมูลว่าตึกไทยปลอดภัยจากแผ่นดินไหวทุกประการ เพราะตอนนี้มีแต่ภาพตึก สตง.ถล่มชอตเดียวเลย CNN ก็เล่นแต่ภาพนี้ชอตเดียวเลย เราคนไทยต้องช่วยกันสื่อสารข้อเท็จจริงออกไป ผลกระทบแผ่นดินไหววันนี้เป็นความเสียหายเชิงไมเนอร์แดมเมจ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยก่อน เราไม่มีภัยพิบัติเรื่องอย่างนี้บ่อย ๆ”

วันนี้คนตกใจ ต้องให้คนหายตกใจก่อน คนไทยโชคดีมาก ๆ ที่กฎหมายต้านแผ่นดินไหวมีมาตรฐานสูง คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินประชาชนได้ในระยะยาว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.