วรภพ ชี้ ค่าไฟลดไม่จริง ครม.แค่รับทราบเป้าหมายเท่านั้น จับตา รบ.จ่อลงนามซื้อเพิ่มอีก 1,500 MW
GH News April 02, 2025 05:20 PM

วรภพ ชี้ ค่าไฟลดไม่จริง ครม.แค่รับทราบเป้าหมายเท่านั้น จับตา รบ.จ่อลงนามซื้อเพิ่มอีก 1,500 MW

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลดค่าไฟลงเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ว่า ในฐานะที่ติดตามและเสนอแนวทางในการลดค่าไฟ ไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีการตอบรับใดๆ พอได้เห็นข่าว ก็รู้สึกดีใจ แต่เมื่อไปดูในมติ ครม. ของจริง ก็ต้องผิดหวังที่ เป็นเพียง มติ ครม. ที่รับทราบค่าไฟเป้าหมาย และ ให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปหาแนวทางเพื่อให้ลดค่าไฟได้ คือ ครม. ยังไม่มีข้อสรุปในการลดค่าไฟและ กกพ. ก็พึ่งประกาศสัปดาห์ก่อนหน้าว่า ค่าไฟงวด พ.ค. – ส.ค. 68 จะคงค่าไฟที่ 4.15 บาท/หน่วย เพราะ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในแนวทางการลดค่าไฟ จาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

แต่แนวทางลดค่าไฟ นั้นมีข้อเสนอมาหลายครั้ง ส.อ.ท. ก็เสนอมาหลายรอบ ก็คือ รัฐบาลต้องริเริ่มเจรจาแก้ไขสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่เป็นธรรม ทั้ง โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง (ค่าความพร้อมจ่าย) หรือ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ค่า adder) เพียงแต่ต้องใช้เจตจำนงทางการเมืองในการเจรจากับกลุ่มทุนพลังงาน ที่ล้วนสนิทสนมกับ นายกรัฐมนตรี และ พ่อนายกฯ อยู่แล้วด้วย แต่รัฐบาลกลับยังไม่เริ่มเลยด้วยซ้ำ

นายวรภพ กล่าวว่าที่สำคัญ ค่าไฟเดิมยังลดไม่ได้ แต่รู้ไหมว่า รัฐบาล กำลังจะ ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกประมาณ 1,500 MW ที่จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้น ตลอดอายุสัญญา 25 ปี ข้างหน้าเพราะโครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสแรก รอบ 5,200 MW กำลังจะถึงกำหนดให้รัฐบาล ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก (โดยไม่เปิดประมูล) หลังสงกรานต์ 19 เม.ย. นี้ ทั้งๆที่ รัฐบาลก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ค่าไฟที่ รัฐบาลกำลังจะไปซื้อจากเอกชน โดยที่ไม่เปิดประมูล Solar 2.2 บาท/หน่วย นั้น แพงเกินไป และจะทำให้ค่าไฟประชาชนแพงขึ้น

นายวรภพ กล่าวว่า โครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสแรก นี้ เคยมีคำสั่งทุเลาจากศาลปกครองมาแล้วด้วย ว่า “กระบวนการคัดเลือก ไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม และจะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ได้” จากการที่เป็นโครงการรับซื้อที่ไม่เปิดประมูล และ ไม่มีประกาศหลักเกณฑ์ในการคำนวนคะแนนเทคนิคล่วงหน้า ที่กลายเป็นการให้ใช้ดุลพินิจในการจิ้มเลือกเอกชนได้ และ มติ กพช. (นายกฯ เป็น ประธาน) มีอำนาจเต็มในการยกเลิกโครงการนี้ได้ แต่ต้องมีมติ ยกเลิก/ชลอ ก่อนลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเท่านั้น ถึงจะยกเลิกได้ ดังนั้น จึงหมายความว่า ถ้าเลยวันที่ 19 เม.ย. นี้ รัฐบาล นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธาน กพช. ยังไม่มีมติ ชลอ หรือ ยกเลิก โครงการการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสแรก ที่เหลือยังไม่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า อีก 1,500 MW นี้ ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าประชาชนในอนาคตต้องแพงขึ้นไปอีก 25 ปี จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้านี้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.