เปิด 13 โครงการรัฐที่สร้าง-ร่วมสร้างโดยบริษัทรับเหมาจีน ‘ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10’ ดีกรีผู้รับเหมาก่อสร้างตึก สตง. สร้างตึก อาคาร และสำนักงานอะไรในไทยบ้าง ?
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สูง 30 ชั้น มูลค่างานก่อสร้างกว่า 2,136 ล้านบาท ย่านจตุจักร พังถล่มลงมาก่อนจะได้ใช้งาน
อาคารนี้สร้างอยู่บนที่ดินเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด
หนึ่งในความน่าสงสัยของทุกคนที่ตั้งคำถามว่า ทำไมตึกนี้เป็นตึกเดียวที่เกิดการถล่มลงมา ณ ขณะนี้ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้รอดชีวิต และตามหาผู้สูญหาย ตกเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานราชการ เช่นเดียวกะการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่นี้
เช่นเดียวกับประชาชนที่เริ่มสืบหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพุ่งข้อสงสัยไปที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างอย่างบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด หรือ CREC10 ว่าเป็นบริษัทสัญชาติไหน และมีที่มาอย่างไร
และสิ่งที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ เป็นบริษัทสัญชาติจีนที่มีโครงการรัฐในมือไว้มากกว่า 10 แห่ง ซึ่งมีทั้งประเภทกิจการร่วมค้ากับบริษัทผู้รับเหมาอื่น ๆ ดังนี้
1. หอพักบุคลากรทางการแพทย์ ม.แม่ฟ้าหลวง งบประมาณ 468 ล้านบาท ผู้ชนะประมูล คือ กิจการร่วมค้า ทีพีซี แต่จากการตรวจสอบพบว่า ที่อยู่ในใบติดต่อรับสมัครงานอยู่ที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 กรุงเทพฯ ที่เดียวกับบริษัท China Railway No.10 (ประเทศไทย)
2. โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร
3. ทาวน์โฮม 2 ชั้น และอื่น ๆ ตามโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 343 ล้านบาท (เคหะแห่งชาติ)
4. อาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้างของโรงเรียนวัดอมรินทราราม วงเงิน 160 ล้านบาท (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
5. ท่าอากาศยานนราธิวาส งบประมาณ 640 ล้านบาท เริ่มสัญญา 16 มีนาคม 2565- สิ้นสุดสัญญา 29 พฤศจิกายน 2567 กิจการร่วมค้า CIS ร่วมมือกับบริษัท ไอเอสโอ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ปัจจุบันยังสร้างไม่ถึงครึ่ง
ล่าสุด นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งกรมท่าอากาศยาน เตรียมยกเลิกสัญญาแล้ว เนื่องจากผิดสัญญาจ้าง ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
6. อาคารคลังพัสดุ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ งบประมาณ 146,121,352 บาท (คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี ม.มหิดล)
7. หอพักนักศึกษา ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 1 หลัง งบประมาณ 132 ล้านบาท (ม.ราชภัฏภูเก็ต)
8. ศูนย์ราชการ จ.แพร่ งบประมาณ 540 ล้านบาท เป็นกิจการร่วมค้า AKC ร่วมมือกับบริษัท อัครกร ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ก่อสร้างเสร็จไปเพียง 19% ด้วยเหตุผลของงบประมาณที่มีการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามงวด
อย่างไรก็ตามทางผู้ว่าฯ ได้ออกประกาศเร่งรัดและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันธ์จากปีงบประมาณ 2563-2565 เป็นปี 2566 ด้วยงบประมาณกว่า 657 กว่าล้าน แล้วกำหนดให้เสร็จภายในปี 2567
9. ศูนย์ฝึกกีฬามวยสากลของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) งบประมาณ 608.4 ล้านบาท ตั้งแต่ 30 กันยายน 2564 ถึง 16 กุมภาพันธ์ 2567 ปัจจุบันยังสร้างไม่เสร็จ
10. อาคารศูนย์บริการลูกค้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.ภูเก็ต กิจการร่วมค้า AKC งบประมาณ 210 ล้านบาท เริ่มสัญญาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 – ปี 2565 แต่ปัจจุบันยังคงสถานะก่อสร้างไม่เสร็จ
11. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จ.นนทบุรี ระยะเวลาก่อสร้าง 540 วัน งบประมาณ 716.45 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เมื่อปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เดินทางมาเป็นประธานวางศิลฤกษ์ด้วยตัวเองบนพื้นที่ราชพัสดุกว่า 14 ไร่
12. อาคารผู้ป่วยภายนอกและอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสงขลา งบประมาณ 426 ล้านบาท ในระยะเวลาก่อสร้าง เริ่มสัญญา 30 สิงหาคม 2565 – สิ้นสุดสัญญา 24 กรกฎาคม 2568 รายละเอียดโครงการระบุว่า เป็นอาคาร คสล. 9 ชั้น (โครงสร้างต้านแผ่นดินไหว) ปัจจุบันยังสร้างไม่เสร็จ
13. อาคารที่ทำการศาลแพ่ง-อาญา มีนบุรี กิจการร่วมค้า เอ ซี คอนสตรัคชั่น งบประมาณ 783 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 21 เมษายน 2565 – สิ้นสุดสัญญา 12 สิงหาคม 2568 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ข้อมูลจาก CSI LA