เป็นที่คาดกันว่า โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐจะประกาศมาตรการภาษีรอบใหม่เพิ่มเติม หลังตลาดหุ้นสหรัฐปิดลงในวันที่ 2 เมษายน 2025 เพื่อดึงฐานการผลิตกลับเข้ามายังสหรัฐ และคะยั้นคะยอให้ประเทศอื่น ๆ ซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น ซึ่งกระทบอุตสาหกรรมหลักของประเทศต่าง ๆ ไม่น้อย
โดยแคนาดา และเม็กซิโก เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีมากที่สุด ขณะที่เวียดนาม เป็นประเทศที่เกินดุลสหรัฐมากเป็นอันดับ 3 และอินเดียเป็นอันดับที่ 11 ซึ่งอุตสาหกรรมแต่ละประเทศจะกระทบอะไรบ้าง ‘ประชาชาติธุรกิจ’ พาไปสำรวจ 3 ประเทศ ดังนี้
คาดว่าคาโนลาจะเป็นพืชที่เสียหายมากที่สุด จากผลกระทบของมาตรการภาษีจากสหรัฐและจีน ซึ่งมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์คาโนลาจากแคนาดารวมกันกว่า 8,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 300,000 ล้านบาท) ในปี 2024
ลอว์เรนซ์ คลูซา (Lawrence Klusa) ประธานเซเจส มาร์เก็ต (Seges Markets) บริษัทที่ปรึกษา กล่าวว่า คาโนลากำลังจะเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ซึ่งขณะนี้เกษตรกรหลายรายซื้อเมล็ดพันธุ์เตรียมไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณอุปสงค์ที่ไม่แน่นอน ยังพอมีเวลาเหลือให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชพันธุ์อื่นทดแทน เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ข้าวโพด และถั่วเลนทิล
ตลาดหวังว่า คาโนลาอาจถูกเลื่อนเก็บภาษีออกไป เพราะสหรัฐยังต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) อยู่มาก ซึ่งปัจจุบันทำได้แค่รอความชัดเจน ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มปรับพฤติกรรมมาบริโภคไขวัว (Tallow) แทนน้ำมันคาโนลาแล้ว
สหรัฐจ่อขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าทั้งคัน (CBU) เพิ่มอีก 25% มีผลวันที่ 3 เมษายนนี้ และจะเรียกเก็บภาษีชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าเพิ่มในวันที่ 3 พฤษภาคม โดยสหรัฐถือเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของอินเดีย คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าอุตสาหกรรม 21,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 725,000 ล้านบาท) ในปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2024 ตามข้อมูลจากมารุติ ซูซูกิ อินเดีย (Maruti Suzuki India)
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของมาตรการภาษียังไม่ชัดเจน ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนการผลิต ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น และขายได้น้อยลง
เวียดนามซึ่งเกินดุลสหรัฐกว่า 123,500 ล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเม็กซิโก และน่าจะตกเป็นเป้าหมายของทรัมป์ในการขึ้นมาตรการภาษี ขณะที่ เวียดนามก็เป็นแหล่งผลิตรองเท้าวิ่งไฮเทค ชุดอุปกรณ์กีฬา และอุปกรณ์กลางแจ้งของหลากหลายแบรนด์เช่นกัน เนื่องจากภาคเอกชนต่างพากันลดการพึ่งพาตลาดจีน
ไนกี้ (Nike) ซึ่งพึ่งพาการผลิตในเวียดนามจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีอย่างมาก โดยรองเท้าที่ผลิตในเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 50% ของการผลิต ขณะที่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายคิดเป็น 28% ในปีงบประมาณ 2024 ส่วนอาดิดาส (Adidas) พึ่งพาเวียดนามน้อยกว่าโดยผลิตรองเท้า 39% และผลิตเสื้อผ้า 18% ของการผลิตทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ออน (On) แบรนด์รองเท้าน้องใหม่ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากไนกี้ได้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็พึ่งพาการผลิตในเวียดนามเช่นกัน มากกว่าไนกี้เสียด้วย โดย 90% ของรองเท้าออนผลิตในเวียดนาม ขณะที่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสูงถึง 60%
จากการคำนวณของศาสตราจารย์ เซิง ลวี่ (Sheng Lu) ประจำหลักสูตรแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย จากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์พบว่า ปัจจุบัน สหรัฐเรียกเก็บภาษีรองเท้านำเข้าจากเวียดนามโดยเฉลี่ยที่ 13.6% และเก็บเครื่องแต่งกาย 18.8% โดยอิงตามข้อมูลการค้าประจำเดือนมกราคม 2025
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญกลับระบุว่า มาตรการภาษีอาจไม่กระทบต่อเวียดนามมากนัก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเครื่องแต่งกาย เนื่องจากจีนน่าจะโดนเรียกเก็บภาษีมากกว่า รวมถึงรัฐบาลเวียดนามที่พยายามเอาใจทรัมป์ ผ่านการลดภาษีศุลกากร และอนุญาตให้สตาร์ลิงก์เปิดบริการในเวียดนามได้
ซึ่ง วิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรกกล่าวว่า ทรัมป์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเวียดนาม และจะไม่โจมตีเวียดนามรุนแรง