"อธิบดีฯทวีศักดิ์" เปิดงานโครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพกรมพัฒนาที่ดิน จัดการตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต
วันที่ 2 เม.ย.68 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินเป็นประธานในพิธีเปิด "โครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพกรมพัฒนาที่ดิน จัดการตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต" ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้านข้าว หมู่ที่ 1 ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี และถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟชบุ๊กกรมพัฒนาที่ดิน โดยมี นายชาคริต อินนะระ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 กล่าวรายงาน นายองอาจ นักฟ้อน ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด สพข. 1 เกษตรกร หมอดินอาสา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานกว่า 200 ราย
ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาเพื่อนเกษตรกรชวนคุย "นวัตกรรมจุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอซังข้าว - ใช้ง่าย ได้ผล ไม่เผา แล้วคุ้มค่า" โดยมี ดร.เมธินี ศรีวัฒนกุล เลขานุการเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัย (GAP Net) เป็นผู้ดำเนินรายการ นายชาคริต อินนะระ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 นายวุฒิชัย จันทรสมบัติ ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 ผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดิน นายสุกรรณ์ สังวรรณะ หมอดินอาสา จังหวัดสุพรรณบุรี นางอุไรรัตน์ มีป้อม ประธานคลัสเตอร์ข้าว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี นายทองพูน เกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมเสวนา
จากนั้น ร่วมชมแปลงสาธิต “สาธิตวิธีการจัดการแปลงฟางและตอซังข้าว โดยการใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอซังข้าว” โดยนายสุกรรณ์ สังวรรณะ หมอดินอาสา จังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึงนิทรรศการจัดการฟางและตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อสร้างความตระหนักให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมที่ไม่เผาฟางและตอซังพืช โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพกรมพัฒนาที่ดิน ช่วยให้คุณสมบัติของดินดีไม่ถูกทำลาย เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน เพื่อช่วยลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง และลดผลกระทบต่อการเกิดภาวะโลกร้อน
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การเผาวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ นำไปสู่ภาวะโลกร้อนหรือภาวะโลกรวน ดินสูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน ทำลายโครงสร้างดินที่เหมาะสม และห่วงโซ่อาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้เล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรดิน จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนัก ความรู้ และความเข้าใจ ให้กับเกษตรกร ทำการเกษตรที่ไม่เผาฟางและตอซังพืช โดยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพกรมพัฒนาที่ดินในการจัดการตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)แล้ว ยังเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน สร้างความสมดุลของระบบนิเวศทางดิน และช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 กล่าวเสริมว่า พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่จัดงานในครั้งนี้เป็นของหมอดินสุกรรณ์ สังข์วรรณะ อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน แต่มีการรวมกลุ่มบริหารจัดการตอซังข้าวโดยไม่เผามาหลาย 10 ปี ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ดินดี ผลผลิตดี จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาเรียนรู้และขยายผลสู่พื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะพื้นที่ 13 จังหวัดภายในความรับผิดชอบของ สพข.1 เพื่อเป็นการขยายผลการใช้เทคโนโลยีชีวภาพกรมพัฒนาที่ดิน สร้างดินดี ผลผลิตดี และสร้างสมดุลระบบนิเวศที่สมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป