ตลาดการลงทุนทั่วโลก ต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างมากจากนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้ผู้บริหารกองทุนต้องรับมือการบริหารจัดการ เพื่อสร้างผลตอบแทน ล่าสุด “ชวินดา หาญรัตนกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในทริปที่เดินทางไปเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว
“ชวินดา” กล่าวว่า การลงทุนในปีนี้ หากดูในภาพรวมประเมินค่อนข้างยากกว่าปีที่ผ่านมา โดยปีที่ผ่านมา ปัจจัยนำตลาดเป็นเรื่องของดอกเบี้ยของสหรัฐ และเห็นได้ชัดว่าดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาลง ซึ่งเป็นผลดีต่อตลาดตราสารหนี้ และตราสารทุน ส่วนในปีนี้ ยอมรับว่าตลาดจะมีความผันผวนสูงมากขึ้น
โดยปัจจัยนำตลาดในปีนี้เป็นเรื่องของนโยบายทรัมป์ โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Tariff) ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ยังคงต้องติดตามว่าจะมีพัฒนาการไปในด้านใด
“ปีนี้เราจะเห็นความผันผวนเกิดขึ้น จึงพยายามบอกนักลงทุน ว่าต้องระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ทรัมป์เป็นปัจจัยสำคัญ การจับจังหวะตลาดสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในตลาดตลอดเวลาจะยากขึ้น เพราะปีนี้เราจะเห็นภาพตลาดไม่ได้ชัดเท่าปีที่ก่อนหน้า”
สำหรับทิศทางการลงทุนในปีนี้ สิ่งที่ยังเหมือนกับปีที่ผ่านมา คือดอกเบี้ยสหรัฐยังอยู่ในทิศทางขาลง โดยประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง ในส่วนของประเทศไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งเช่นกัน ซึ่งปรับลดไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งปีนี้ตลาดจะผันผวน และความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น แต่ในความผันผวนยังมีโอกาสอยู่
“ให้คำนึงถึงความเป็นจริง ว่าตลาดทุนลงมาค่อนข้างหนัก มีโอกาสที่ตีกลับได้ หรือตลาดที่ขึ้นไปสูงก็มีโอกาสที่จะโดนขายทำกำไร (Take Profit) เช่นกัน วันนี้อาจจะเปลี่ยนวิธีการลงทุนใหม่ เมื่อก่อนอาจจะซื้อฝัง ปัจจุบันอาจจะมานั่งพิจารณา ว่าจะ Take Profit ในแต่ละรอบอย่างไร เพราะตลาดจะมีความผันผวนเป็นช่วง ๆ ควรบริหารพอร์ตทุก 3-6 เดือน”
“ชวินดา” กล่าวอีกว่า จากความผันผวนที่มี ในปัจจุบัน KTAM ให้น้ำหนักการลงทุนค่อนข้างมาก (Overweight) ในตราสารหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากดอกเบี้ยยังเป็นขาลงอยู่ และเศรษฐกิจยังชะลอตัวและยังมีความผันผวนสูง
ส่วนตลาดทุนมีมุมมองเป็นกลาง จากความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐ ซึ่งจะกระทบตลาดทุนทั่วโลก โดยมองว่าตลาดหุ้นอย่างยุโรป ในปีนี้ดูดีขึ้น ข้อดี คือเรื่องของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จากที่ผ่านมา นักลงทุนโฟกัสที่สหรัฐเป็นหลัก ปัจจุบันอาจจะเห็นการกระจายไปยังยุโรปมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐยังแน่นมากกว่า ในฝั่งของตลาดหุ้นจีน ภาพรวมดูดีขึ้น โดยได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ที่ตลาดให้ความสนใจในเรื่อง DeepSeek รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่คาดว่าจะดีขึ้น
“เราแนะนำ 4 กลยุทธ์รับความผันผวน ได้แก่ 1.ควรมีการลงทุนต่อเนื่อง และให้ความสนใจกองทุนที่เป็น Asset Allocation (กระจายการลงทุน) มากขึ้น 2.การป้องกันความเสี่ยง ลงหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ หรือการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ลดการกระจุกตัวในการลงทุน
3.นโยบายใหม่ สร้างโอกาสใหม่ ต้องดูว่าทรัมป์จะมีมาตรการในเชิงบวกด้วยหรือไม่ เพราะอาจจะเป็นประโยชน์ในการลงทุนได้เช่นกัน 4.มุ่งการเติบโตระยะยาว อย่างพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงมิติสุขภาพก็ยังมีความสำคัญในสังคมที่มีความสูงวัยขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาว”
สำหรับตลาดหุ้นไทยในปีนี้ “ชวินดา” มองว่า มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ เพราะน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยประเมินเป้าหมายหุ้นไทยสิ้นปีที่ 1,450 จุด โดยมองกำไรของบริษัทจดทะเบียน (EPS) ที่ 90 บาท/หุ้น หรือคาดว่าเพิ่มขึ้น 20% จากฐานปีก่อนที่ต่ำ ส่วนแนวรับต่ำสุดที่ 1,100 จุด
“ดัชนี SET ยังมีอัพไซด์อีกพอสมควร หลังโบรกเกอร์ต่างชาติมีการปรับคำแนะนำหุ้นไทยขึ้น อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ปรับเพิ่มอันดับการแนะนำตลาดหุ้นไทยเป็น Overweight ล่าสุด JP Morgan ปรับมุมมองหุ้นไทยขึ้น กลับเข้ามาซื้อได้ระยะสั้น จาก Underweight อีกทั้งประเด็นกองทุนวายุภักษ์ซึ่งจะจ่ายเงินปันผลออกมา จะช่วยหนุนเม็ดเงินเข้าลงทุนเพิ่ม”
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thailand ESG Extra Fund : Thai ESGX) ที่เข้ามาช่วยหนุน โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินย้ายมาจากกองทุนรวมระยะยาว (LTF) ไม่ต่ำกว่า 50% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าของกองทุน LTF คงเหลือปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 170,000 ล้านบาท ส่วนเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่เข้ามาเพื่อซื้อกองทุน Thai ESGX คาดว่าจะมีประมาณ 20,000 ล้านบาท ก็จะช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นไทยได้
“การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยทำให้หุ้นหลายตัวมีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างมาก จึงถือเป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาวได้เป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่าการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนอาจจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 20% หลังจากที่หดตัวไปที่ประมาณ -6% ในปีก่อนหน้า”
“แม่ทัพหญิง KTAM” กล่าวด้วยว่า KTAM ได้ตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์รวม (AUM) ในปี 2568 แตะระดับ 1 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2567 อยู่ที่ระดับ 951,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสินทรัพย์ใหม่ปีนี้เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่ามาจากการเติบโตของกองทุนประเภทตราสารหนี้ รับทิศทางดอกเบี้ยขาลง
รวมถึงการเติบโตของสินทรัพย์ประเภทการกระจายการลงทุน (Asset Allocation) และการเติบโตของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ในขณะที่อุตสาหกรรมกองทุนปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 9.6 ล้านล้านบาท เติบโตประมาณ 10% ส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่เป็นอันดับที่ 3 ในด้านมูลค่า AUM