ดีเอสไอ รับคดี ตึกสตง. ถล่ม เป็นคดีพิเศษ ทวียันสอบพบพฤติการณ์ใช้นอมินี พร้อมขยายผลความผิดอื่น ทั้ง ฮั้วประมูล-สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ด้าน มนพร สั่งฟัน กิจการร่วมค้าซีไอเอส จ่อยกเลิกสัญญาจ้างสร้างเทอร์มินัลใหม่ สนามบินนราธิวาส พัวพัน ไชน่า เรลเวย์ พร้อมขึ้นแบล็คลิสต์เป็นผู้ทิ้งงาน ห้ามรับงานภาครัฐ
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการสนับสนุนกำลังพลในการช่วยเหลือเหตุอาคารสตง.ถล่ม ว่า โดยที่ที่ผ่านมากองทัพได้สนับสนุนในด้านต่างๆ จนกระทั่งมีการตั้งศูนย์บัญชาการแบบ ซิงเกิลคอมมานด์ จึงถอยมาอยู่บริเวณรอบนอก เพื่อคอยสนับสนุนงาน แต่ยังไม่ได้ทำงาน เนื่องจากหากใช้เครื่องมือใหญ่ อาจจะทำให้ผู้ที่ ติดอยู่ในอาคารได้รับอันตราย ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้สั่งการให้ กำลังพลเป็นแบ็ค หากผู้ว่าราชการจังหวัดร้องขอความช่วยเหลือ โดยมีหัวหน้าสำนักป้องกันภัยพิบัติของกทม. ประสานงานอยู่
ขณะที่รูปคดีที่อยู่ในการดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ จะมีการตรวจสอบไปถึงบริษัทร่วมค้า ว่ามีคนไทยเป็นนอมินีหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เราจะตรวจสอบทั้งหมดทุกอย่างที่เป็นเงื่อนไขที่เป็นปัญหา ซึ่งขณะนี้ก็ทำงานประสานกันอยู่ทุกส่วน และทางกรมอุตสาหกรรมก็จะไปตรวจพิสูจน์เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง และหลังจากนี้ก็จะเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นครั้งที่ 2 โดยหลังจากนี้จะเข้าไปพิสูจน์ทราบในจุดที่เป็นปัญหาทั้งหมด โดยยืนยันว่าการทำงานทั้งหมดยังอยู่ภายนอก เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่อาคารถล่มได้ จนกว่าจะมีการอนุญาตให้เข้าไป
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทคู่สัญญา มีการรับช่วงสัมปทานงานของรัฐบาลกว่า 11 แห่งนั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบในรายละเอียด แต่ทุกฝ่ายกำลังดำเนินการอยู่ในทุกเรื่องที่เกี่ยวพันกัน ซึ่งวานนี้ นายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการ ว่าจะต้องให้เกิดความชัดเจนให้ได้ ไม่ใช่ทิ้งเวลาไป และทุกฝ่ายก็ดำเนินการไป และ นายกรัฐมนตรี ก็สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ใน 10 กว่าประเด็น มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ในสวนของกระทรวงกลาโหมไม่ได้รับมอบหมาย แต่หากต้องการกำลังอะไรก็พร้อมที่จะสนับสนุน
ส่วนสาเหตุความคืบหน้าอาคารถล่ม หรือขั้นตอนการปฏิบัติหลังจากนี้ จะเป็นเช่นไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ และใช้ความละเอียดรอบคอบ ต้องสรุปให้ชัดเจน จึงจะสามารถเอาผิดได้ ซึ่งขณะนี้ทุกคนกำลังทำหน้าที่อยู่
ที่กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่มอบหมายให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เร่งพิจารณาคดีอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่ม เป็นคดีพิเศษ ซึ่งพบเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) , ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล) ซึ่งมีประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดฯ ว่า ขณะนี้ทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคดีอาคาร สตง. ถล่มพังเสียหายในเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นคดีพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้อำนาจของอธิบดีดีเอสไอ เป็นความผิดท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ในการพิจารณา และจากการรวบรวมพยานหลักฐานพบได้ว่าบริษัทดังกล่าวมีพฤติกรรมการเป็นนอมินี ซึ่งปกติบริษัทชาวต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะต้องมีการแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์ให้คนไทย 51% และเป็นต่างชาติ 49%
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบพบมีหลักฐานมากพอที่จะสามารถเชื่อได้ว่าบริษัทแห่งนี้เข้าข่ายการเป็นนอมินี ประกอบกับมีความเสียหายมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ถือได้ว่าเข้าข่ายการเป็นคดีพิเศษ และนอกจากความผิดที่มีการรับเป็นนอมินีแล้ว ก็จะมีการขยายผลในคดีเรื่องสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพของ มอก. ส่วนการฮั้วประมูลและการดูคุณภาพเนื้องานก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้ตึกถล่มลงมาหรือไม่ จากนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็จะมีการเชิญหน่วยงานนอก เช่น สรรพากร กระทรวงอุตสาหกรรม มาร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ตนเองไม่ได้รู้สึกถึงความกังวล ในการสอบสวนคดีนี้ถึงแม้ว่า บริษัทดังกล่าวจะเป็นบริษัท วิสาหกิจของประเทศจีน ตนเองยืนยันว่าจะดำเนินการให้โปร่งใสมากที่สุดถึงแม้ว่าจะเป็นใครก็ตาม และจะมีการตรวจสอบย้อนหลังไปถึงโครงการอีก 10 โครงการ ที่ได้รับการประมูลไปจากทางภาครัฐ รวมไปถึงรายละเอียดเรื่องวิศวกรที่เป็นชาวต่างชาติ ที่ใช้วีซ่านักศึกษาเข้ามาทำงานด้วย นอกจากบริษัทนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำการตรวจสอบบริษัทอื่นๆ ที่มีลักษณะการร่วมทุนของชาวต่างชาติ ทั่วประเทศ ว่ามีบริษัทใดบ้างที่มีพฤติกรรมการรับเป็นนอมินี เพื่อที่จะขยายผลและดำเนินคดีต่อไป
ขณะที่ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ดำเนินโครงการจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และสิ่งก่อสร้างประกอบอื่นๆ พร้อมครุภัณฑ์อำนวยความสะดวก ท่าอากาศยานนราธิวาส ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส 1 แห่ง วงเงิน 639.89 ล้านบาท โดยมีผู้รับจ้าง คือ กิจการร่วมค้าซีไอเอส ประกอบด้วย บริษัท ไอเอสโอ เอนจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัดนั้น
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มสัญญาตั้งแต่รัฐบาลยุคที่แล้ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 และได้สิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 แต่ด้วยเมื่อช่วงปลายปี 2567 ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่นราธิวาส ทำให้ได้รับการขยายอายุสัญญา ผลงานของโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีความคืบหน้าเพียง 0.64% ส่งผลให้ภาพรวมของโครงการล่าช้ากว่า 61.27% มีแนวโน้มว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา ดังนั้น ทย. จึงเชิญผู้รับจ้างเข้าประชุมเร่งรัดงานในวันที่ 4 มีนาคม 2568 ทย. โดยมีเงื่อนไขว่า หากภายใน 2 เดือน โครงการไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานเดือนละ 5% ทย.จะดำเนินการยกเลิกสัญญา และแจ้งชื่อเป็นผู้ทิ้งงาน เนื่องจากผิดสัญญาจ้าง ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงติดตามผลการเร่งรัด ซึ่งผู้รับจ้างทำผลงานเดือนที่ 1 (มีนาคม 2568) ได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาก โดยมีความคืบหน้าเพียง 0.51% ส่งผลให้ภาพรวมโครงการคืบหน้าเพียง 39.24% ล่าช้ากว่าแผน 60.76% หรือล่าช้ากว่า 631 วัน ซึ่ง ทย. ได้ส่งจดหมายเตือนและติดตามผลงานในเดือนที่ 2 ต่อไป หากผู้รับจ้างไม่สามรถดำเนินการเร่งรัดงานได้ตามที่กำหนด แสดงว่า ผู้รับจ้างไม่มีความสามารถที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ ทย. จะดำเนินการยกเลิกสัญญา และแจ้งชื่อเป็นผู้ทิ้งงาน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถรับงานกับหน่วยงานรัฐได้อีก
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ ทย. แจ้งไปยังที่ปรึกษาควบคุมงาน ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง มาตรฐานวัสดุ อุปกรณ์ในการก่อสร้างของผู้รับเหมาที่ได้ดำเนินการมาแล้วทั้งระบบอย่างละเอียด และให้รายงานทราบภายใน 3 วัน หากพบสิ่งผิดปกติ ให้รายงานและแก้ไขโดยเร่งด่วนด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการก่อสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง จะต้องได้มาตรฐานตามแบบแผนที่กำหนด รวมถึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และผ่านตรวจเช็คจากวิศวกรผู้ควบคุมงานอย่างใกล้ชิด