"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" คาดจีดีพีไทยปี 68 เสี่ยงโตต่ำกว่า 2% พิษภาษี "ทรัมป์" ซ้ำเติมแผ่นดินไหว
GH News April 03, 2025 06:08 PM

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" คาดจีดีพีไทยปี 68 เสี่ยงโตต่ำกว่า 2% พิษภาษี "ทรัมป์" ซ้ำเติมแผ่นดินไหว

วันที่ 3 เมษายน 2568 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ประเมินผลการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในอัตรา 25% จะส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยเพิ่มเติมอีกราว -0.3% จากคาดการณ์ GDP ปี 68 ในปัจจุบันที่ 2.4% ซ้ำเติมความเสี่ยงภายในประเทศจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยอย่างน้อย -0.06% ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตต่ำเพียง 2% ในปีนี้ ต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับของประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ดังนั้น คาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ย 25bps ครั้งถัดไปเร็วขึ้นในเดือนเม.ย. นี้เลย และอาจมีการลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งขนาด 25bps ในช่วงครึ่งหลังของปี หากไทยไม่สามารถเจรจาเพื่อลดผลกระทบของภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ได้

ด้านคาดการณ์ค่าเงินบาท คาดว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในฝั่งอ่อนค่าในไตรมาส 2/68 จากอัตราภาษีที่ออกมาสูงกว่าคาดทำให้คำเงินบาทเร่งขึ้นมาเคลื่อนไหวใกล้แนวด้านสำคัญที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับมีปัจจัยฤดูกาลจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติซึ่งจะดำเนินต่อเนื่องไปถึงสิ้นเดือนพ.ค. โดยประเมินแนวต้านสำคัญของค่าเงินบาทที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และถัดไปที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

โดยจากประกาศล่าสุดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดไปยังสหรัฐฯ เริ่มตันที่ 10% มีผลในวันที่ 5 เม.ย. นี้ และสูงกว่านั้นสำหรับราว 60 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสพรัฐฯ มาก ซึ่งจะมีผลในวันที่ 9 เม.ย. นี้ ทำให้อัตราภาษีเฉลี่ยที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าอาจสูงกว่า 20% ซึ่งสูงที่สุดในรอบกว่า 100 ปี โดยในแต่ละประเทศจะถูกเรียกจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันไป ดังนี้

-จีนจะถูกจัดเก็บเพิ่มอีก 34% เป็น 54% ในรอบนี้ และเมื่อรวมผลของภาษีรอบแรก 20% ทำให้อัตราภาษีต่อจีนอาจสูงเกือบ 75% สำหรับสินค้าหลายรายการ ซึ่งอาจลดปริมาณการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนลงอย่างมาก

-สหภาพยุโรปจะถูกจัดเก็บเพิ่ม 20% และอังกฤษถูกจัดเก็บเพิ่ม 10% ส่วนแคนาดาและเม็กซิโก ไม่ถูกจัดเก็บเพิ่มเติมจาก 25% ที่ได้ประกาศไปแล้ว

-นอกเหนือจากประเทศที่มีดุลการค้ารวมขนาดใหญ่แล้ว ประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กที่มีอำนาจต่อรองน้อยก็เผชิญกับอัตราภาษีที่สูงขึ้น นำโดยกัมพูชา 49% เวียดนาม 46% ไทย 36% อินโดนีเซียและไต้หวันที่ 32% โดยการดำเนินการนี้สอดคล้องกับแนวคิดของทรัมป์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในหนังสือของเขา Art of the Deal ที่กล่าวว่า "ใช้ประโยชน์จากอำนาจของคุณให้เต็มที่"

-ด้านการจัดเก็บภาษีเหล็ก อะลูมิเนียม และรถยนต์ที่เก็บ 25% ไปแล้ว จะไม่โดนเก็บภาษีตอบโต้ ขณะที่ทองแดง เภสัชภัณฑ์ เซมิคอนดักเตอร์ และไม้ จะประกาศภาษีนำเข้าเร็วๆนี้

ทั้งนี้ ทรัมป์ ยังระบุอีกว่า พร้อมพิจารณาลดอัตราภาษีลงให้ หากมีการออกมาตรการหนุนการส่งออกสินค้าสหรัฐฯ โดยแนะให้ประเทศต่าง ๆ ลดอัตราภาษีกับสหรัฐฯ และมาตรการกีดกันการค้าต่าง ๆ และอย่าทำการบิดเบือนค่าเงิน นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับชาติ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้อำนาจพิเศษเพื่อกำหนดภาษีศุลกากรได้ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายที่จะเก็บรายได้จากภาษีศุลกากรใหม่หลายแสนล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการลดภาษีภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่เป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด ไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเจรจา มิฉะนั้น ผู้ผลิตอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจากภาษีของทรัมป์น้อยกว่า และแม้ว่าไทยจะได้ออกมาเสนอที่จะเจรจาและพร้อมปรับโครงสร้างภาษีให้เหมาะสมแล้ว แต่อาจเผชิญปัญหาในการเจรจาการค้าได้ ทั้งจากภาษีสรรพสามิต และภาษีอื่นๆที่สูง ทำให้สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มีราคาสูงมาก

นอกจากนี้ รัฐบาลทรัมป์อาจเข้มงวดกับไทยมากขึ้น หากเห็นว่าไทยทำหน้าที่เป็น "พ่อค้าคนกลาง" โดยซื้อสินค้าจากจีนแล้วส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ สะท้อนจากการผลิตภายในประเทศไทยลดลง แต่การส่งออกกลับเพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่า ไทยอาจเป็นผู้ค้าส่งแทนที่จะเป็นผู้ผลิต ทั้งนี้ความเสี่ยงสำคัญ คือหากไทยต้องลดภาษีสรรพสามิตลง เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้ ก็อาจส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลลดลง และทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นได้

#ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #ข่าววันนี้ #ทรัมป์ #แผ่นดินไหว #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #SET

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.