‘ชูศักดิ์’ มั่นใจ กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ผ่านสภาฉลุย อ้างรัฐบาลไม่ได้เร่ง กว่าจะคลอดไม่ต่ำกว่า 8 เดือน พร้อมแจงก่อนสร้างต้องชงเข้า ครม. ค่อยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
4 เม.ย. 2568 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มองว่าจะผ่านวาระแรกหรือไม่ ว่า เท่าที่ดูในพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องต้องกัน เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) และใช้ช่วงระหว่างปิดสมัยประชุมสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจากการพูดคุยกัน คิดว่าจะเรียบร้อยและผ่านได้
เมื่อถามว่า มีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลรีบดันกฎหมายฉบับนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว กระบวนการตรากฏหมาย ไม่ใช่ทำแค่ 1 – 2 วัน เพราะโดยปกติ การออกกฏหมายต้องนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระ และต้องมีการตั้ง กมธ. ซึ่งใช้เวลานาน อีกทั้งต้องผ่านวุฒิสภาอีก 3 วาระ เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่ารัฐบาลเร่งรีบ กระบวนการตรากฎหมายโดยเฉลี่ยของประเทศเรา คำนวณดูแล้วไม่ต่ำกว่า 8 เดือน ที่สำคัญกฎหมายนี้ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา จึงต้องดำเนินการคัดกรองตามปกติ
ส่วนที่ฝ่ายค้านตั้งคำถามว่ารัฐบาลมีกลุ่มทุนมารอ จึงทำให้เร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้นั้น นายชูศักดิ์ หัวเราะ และกล่าวว่า จะไปรอได้ยังไง นี่คือกระบวนการตามกฏหมาย กฎหมายจะบอกมายังไงยังไม่รู้เลย ว่าจะมีการปรับเกณฑ์อะไรหรือไม่ ซึ่งกว่าจะสำเร็จได้ไม่ตํ่ากว่า 6 – 8 เดือน และยืนยันว่าไม่มีใครรอหรือไม่รอ เป็นการเตรียมการปกติ เป้าหมายคือ ทำให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้
เมื่อถามย้ำว่า ที่ต้องเร่งผ่านตอนนี้ เพราะเสียงของรัฐบาลมีเสถียรภาพอยู่ใช่หรือไม่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า เสียงรัฐบาลก็เป็นอยู่อย่างนี้ เราผ่านการพูดคุยและทำความเข้าใจกันมา ซึ่งทุกพรรคคิดว่าไปได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหาเงินเข้าประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เสียงคัดค้านจะทำให้นโยบายนี้ชะงักหรือไม่ ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและ สว. ที่ออกมาตั้งกําแพง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คัดค้านได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อมาถึงขนาดนี้ ทุกอย่างก็เป็นเหตุเป็นผลของมัน ต้องชี้แจงด้วยเหตุผล เราเปิดโอกาสรับฟังว่าจะคัดค้านอย่างไร
นายชูศักดิ์ ยังเปิดเผยถึงขั้นตอนภายหลังกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ประกาศใช้ว่า หากจะมีการสร้างในสถานที่ใด ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และต้องกำหนดพื้นที่ มีแผนที่แนบท้ายว่าจะทำที่อำเภอหรือตำบลใด จำนวนกี่ไร่ แล้วต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ใช่ว่ากระทรวงจะอนุมัติใช้ได้เลย.