‘ขุนคลัง’ รับนักลงทุนผวาหลังทรัมป์ปั๊มภาษีไทยโดด 36% ทำหุ้นดิ่ง ชี้เป็นเหมือนกันทั่วทั้งโลก ขอรอดูฝีมือรัฐบาลแก้ปัญหา หวังช่วยเรียกความเชื่อมั่นฟื้น มองแนวทางสร้างสมดุลทางการค้าช่วยแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ระบุไทยไม่เหมาะตอบโต้ด้วยภาษี
4 เม.ย. 2568 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศในอัตรา 10% และภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับอีกหลายประเทศ รวมถึงคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งไทยถูกเก็บในระดับ 36% ว่า ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง และมีหลายประเทศที่ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงมากกว่าไทย โดยเฉพาะประเทศที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ ค่อนข้าเยอะ
ทั้งนี้ เชื่อว่านักลงทุนจะมีความเข้าใจ สะท้อนจากราคาหุ้นและข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และข้อมูลปัจจุบันว่ารัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการอย่ารงไร ทำให้เชื่อว่านักลงทุนน่าจะรู้ว่าผลกระทบที่จะเกิดจากสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่มาก เพราะรัฐบาลได้มีการเตรียมมาตรการในการดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้นักลงทุนติดตามข่าวว่ารัฐบาลจะดำเนินการและมีเงื่อนไขอย่างไร
“ผมคิดว่าเวลาที่หุ้นลงก็น่าจะลงเหมือนกันทั้งโลก ลงคล้าย ๆ กัน อาจจะมีมากบ้าง น้อยบ้าง ส่วนการที่ว่าหุ้นจะกลับขึ้นมาที่เดิมได้หรือไม่นั้น ต้องดูว่าประเทศนั้นจะมีวิธีการแก้ปัญหานี้ที่แตกต่างจากประเทศอื่นอย่างไร แปลว่าจะต้องเก่งจนทำให้ความเชื่อมั่นในมิติต่าง ๆ กลับมาได้” นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ ยอมรับว่าหากรัฐบาลไม่มีวิธีการแก้ปัญหาที่ดี ก็มีโอกาสที่เรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ได้ไม่น้อยกว่า 1% ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมาดูว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร โดยจะต้องเป็นวิธีที่ดีที่สุด และต้องเป็นการแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ เพราะเรื่องนี้สร้างผลกระทบที่ใหญ่ และเป็นผลกระทบที่ซับซ้อน หลายขึ้นตอน ไม่ใช่แค่ผลกระทบที่จะเกิดระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทางอ้อม ทั้งกับคู่ค้าของไทย และคู่ค้าของไทยที่มีการค้าขายกับสหรัฐฯ ด้วย
นายพิชัย กล่าวอีกว่า วิธีการที่ดีที่สุดเพื่อทำให้ช่องว่างที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ แคบลง นั่นคือ การเร่งสร้างสมดุล โดยการนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นและประเทศต้องการเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งส่งออกเพิ่มด้วยเช่นกัน ซึ่งการนำเข้าเพิ่มที่สามารถทำได้ ผ่านกลุ่มสินค้าเกษตร ออโตโมบิล กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง LNG
ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า หลายประเทศจะใช้วิธีเดียวกันคือการเร่งนำเข้าและส่งออกเช่นเดียวกับไทยนั้น นายพิชัย ระบุว่า ตรงนี้ถือเป็นเรื่องของการแข่งขันระหว่างประเทศ ดังนั้นวันนี้ไทยต้องมีการเก็บข้อมูลให้เพียงพอ ต้องเอาโจทย์ต่าง ๆ มาวาง ว่าหากเขาไม่รับสินค้าจากไทยแล้วจะรับจากที่ไหน หากเป็นสินค้าที่เคยซื้อจากไทย ตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญ และถือเป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องทำความเข้าใจอย่างมากเพื่อการที่จะอยู่บนโลกใบนี้
ขณะเดียวกันต้องเข้าไปดูการจัดการมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff) เพราะไม่เอื้อต่อการค้าขาย และไม่มีประโยชน์ เป็นส่วนที่ทำให้สหรัฐฯ อาจจะรู้สึกว่าภาษีของไทยสูงจนกลายเป็นอุปสรรค ซึ่งต้องเร่งไปจัดการในส่วนนี้ควบคู่ไปด้วย
อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ทุกส่วน ทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะต้องเอาโจทย์ หรือการบ้านที่ได้รับไปมาหารือกันให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องแก้ปัญหาอะไรบ้าง
“ทั่วโลกได้รับผลกระทบกันหมด ก็ต้องมาดูวิธีการแก้ปัญหา โดยส่วนตัวมองว่าหากเราตอบโตด้วยการขึ้นภาษีเหมือนกันก็อาจจะทำให้ขายสินค้าไม่ได้ ดังนั้นวิธีการตอบโต้ด้วยภาษีจึบไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ส่วนตัวผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุด คือ เราต้องแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งถามว่ายากไหม ก็ต้องยอมรับว่ายาก หลาย ๆ ผู้รู้ก็ออกมายืนยันแล้วว่าหากไม่ทำอะไรเรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก” นายพิชัย ระบุ