ปีนี้เวทีประกวด“ศิลปกรรมช้างเผือก” จัดเป็นครั้งที่ 14 ชูโจทย์”น้ำกับความเปลี่ยนแปลง” เปิดพื้นที่ให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้แสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ ตีความอย่างอิสระ เหล่าศิลปินตอบรับแสดงฝีมือเพื่อเข้าร่วมชิงชัยผ่านการสร้างสรรค์ผลงานน่าสนใจในรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างกันอย่างน่าประทับใจ ผลงานส่งเข้าประกวด 458 ผลงาน มีทั้งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ ผลกระทบของน้ำต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และชวนให้สร้างสมดุลธรรมชาติเพื่อให้โลกใบนี้น่าอยู่ จัดโดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ล่าสุด คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ฐาปน สิริวัฒนภักดี กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ศ.เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร ศ.เกียรติคุณถาวร โกอุดมวิทย์ ศ.ญาณวิทย์ กุญแจทอง นิติกร กรัยวิเชียร ต้องใจ ธนะชานันท์ และมนุรดา พรชนะรักษ์ พิจารณาตัดสินให้ผลงาน “ตะเพี๊ยนตะเพียน” ได้รับรางวัลช้างผือก โดย นิรัชพร น่วมเจิม รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท ส่วนรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “Waterworld” โดย เญอรินดา แก้วสุวรรณ เงินรางวัล 500,000 บาท รางวัลคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้แก่ “ธาราแห่งความงอกงาม” โดย ธีรพล สีสังข์ เงินรางวัล 400,000 บาท รางวัล CEO AWARD ได้แก่ “จุดเริ่มต้น – Genesis” โดย นารา วิบูลย์สันติพงศ์ เงินรางวัล 250,000 บาท นอกจากนี้ รองชนะเลิศ 5 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท ประกอบด้วย พงศ์ศิริ คิดดี สิทธิพนธ์ เลาะไชยสงค์ อนันต์ยศ จันทร์นวล ธีรพล โพธิ์เปี้ยศรี บุญมี แสงขำ และชมเชย 12 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 4,350,000 บาท
นิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า การประกวดศิลปกรรมช้างเผือก เกิดจากความตั้งใจอันดีของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เริ่มตั้งแต่ปี 2554 ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีถึงปัจจุบัน มุ่งเฟ้นหาศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่มีทักษะความสามารถทางศิลปะอันโดดเด่น ในการสร้างสรรค์ศิลปะแบบเหมือนจริง และศิลปะรูปลักษณ์ โดยยึดถือความเหมือนจริงเป็นแก่นสำคัญเพื่อให้ผลงานศิลปะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะร่วมสมัยให้ขยายไปสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้าง
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กล่าวว่า น้ำกับความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะว่าธรรมชาติที่สำคัญที่สุดคือน้ำ น้ำเป็นสิ่งที่ให้ชีวิต เป็นหน้าที่ของทุกคนช่วยกันดูแลน้ำและสิ่งแวดล้อม ภาพรวมของผลงานปีนี้มีความรู้สึกว่างานมีความสุข มีอะไรที่เป็นเชิงบวกมากขึ้น แม้ว่าประเด็นน้ำยังเป็นประเด็นในสังคม แต่งานที่ได้รับรางวัลช้างเผือก ทุกคนมองมา ต้องอมยิ้ม ไม่ว่าจะด้วยเสียงเพลง หรือการเล่นกับไฟ ถ้าเกิดเรามองลึกเข้าไปในรายละเอียดจะเห็นเด็กที่มาเล่นน้ำ มีคนหลากหลายอายุ สะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตวิถีของคนไทยอยู่กับน้ำมาโดยตลอด
ศ.เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร กล่าวว่างานศิลปกรรมช้างเผือกจัดขึ้นครั้งที่ 14 แล้ว ฉะนั้น ผลงานที่ส่งปีนี้ มีทั้งคนเก่าและคนใหม่ เรามองถึงบุคลิกภาพของศิลปินแต่ละคนจะเห็นถึงพัฒนาการ เป็นงานที่เหมือนจริง งานศิลปะทุกชิ้น ทั้งงานที่เหมือนจริงกับนามธรรมผสมกันอยู่ เพราะฉะนั้นงานที่ดี ฝีมือดี ทักษะดี สำคัญที่สุดต้องมีความคิดด้วย
ศ.เกียรติคุณถาวร โกอุดมวิทย์ แสดงทัศนะถึงโจทย์เรื่องน้ำ ศิลปินสามารถถ่ายทอดหรือแสดงออกตามอัตลักษณ์ของแต่ละคนออกมาได้ดี ภาพรวมผลงานดีขึ้นทุกปี ปีนี้ได้เห็นผลงานหลายชิ้นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะผลงานที่คว้ารางวัลช้างเผือก มีลักษณะเป็นสามมิติ แสดงถึงแสงสีเสียงและความสนุกสนาน ที่สำคัญที่สุดมีลักษณะการเล่นและอัตลักษณ์ที่มีความเป็นไทยเป็นที่น่าชื่นชม สำหรับความสำเร็จของโครงการฯ เป็นการพัฒนาหรือต่อยอดทักษะของศิลปินบ้านเรา เป็นผลงานศิลปะที่คนเฝ้ามองมากที่สุด เพราะจัดต่อเนื่องมา 14 ปีแล้ว คือการสร้างสรรค์ศิลปะแบบเหมือนจริง และศิลปะรูปลักษณ์ อาจจะเป็นเวทีเดียวในประเทศไทย
ศ.ญาณวิทย์ กุญแจทอง คณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า น้ำกับความเปลี่ยนแปลงเป็นหัวข้อที่เชื่อมโยงได้เยอะน้ำเกี่ยวข้องกับความเป็นไทย เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ขณะเดียวกันปัจจุบันมีเรื่องสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ อาคารบ้านเรือนที่มีความเจริญ การแสดงงานในครั้งนี้ศิลปินพยายามสะท้อนความหลากหลาย ทำให้ศิลปินสามารถแสดงออกด้วยเทคนิคและจินตนาการที่มีความหลากหลาย เป็นนิทรรศการที่น่าสนใจมาก
นิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 14 โชว์งาน “น้ำกับความเปลี่ยนแปลง” ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ – 11 พ.ค. 2568 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จฯ มาทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานแสดง และพระราชทานรางวัล ในวันที่ 7 พ.ค. นอกจากนี้ผลงานบางส่วนนำไปจัดแสดงให้ชมอีกครั้งในงาน SX2025 ระหว่างวันที่ 26 ก.ย. – 5 ต.ค.2568