ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” เป็นหนึ่งในบุคคลที่ “คลุกวงใน” ที่สุด
เป็นหนึ่งในทีมกุนซือ “คณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี” ประจำการที่บ้านพิษณุโลก
อีกด้านหนึ่งทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติหนึ่งนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทย
ทว่าย้อนไป 20 ปีที่แล้ว “นพ.สุรพงษ์” คือคนท้าย ๆ ที่อยู่กับ “ทักษิณ ชินวัตร” กลางมหานครนิวยอร์ก ในนาทีรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “นพ.สุรพงษ์” ในบ้านพิษณุโลก ตอบคำถามสำคัญทางการเมือง ในฐานะคนวงใน ถึงความเหมือน-ความต่างระหว่าง 2 นายกฯ ชินวัตร
ผลดี-ผลเสียของการที่ถูกสังคมมองว่าไทยมีนายกฯ 2 คน
การที่มี “นายกฯ เจน Y” จะรับมือความผันผวนของโลกได้หรือไม่
ตอนที่นายกฯ ไปประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสตามนายกฯ ไปด้วย ในห้องประชุมที่เราพูดคุยถึงเรื่องโอกาสของประเทศไทย Country policy dialog มีคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกร่วมฟัง เขาบอกว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่นายกฯ พูด แต่อยากจะถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ประเทศไทยจะไม่เปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมาอีก
นายกฯ แพทองธาร ตอบว่า เชื่อมั่นว่าจะเป็นนายกฯ จนครบวาระในปี 2570 และเชื่อมั่นว่าจะชนะเลือกตั้งเป็นนายกฯ ต่อไปอีก 4 และถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อหลังจากครบวาระสมัยที่ 2 แล้ว ก็เชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปอย่างน้อยอีก 4 ปี
เป็นการตอบอย่างมีนัยยะทางอ้อมก็คือ คุณมั่นใจเถอะประเทศไทยเดินหน้าเต็มที่ตามนโยบายที่เคยมีการพูดคุยกันไว้ก่อนการประชุมนั้น
เท่าที่ได้มีโอกาสฟังจากนายกฯ แต่ไม่ถึงกับเป็นการพูดคุยที่ละเอียด นายกฯ มีความคิดว่าทีมงานที่ทำกันอยู่สามารถทำงานกันต่อไปได้ แต่แน่นอนเรื่องการปรับ ครม. ถ้าหากมีเหตุที่ต้องปรับในอนาคต สามารถทำได้อยู่แล้ว เช่น ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย มีการการปรับ ครม.ค่อนข้างบ่อย แต่ที่ได้รับทราบคือ นายกฯ ไม่มีแนวคิดในขณะนี้ แต่ในอนาคตเป็นไปได้อยู่แล้ว
ผมคิดว่าในภาวะตอนนี้เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประสิทธิภาพกับความต่อเนื่อง มีคำพูดที่ว่าไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางศึก เพราะ ณ วันนี้ เรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ แผ่นดินไหว ท้าทายต่อการรับมือ เป็นเรื่องสำคัญเราต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ดังนั้น ไม่คิดว่าเราจะสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้านานๆ ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ จะเป็นเดือนนั้น เดือนนี้
เพราะบรรยากาศทางการเมือง ณ วันนี้ กับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทยไม่เหมือนกัน เพราะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นรัฐบาลที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากพอสมควร การปรับเปลี่ยนอาจทำได้ไม่ยากนัก บรรยากาศของโลก ภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ก็ไม่ได้ถึงขนาดทำให้เราต้องคิดอะไรเยอะ
แต่วันนี้หลายๆ อย่างทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มีอะไรไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การจะปรับเปลี่ยนต่างๆ ต้องพิจารณาอย่างค่อนข้างละเอียด คิดผลที่ได้ตามมาว่าจะเป็นผลดีผลเสียอย่างไร คำตอบคือ…ยังไม่สามารถจะบอกได้ว่าช่วงเวลาไหนจะปรับเมื่อไหร่
มีทั้งส่วนที่เหมือนกัน กับส่วนที่ต่างกัน ส่วนที่เหมือนกันคือ เป็นผู้นำที่รับฟังความเห็น บางคนอาจจะมองว่าท่านนายกฯ ทักษิณ เป็นคนที่มีความเชื่อมั่น เวลาคิดอะไรท่านคิดเร็วนะ แต่เวลาทำงานด้วยกัน ท่านฟังเยอะมาก ถ้าหากเราให้ข้อมูล ทั้งที่เป็นข้อมูลเชิงเป็นวิเคราะห์ หรือข้อมูลดิบ ท่านก็จะนำไปแล้วก็ไปคิดต่อ ผมพบกับตัวเอง คือท่านเปลี่ยนได้เลย ในเมื่อมีข้อมูลที่แตกต่างออกไป
ส่วนนายกฯ แพทองธาร แบบเดียวกันเลยเป็นนักฟังที่ดี เวลาอยู่ในที่ประชุมก็จะนั่งฟัง ฟังไปแล้วคิดไป เป็นคนที่อยากจะรับข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา ท่านพูดเลยว่าถ้าหากอยู่ในประเทศไทยไม่ได้ติดภารกิจสำคัญไปที่ไหนจะต้องมาประชุมกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีทุกๆสัปดาห์ให้ได้
เพราะรู้สึกว่ามีโอกาสได้ฟังความเห็นจากผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์มากมาย แล้วเอาไปกลั่นกรอง ถ้าหากตรงไหนไม่เห็นด้วยท่านก็จะขอบอกเลยว่าไม่เห็นด้วย แล้วถ้าคณะที่ปรึกษาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านคิดก็บอกได้ทันที เป็นการบอกว่าทั้ง 2 ท่านฟังมาก
ที่ต่างกันนายกฯ ทักษิณ บางครั้งบางพูดอะไรออกมาตรงไปตรงมา แต่นายกฯ แพทองธารพูดตรงไปตรงมามากกว่า มีลักษณะเดินหน้าเต็มที่ คิดอย่างไรเดินหน้าแบบนั้น บางครั้งอาจจะไม่ได้รีรออะไร ถ้าจะต้องตัดสินใจท่านคิดว่าท่านตัดสินใจตัดสินใจได้ทันที อันนี้ก็จะเป็นบุคลิกที่มีความเด็ดเดี่ยว มากกว่าท่านอดีตนายกฯ
อดีตนายกฯ ทักษิณ มีประสบการณ์มาก มีโอกาสพูดคุยกับคนระดับโลก ในหลายหลายสาย ทั้งสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สายการเมือง ที่ปรึกษาของประธานอาเซียน เป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้
แต่สิ่งที่ท่านทักษิณคิดและบอก ไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งที่นายกฯ แพทองธารรับแล้วเอาไปทำเลย โดยที่ไม่ได้ไตร่ตรองก่อน
ผมจึงไม่คิดว่าวันนี้มีนายกฯ 2 คน เพราะสุดท้ายจริงๆ คือมีนายกฯ คนเดียวที่เป็นคนตัดสินใจคนสุดท้ายในเรื่องราวต่างๆ แต่นายกฯ แพทองธาร รับข้อมูลจากทุกๆ คน แน่นอนจากบิดาของท่าน ก็ถือว่าเป็นคนที่จะให้ข้อมูลท่านใดมากที่สุดคนหนึ่ง
แต่ผมเชื่อว่าเวลาตัดสินใจก็ไม่ได้เอาความเห็นของท่านทักษิณ มาโดยที่ไม่ได้กลั่นกรองใดๆ นายกฯ แพทองธารก็เคยเหมือนกันที่ถามผมคิดเรื่องนี้ยังไงถามท่านอาจารย์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ว่าคิดเรื่องนี้อย่างไร แล้วก็กลั่นกรองเอาข้อมูลทั้งหมด มาประกอบในการที่จะตัดสินใจ
ซึ่งจากประสบการณ์ตรงผมคิดว่า ท่านนายกฯ แพทองธาร ไม่ได้ตัดสินใจ เหมือนกับที่ท่านนายกฯ ทักษิณ เสนอทุกครั้ง
คือท่านอดีตนายกฯ ทักษิณฟังข้อมูลเยอะมาก มีคนไปเล่าให้ท่านฟังมากมายในทุกๆ เรื่อง ดังนั้น ท่านเป็นนักคิด ขณะเดียวกัน ก็เป็นนักเล่าเรื่องว่าท่านคิดอย่างไร หรือแม้แต่ตอนเป็นนายกฯ สมัยรัฐบาลไทยรักไทยก็ตามท่านบอกเสมอว่า ถ้าคุณไม่เห็นด้วยคุณบอกได้เลย ไม่ได้หมายความว่าถ้าหากผมคิดแล้วจะต้องถูกเสมอไป ตรงนี้เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เรารู้ว่าในฐานะผู้บริหารประเทศ กำลังมองเรื่องนี้อย่างไรแล้วเราในฐานะที่เป็นคนที่ทำงานด้วยกัน รู้ใจกันรู้วิธีการทำงานแบบเดียวกัน เราสามารถจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเรื่องนี้เราเห็นด้วยเรื่องนี้เราไม่เห็นด้วย แล้วท่านต้องคิดต่อ
เช่นเดียวกันในขณะนี้ผมเชื่อว่าท่านทักษิณ ฟังข้อมูลมาท่านก็เล่าเรื่องว่าที่ท่านคิดแบบนี้ แต่ถามว่า overrule ในแง่ของการตัดสินใจ ผมยังยืนยันว่าไม่ ท่านนายกฯ แพทองธาร เวลาคิดท่านคิด ท่านฟังจากทุกคนไม่ได้ฟังจากท่านอดีตนายกฯ ทักษิณท่านเดียว
ท่านทักษิณพูดในที่สาธารณะ อาจเป็นการพูดหลังจากได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนนำเสนอนายกฯ แพทองธารอยู่แล้ว ดังนั้น ที่เหมือนรัฐบาลรับทำทันที…ไม่ใช่ครับ หลายเรื่องพอท่านทักษิณคิดของท่านแล้ว อาจจะมีการแลกเปลี่ยน และแลกเปลี่ยนกับคณะที่ปรึกษานโยบายด้วย เพราะท่านเคยประชุมกับพวกเรา บางเรื่องเราบอกเห็นด้วย แต่บางเรื่องเรามีความคิดอีกแบบ
ดังนั้น พอตกผลึกแล้วท่านทักษิณก็ไปพูดต่อสาธารณะ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ท่านพูดในที่สาธารณะเป็นความคิดเริ่มต้นของท่าน แต่พอพูดปุ๊บคนก็ตีความว่ารัฐบาลทำทันที แต่สิ่งที่ท่านพูดถูกกลั่นกรอง แลกเปลี่ยนกันมาเยอะมากแล้ว ดังนั้น สิ่งที่นายกฯ ทำ หรือ รัฐบาลทำ จริงๆ แล้วไม่ใช่ความคิดเริ่มต้นของอดีตนายกฯ ทักษิณ
สถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่หลายประเทศไม่เคยเผชิญมาก่อน หลายประเทศเจอปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง วิกฤตที่รู้สึกว่าไปทุกหย่อมหญ้า ดังนั้น ถามว่าวันนี้ประเทศไทยเจออะไรที่ต่างจากคนอื่นไหม…ก็ไม่ แต่เป็นสถานการณ์พิเศษที่ไม่เคยเจอมาก่อนเช่นเดียวกัน
ดังนั้น คิดว่ารัฐบาล ในขณะที่มองเป้าหมายระยะไกล 4 ปี 10 ปีข้างหน้า อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร การมองเชิงโครงสร้างที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนในระยะยาวต้องทำอย่างไร แต่ขณะเดียวกัน ในระยะสั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเสมอ ความปราะบาง ความกระวนกระวายใจของผู้คน
การที่รัฐบาลพร้อมที่จะพลิกแพลง พร้อมยืดหยุ่น พร้อมพิจารณาเรื่องต่างๆ อย่างฉับไว พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรัฐบาลแพทองธาร เริ่มปรับเปลี่ยนหลายอย่างที่ชัดเจนมากขึ้น หากเป็นเรื่องที่คุ้นเคยมาบ้างเช่น เหตุสะพานถล่ม ที่ถนนพระราม 2 จะเห็นชัดเจนว่าเดินหน้าแก้ปัญหาได้เต็มตัว
ส่วนเรื่องแผ่นดินไหว เป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำงานไม่ทันกับสถานการณ์ แต่เป็นเรื่องเทคโนโลยีสื่อสาร Cell broadcast ที่อาจเป็นปัญหาหนึ่ง แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะเร่งรัดให้ใช้มาตรการที่พลิกแพลงต่างจากในอดีตมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่การเดินหน้าไปสู่การปรับเปลี่ยนระยะยาว ทั้งการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน เป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อกันอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลมีคนทำงานในเรื่องนี้ เพียงแต่การทำงานเชิงโครงสร้าง หรือ การทำงานระยะยาวอาจไม่ค่อยได้เห็นในระยะสั้น ไม่เห็นที่รับรู้มากนัก แต่ผ่านไป 4 ปี หรือ 10 ปี จะเห็นว่าสิ่งที่เราทำกันวันนี้ คือสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงประเทศให้รุดหน้าต่อไป
น่าจะเป็นส่วนผสมเคมีที่ลงตัวในยุคปัจจุบัน ประเทศไทยอาจไม่เคยมีประสบการณ์ที่มีนายกฯ เจน Yแต่เราเห็นนายกฯ เจน Y ในหลายประเทศแล้ว และมีแนวคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาก ผมทำงานกับคน เจน Y เป็นจำนวนมาก ผมรู้สึกว่า คนเจน Y หรือ คนเจน Z มีหลายๆ อย่างที่น่าสนใจและสามารถเรียนรู้กัน ขอเพียงแค่ทุกๆ เจนไม่ว่าเจนไหน Boomer X Y Z ถ้าเรามีเป้าหมายร่วมกัน และทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ถอดอีโก้ออกไป ถึงตอนจบได้ Solution ที่ดี
ข้อดีคือ มีชีวิตชีวา ฉับไว้ เป็นสัญลักษณ์ของวัยที่มีพลังมากมาย ถ้าเป็นนายกฯ Boomer ก็จะเหนื่อยหน่อย ทำงานช้าหน่อยด้วยข้อจำกัดของร่างกาย เป็นสิ่งที่ดีที่เรามีนายกฯ ที่ทุ่มเท ใช้พลัง พร้อมเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีคนรุ่นอาวุโสที่คอยช่วยนำเสนอ คอยบอกว่าตรงนี้ต้องระวังอะไร ตรงนี้ต้องไม่ประมาท ให้การเดินฉับไว เป็นการเดินที่มีโอกาสพลาดน้อยที่สุด
ผม…ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นแกนนำพรรคเพื่อไทยด้วย แต่พูดในฐานะ คนที่ใกล้ชิดกับแกนนำพรรค เป็นนักสังเกตการณ์ทางการเมือง เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มเห็นความชัดเจนในการที่มีบุคลากรรุ่นใหม่ๆ มาแบกรับภารกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
เราจะเริ่มเห็นคนที่เป็นเจนเนอเรชั่นที่พร้อมขึ้นมารับผิดชอบเป็นผู้บริหารพรรค มีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งการวางแผนที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งในอีก 2 ปี ข้างหน้า
2 ปีข้างหน้าจริงๆ ก็ไม่ไม่เร็วสามารถที่จะปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ไม่ช้า ถ้าหากไม่รีบทำอะไร ดังนั้น ในส่วนของการเตรียมการเลือกตั้ง ทางหนึ่งในส่วนของรัฐบาลเองก็ต้องทำผลงานให้ประสบความสำเร็จ หลายเรื่องที่ประกาศไว้เป็นนโยบาย ต้องทำให้สามารถออกดอกออกผลจนกระทั่งประชาชนรู้สึกว่าชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น
ขณะเดียวกัน ในกระบวนการหาเสียงเลือกตั้งที่จะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาโหวตในอนาคต ก็เป็นเรื่องที่เท่าที่ทราบมาคือมีการเตรียมการกันอยู่แล้ว มีการทำเพื่อไทยอะคาเดมี่ เพื่อจะไปพูดคุยกับคนหลากหลายกลุ่มคนรุ่นใหม่ ต่างๆ เพื่อเตรียมรับ นำแนวทางแนวคิดมาใช้ประกอบในการที่จะวางแผน ยุทธศาสตร์ นโยบายรองรับการเลือกตั้งต่อไป