‘เอ็มเอฟอีซี’โชว์ความสำเร็จ MFEC Inspire 2025 แก้ปมเทคโนโลยีแพง ช่วยธุรกิจไทย
GH News April 05, 2025 02:20 PM

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงาน MFEC Inspire 2025 – Simplify Your IT Investment for a Future-Ready Business ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 งานสัมมนาใหญ่ประจำปีของ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน)

ภายใต้การบริหารของแม่ทัพที่ชื่อ นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร งานสัมมนาใหญ่ประจำปีของ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด(มหาชน) 

ไฮไลต์ภายในงาน ประกอบด้วย 3 โซนหลัก ได้แก่ 1.ดาต้า-เอไอ 2.ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ 3.การบริหารจัดการต้นทุนด้านเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ผู้ร่วมงานต่างให้ความสนใจอย่างมาก

นายศิริวัฒน์ ระบุถึงแนวคิดการจัดสัมมนาสุดยิ่งใหญ่ครั้งนี้ว่า หลังจากที่ทำธุรกิจมาเป็น 10 ปี ซึ่งมีลูกค้าบางรายที่อยู่ด้วยกันมาเป็น 10 ปีเช่นกัน ทำให้เห็นว่ากุญแจสำคัญของการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง คือ ต้องมีเสียงสะท้อน (ฟีดแบ๊ก) กลับมาแบบชัดเจน สามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว ระหว่างผู้ผลิตเทคโนโลยีและผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ 

ประเมินว่าปี 2568 ถือเป็นปีที่มีความท้าทาย เศรษฐกิจไม่น่าจะดีเท่าที่ควร จึงสะเทือนมาถึงการบริหารงานด้านเทคโนโลยี (ไอที) ของบริษัทแน่นอน จากหลักการเดิมของผู้บริหารบริษัท หากต้องการเพิ่มบริการ คน เทคโนโลยี หรืออัพเกรดเทคโนโลยี จะผลักภาระค่าบริการไปที่ผู้ใช้ (ยูสเซอร์) จากนั้นยูสเซอร์จะผลักภาระไปยังลูกค้า แต่ตอนนี้การผลักภาระไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันและเติบโตไม่เหมือนในอดีต ปัจจุบันการบริหารงานจะเป็นการพยายามดูแลพนักงาน หากจะมีบริการใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจำเป็นต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์) ใหม่ในการสนับสนุนธุรกิจมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายรายได้ของบริษัททั้งปี 2568 เติบโตเพิ่มขึ้นที่ 15%

นายศิริวัฒน์ระบุอีกว่า ปัจจัยอีกข้อที่ผู้บริหารกังวลคือ เมื่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ๆ ถูกควบคุมด้วยเม็ดเงินเข้ามา จะต้องเลือกระหว่างคนและเทคโนโลยี แต่สภาพความเป็นจริง เมื่อต้องคุมวงเงิน หรือลดเงินลง สวนทางกับราคาเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เราไม่สามารถปรับลดเม็ดเงินลงทุนเหล่านั้นได้ ทำให้สภาพความจริงธุรกิจต้องไปปรับลดงบประมาณที่ใช้เกี่ยวกับพนักงานแทน อาทิ การอบรมองค์ความรู้ใหม่ให้พนักงาน ลุกลามถึงสิทธิพิเศษที่ควรได้ หรือโบนัสตอบแทนประจำ เพราะธุรกิจของไทยอยู่ในสภาพที่ไม่มีการเตรียมตัว แต่ถูกเทคโนโลยีพันธนาการไว้ ไม่มีทางเลือกในการใช้บริการ ไม่ว่าจะขึ้นค่าบริการเท่าใดก็ตาม เราก็ต้องจ่ายไป เมื่อถูกเทคโนโลยีพันธนาการในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น ความสามารถในการทำกำไรเหมือนเดิม แบบนี้ก็ไปได้ แต่หากธุรกิจทรงตัว ความสามารถในการทำกำไรลดลง แต่ต้นทุนในการบริการแพงขึ้น ธุรกิจจะดำเนินการไปแบบอึดอัด

นายศิริวัฒน์ระบุ จากการพูดคุยกับผู้บริหารส่วนใหญ่มองว่า สิ่งที่ผู้บริหารต้องการคือ สินค้าเทคโนโลยีที่ซื้อมา จริงๆ แล้วมีการใช้งานเพียง 60-70% เท่านั้น แต่ต้องจ่ายทั้งหมดแบบ 100% ทั้งยังพยายามอัพเกรดให้ใช้แบบ 100% ด้วย ทำให้ต้นทุนสูงเกินความจำเป็น จึงต้องหาวิธีว่า จะสามารถจ่ายค่าเทคโนโลยีเหล่านั้นเท่าที่ใช้งานได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกธุรกิจจะต้องใช้เทคโนโลยีแบบดีที่สุด แพงที่สุด การจะปรับตัวเพื่อให้องค์กรอยู่รอด และพนักงานสามารถพัฒนาการใช้งานได้ ถือเป็นการตอบโจทย์ผู้บริหารใน 2 ข้อหลัก อาทิ ใช้เทคโนโลยี 90% แต่ต้นทุนค่าเทคโนโลยีเหลือเพียง 50% 

โดยหากจะตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ต้องเริ่มเน้นไปที่การเปิดตัวบริการใหม่ หรือกลุ่มซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่เผยแพร่อย่างถูกต้องให้ผู้ใช้งานสามารถศึกษา แก้ไข และแจกจ่ายซอฟต์แวร์และรหัสต้นทางของตัวเองได้ เหมือนในต่างประเทศ อาทิ จีน เมื่อมีโอเพนซอร์ส คนจีนจะช่วยกันใช้ ช่วยกันเตือนข้อผิดพลาดต่างๆ เพื่อให้ใช้ได้อย่างดีที่สุด แต่ตลาดโอเพนซอร์สในไทยแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย เรายังขาดการช่วยเหลือกัน พูดถึงเพียงความเสี่ยง เม็ดเงินหมุนเวียน และความอยู่รอดมากกว่า ทั้งที่หากต้องการให้กลุ่มโอเพนซอร์สในบริการด้านเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น จำเป็นต้องช่วยเหลือในกลุ่มนี้

นายศิริวัฒน์ระบุด้วยว่า ภายในงานมีแบ่งเป็นโซนเอไอ ที่ถือว่ามีความท้าทาย เนื่องจากเอไอ ไม่ใช่ทางเลือก แต่จำเป็นต้องนำเข้ามาใช้ทุกองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานมากขึ้น เนื่องจากเอไอถือเป็นความท้าทาย ทุกองค์กรไม่ปฏิเสธที่จะนำมาใช้ แต่ไม่ใช่ทุกองค์กรจะใช้แล้วสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนได้ดี เพราะเทคโนโลยีเดียวกัน คนใช้ไม่เหมือนกัน ผลการใช้งานก็ต่างกันแบบฟ้ากับเหว ยกตัวอย่างการดำเนินงานของบริษัท ที่ปัจจุบันเราต้องเป็นพาร์ตเนอร์กับเอไอ ที่การทำงานก่อนหน้านี้มีพนักงานใหม่ ซึ่งกลัวการรายงานเนื้องานมาก แต่เมื่อใช้งานเอไอได้คล่องขึ้นก็ไม่กลัวการรายงาน หรือรับคำสั่งงานอีก

อีกโซนในงานสัมมนานี้ เป็นเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้หรือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยเหมือนเป็นศูนย์รวมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเวลาการโจมตีในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเป็นการใช้เทคโนโลยีเช่นกัน เพราะมีการเติบโตที่รวดเร็ว ทำให้ยิ่งลงทุนในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากเท่าใดก็ยิ่งกินสัดส่วนกำไรของธุรกิจเยอะมากเท่านั้น ซึ่งเราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์กรแบบใด เพราะบางองค์กรก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้รัดกุมเหมือนสถาบันการเงิน (แบงก์) แต่อะไรที่จะใช้แล้วดีที่สุดเหมาะสมกับบริษัทนั้นมากที่สุด ซึ่งต้องมีการคัดสรรกันต่อไป 

“ความพิเศษในการจัดงานหลักเทียบกับปีที่ผ่านมา คือเราพยายามหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากผู้บริหารที่เข้าร่วมงานระดับ 1,000 คน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ต้องการส่งไปถึงผู้ผลิตหรือคู่ค้า เป็นการสัมมนาเพื่อแบ่งปันข้อมูล ไม่ใช่เพียงอีเวนต์เพื่อการขายของหรือโฆษณาเท่านั้น ซึ่งบริษัทจะพยายามเป็นสื่อกลางให้มากที่สุด เพื่อให้องค์กรของไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลังกลับ” นายศิริวัฒน์เน้นย้ำ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.