พบสารหนูเกินมาตรฐานใน ‘แม่น้ำกก’ เตือนชาว เชียงใหม่-เชียงราย อย่าลงเล่นน้ำ ใช้อาบ-กิน อาจเวียนหัว ชัก หมดสติ ชี้ต้นเหตุมาจากการขุดเหมืองในเมียนมา
5 เม.ย. 68 – พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิกเผยว่า จากสถานการณ์แม่น้ำกกในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ พบการปนเปื้อนสารหนูและตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน
โดยเฉพาะบริเวณบ้านแก่งตุ้ม ซึ่งมีค่าสารหนูสูงถึง 0.026 มก./ลิตร ขณะที่ปริมาณมาตรฐานต้องไม่เกิน 0.01 มก./ลิตร และสารตะกั่วสูงถึง 0.076 มก./ลิตร มาตรฐานไม่เกิน 0.05 มก./ลิตร
ส่งผลให้ประชาชนที่ใช้น้ำอุปโภค-บริโภค อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพ เช่น ผื่นคัน ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน รวมทั้ง เสี่ยงต่อการสะสมสารพิษระยะยาว อาจเกิดมะเร็งผิวหนัง โรคทางระบบประสาท
นพ.นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า แม่น้ำกกไหลผ่าน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ใน อ.เมือง อ.เวียงชัย อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.แม่จัน อ.ดอยหลวง และ อ.เชียงแสน จึงแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ ใช้น้ำจากแม่น้ำกก เพื่ออุปโภค-บริโภค และควรใช้น้ำประปาที่ผ่านปรับปรุงคุณภาพแล้ว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ผื่นคัน คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เวียนศีรษะ ซึม ชักหรือหมดสติ ควรรีบพบแพทย์ในพื้นที่โดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากชาวบ้านที่ทำงานอยู่ใกล้แหล่งขุดทองในฝั่งรัฐฉาน ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำกก โดยชาวบ้านได้ถ่ายภาพเหมืองทองขนาดเล็กที่กองกำลังทหารว้า ได้อนุญาตให้นักธุรกิจเข้ามาขุดเหมือง ซึ่งมีการเปิดหน้าดินในบริเวณกว้าง และมีการปล่อยน้ำลงแม่น้ำกก ทำให้แม่น้ำกกตอนล่างที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยขุ่นข้นและมีสารหนูเจือปน