ผู้เขียน | ดร.วีริศ อัมระปาล |
---|
สวัสดีแฟนๆ คอลัมน์ “คิด เห็น แชร์” และผู้อ่านมติชนทุกท่านครับ เดือนนี้ผมจะอัพเดตให้ท่านผู้อ่านทราบความคืบหน้าของ ขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 40 และ KIHA 48 ที่บริษัท JR EAST ประเทศญี่ปุ่น มอบให้ไทย เพื่อเสริมการให้บริการในเส้นทางต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งผมกำลังเร่งดำเนินงาน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้บริการกันในปี 2568 นี้ครับ
ก่อนอื่นขอแนะนำทุกท่านให้รู้จักกับรถไฟดีเซลราง KIHA 40 และ KIHA 48 ก่อนนะครับ รถไฟทั้ง 2 รุ่นนี้เปิดตัวใช้งานในประเทศญี่ปุ่นช่วงปลายทศวรรษ 1970 มีอายุใช้งานมาแล้วประมาณ 50 กว่าปี โดย KIHA 40 มี 68 ที่นั่ง และ KIHA 48 มี 82 ที่นั่ง เป็นเบาะนั่งหลังตรง ไม่สามารถปรับเอนได้ ส่วนห้องสุขาเป็นระบบปิด สำหรับขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศที่ รฟท.ได้รับมอบมีจำนวน 20 คัน ประกอบด้วย ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น 40 จำนวน 9 คัน และขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น 48 จำนวน 11 คัน
โดย รฟท.จำเป็นที่จะต้องปรับขนาดเพลาล้อให้เข้ากับมาตรฐานรางของประเทศไทยที่กว้าง 1 เมตร จากเดิมเพลาล้อรถไฟดีเซลราง KIHA 40 และ 48 กว้าง 1.067 เมตร ซึ่งขณะนี้ได้ขนย้ายแคร่รถไปยังโรงงานรถไฟมักกะสันเพื่อปรับขนาดเพลาล้อแล้ว ก่อนจะส่งไปยังสถานีแหลมฉบังเพื่อประกอบเพลาล้อเข้ากับตัวรถ
หลังจากนั้น ขบวนรถจะถูกนำกลับมายังโรงงานมักกะสันอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงสภาพตามมาตรฐานของ รฟท. โดยจะมีการตรวจสอบอุปกรณ์ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นระบบส่วนล่าง ระบบส่งกำลัง ระบบห้ามล้อ ไปจนถึงการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 60 วัน หลังจากนั้นจึงจะนำรถไปทดสอบระบบต่างๆ คาดว่าจะเป็นช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2568 เพื่อตรวจสอบทางด้านวิศวกรรม เช่น อัตราเร่ง, ระยะห้ามล้อ, ติดตั้งระบบ Vigilance, ตรวจสอบการสั่นสะเทือนทางกล และระบบเครื่องปรับอากาศ เมื่อทดสอบเสร็จแล้วจึงจะนำกลับมาปรับปรุงสีภายนอกและห้องสุขา
คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จได้ภายในปี 2568 จำนวน 6 คัน และจะทยอยปรับปรุงจนครบ 20 คันต่อไป เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผมพยายามผลักดันให้รถไฟดังกล่าวดำเนินการได้ภายในปี 2568 นี้ เบื้องต้นยังใช้แผนเดิมให้บริการเป็นรถโดยสารปรับอากาศชั้น 3 ในเส้นทางระยะใกล้ อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.นครปฐม เข้ากรุงเทพฯ รวมทั้งอาจจะนำมาใช้เป็นขบวนเสริม (Feeder) วิ่งเส้นทางประจำในชั่วโมงเร่งด่วน และนอกเวลาเร่งด่วนได้ เพื่อช่วยเสริมขบวนรถโดยสารที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
การที่ไทยได้รับขบวนรถดีเซลราง KIHA 40 และ KIHA 48 มานั้น แน่นอนว่าเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพัฒนาการคมนาคมทางรางของไทย อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพการเดินทางของประชาชนด้วย โดยขบวนดังกล่าวจะเข้ามาเสริมขบวนรถโดยสารแถบชานเมือง เนื่องจากมีทั้งความรวดเร็วและปลอดภัย สอดคล้องกับปัจจุบันที่การเดินทางของผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกกลุ่ม ทั้งนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนทำงาน
รฟท.มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะระบบรางที่ราคาประหยัด เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง บรรเทาปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อขบวนรถดีเซลราง KIHA 40 และ KIHA 48 เข้ามาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว จะมีส่วนช่วยลดความแออัดของการใช้บริการ
ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งในแง่คุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายอีกทั้งช่วยในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคครับ