เส้นทางของอุตสาหกรรมทูน่าไทยในบริบทโลกไร้คาร์บอน
ในโลกที่วิกฤตสิ่งแวดล้อมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น จากโลกร้อน (Global Warming) – ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่โลกเดือด (Global Boiling) – สถานการณ์ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างรุนแรงและเกินขีดจำกัด และจากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) – สภาพอากาศที่รุนแรงและผิดปกติ สู่ สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว (Weather Whiplash) – สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันและรุนแรง ทางรอดเดียวที่อาจมีอยู่ขณะนี้ คือ การไม่เพิ่มก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนออกสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อลดการกักเก็บความร้อนที่พื้นผิวโลก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการสร้างโลกไร้คาร์บอนเพื่อพวกเราเองในรุ่นปัจจุบันและลูกหลานของเราในรุ่นอนาคต
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ บ่งชี้ว่า ในปี พ.ศ.2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของไทยสร้างมูลค่ากว่า 821,212 ล้านบาท ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปี พ.ศ.2566 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ น้ำตาล ทราย และผลไม้กระป๋องและแปรรูป อีกทั้งอาหารสัตว์เลี้ยง ยังเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด และยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมทูน่าไทยยังเป็นแชมป์อันดับหนึ่งผูกครองตลาดโลก และอาหารสัตว์เลี้ยงไทยก็ขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก ที่คาดว่ากำลังจะก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในอีกไม่ช้า สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงบทบาทของอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
จากความต้องการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การคาดการณ์ว่า ในช่วง 30 ปีข้างหน้า ปลาทูน่ากระป๋องจะยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยประมาณร้อยละ 34% เมื่อเทียบกับปริมาณการบริโภคในปัจจุบัน ส่งผลให้ความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยท้าทายการสรรหาวัตถุดิบปลาทูน่าเข้าสู่กระบวนการผลิต เนื่องจากหากพิจารณา ปริมาณการจับปลาทูน่าเขตร้อนทั่วโลกในปี พ.ศ.2561 ซึ่งอยู่ที่ 5.2 ล้านตัน พบว่า อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องใช้ปลาถึงร้อยละ 62 ของปริมาณปลาที่จับได้ทั้งหมด และหากอัตราการใช้ปลายังคงเดิม คาดว่าในปี พ.ศ.2593 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้ประกาศ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนไว้ อุตสาหกรรมทูน่าจะมีความต้องการใช้ปลาทูน่าสูงถึง 6.99 ล้านตัน ในขณะที่ค่าการจับ สูงสุดอย่างยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield: MSY) ของปลาทูน่าทั่วโลกอยู่ที่ 6.07 ล้านตัน นั่นหมายความว่า ปริมาณปลาทูน่าที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมอาจสูงกว่าขีดจำกัดที่ธรรมชาติรองรับได้นั่นเอง
งานวิจัยเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตผลิตภัณฑ์ทูน่า โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่การจับปลา การแช่แข็ง การแปรรูป การขนส่ง การบริโภค และการจัดการซากหลังการบริโภค บ่งชี้ว่า ระยะทางการขนส่งวัตถุดิบปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าแปรรูปเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ภาวะโลกร้อนและภาวะน้ำทะเลเป็นกรด) เมื่อ เปรียบเทียบความแตกต่างของผลกระทบระหว่างแบรนด์ ในขณะที่หากตัดประเด็นระยะทางขนส่งออก สาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ การผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง ซึ่งผลกระทบสืบเนื่องมาจากการผลิตเหล็ก รองลงมา คือ การประมง ซึ่งการประมงปลาทูน่าคิดเป็นร้อยละ 15 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปลาที่จับจากธรรมชาติ อีกทั้งรูปแบบการจับปลาที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันด้วย การจับปลาโดยใช้อวนล้อม (Purse Seine) มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุด ส่วนการจับปลาโดยใช้เบ็ดราว (Longline) และการตกเบ็ดแบบ Trolling มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใกล้เคียงกัน คือ สูงกว่าการจับปลาโดยใช้อวนล้อมประมาณ 2-3 เท่า
สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ซึ่งเกิดจากการจับมือกันของผู้ผลิตปลาทูน่าไทยในการผลักดัน นโยบายทั้ง 4 ประการของอุตสาหกรรมทูน่า ได้แก่ ความปลอดภัยอาหาร การใช้ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน จริยธรรมทางแรงงาน และการเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าและเทคนิค ให้เกิดการยอมรับในเวทีการเจรจาการค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในการผลักดันการดำเนินงานระดับนโยบาย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยได้มุ่งเน้นการนำหลักเศรษฐกิจบีซีจี หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ที่เป็นนโยบายระดับชาติมาประยุกต์ใช้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG13 Climate Action, SDG14 Life Below Water, SDG15 Life on Land) เช่น การนำส่วนของทูน่าที่ไม่ได้ใช้ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยสมาคมมีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและผลักดันการดำเนินงานของสมาชิกด้านการลดคาร์บอน โดยให้มีการศึกษาแนวทางการประเมิน Carbon Footprint Baseline ในอุตสาหกรรม โดยมีแผน TTIA/TPFA – BCG Roadmap Proposal การลดคาร์บอนในอุตสาหกรรม 2023-2030 ดังนี้
-2023-2024: สมาคมมีแผนงานรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล BCG และ Carbon Footprint Organization เพื่อบ่งชี้เส้นฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมทูน่า
-2025-2030: สมาคมมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ
อุตสาหกรรมทูน่าไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายมิติในการต่อสู้บนเส้นทางโลกไร้คาร์บอนนี้ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่ต้องมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบย้อนกลับได้ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการดำเนินงานที่จะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ข้อจำกัดในการบริหารจัดการต้นทุนและอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์รายย่อย หรือแม้กระทั่งข้อจำกัดด้านบรรจุภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และอายุการเก็บรักษาเพื่อคงความสามารถในการแข่งขัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ จึงถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้พลังงานและของเสีย ตลอดจนช่วยยกระดับขีดความสามารถขององค์กร ในขณะที่การเปลี่ยนผ่านสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังคงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและการยอมรับของลูกค้า เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อ การสร้างความตระหนักรู้และสื่อสารถึงคุณค่าและผลกระทบเชิงบวกของผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน เพื่อกระตุ้นความต้องการของตลาด สำหรับการปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ รวมถึงการขยายตลาดใหม่หรือใช้มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนในระยะยาว ย่อมเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับบนเส้นทางไร้คาร์บอน ณ ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จึงได้มีการจัดทำความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยหน่วยบริการและจัดการคาร์บอน สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานสมาชิกและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามเจตนารมณ์ที่แสดงไว้
และเพื่อให้การเดินทางสู่โลกไร้คาร์บอนของอุตสาหกรรมทูน่าไทยและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงไทย
“การเปลี่ยนผ่านสู่โลกไร้คาร์บอนของอุตสาหกรรมทูน่าไทยและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงไทย คือก้าวสำคัญในการรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล พร้อมเสริมศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก”
แหล่งอ้างอิง:
(1) https://tpso.go.th/news/2502-0000000023
(2) https://thaituna.org/statistics/
(3) https://doi.org/10.1016/j.marpol.2022.105016
(4) https://www.worldwildlife.org/publications/measuring-and-mitigating-ghgs-tuna
(5) https://thaituna.org/
ดร.นันทมล ลิมป์พิทักษ์พงศ์
ดร.อาทิมา ดับโศก
ดร.ธวัลหทัย สุภาสมบูรณ์
สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย