แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เมียนมาร์ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครจะผ่านมากว่า 1 สัปดาห์ แต่ร่องรอยความเสียหายทางกายภาพ ซากตึกถล่ม รอยร้าวในอาคารสูงยังปรากฎ และได้ทิ้งความเจ็บปวดทางจิตใจ ความหวาดวิตกกับเหตุการณ์ธรณีพิบัติรุนแรง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่กลางกรุง ปลุกให้ทุกคนตื่นตัวและตระหนักถึงการรับมือกับแผ่นดินไหวภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า ที่น่าระทึกนอกจากรอยเลื่อนสะกายแล้ว นักวิชาการออกมาเตือนประชาชน ยังมีอีก 2 รอยเลื่อนมีพลังเปรียบเหมือนยักษ์หลับ สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนถึงขนาด 7.5 และ 9 ที่กำลังจะตื่นขึ้นในอนาคต
จากเวที”ก้าวข้ามธรณีพิโรธ : นวัตกรรม ววน. พลิกเกมภัยแผ่นดินไหว เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของไทย” จัดโดยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สกสว. กสว. ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรอยเลื่อนกระจายเต็มไปหมด รอยเลื่อนสะกายในพม่าเป็นรอยเลื่อนมีพลังระดับสีแดง ขณะที่ในประเทศไทยมีรอยเลื่อนระดับสีเทา รอยเลื่อยค่อนข้างเล็ก และมีอัตราการเร่งตัวต่ำกว่าที่อยู่ในฝั่งเมียนมาที่แนวรอยต่อแผ่นเปลือกโลกระหว่างฝั่งอินเดีย และฝั่งไทย ตามแนวทะเลอันดามันไปถึงฝั่งตะวันตกของเมียนมา โดยไม่มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่กรุงเทพฯ แต่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโอกาสเกิดภัยพิบัติ เพราะแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระยะไกล เพราะสภาพแอ่งดินอ่อนในกรุงเทพฯ สามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้มากกว่าปกติถึง 3-4 เท่า และอาคารสูงเป็นจำนวนมาก อาจเกิดการกำทอนทำให้โยกไหวตัวรุนแรงจนเกิดความเสียหาย
กรณีเหตุแผ่นดินไหวจากลอยเลื่อนสะกาย ประเทศพม่าผู้คนเสียชีวิตมากมาย ตึกอาคารบ้านเรือนพังเสียหาย พื้นที่ห่างไกลออกมาลดทอนความรุนแรง แต่แรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ เพราะเป็นแหล่งดินอ่อน สภาพดินอ่อนขยายความแรงแผ่นดินไหวได้มากหลายเท่าตัว ในไทยพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่แอ่งดินอ่อนขนาดยักษ์ จากการศึกษาเรื่องนี้กว่า 20 ปี มีการตรวจวัดคุณสมบัติของแอ่งดินอ่อน ตรงกลางของกรุงเทพฯ กว่าจะลึกถึงชั้นหิน ประมาณ 800 เมตร ทั้งยังมีคุณสมบัติเปลี่ยนการสั่นสะเทือนที่ผิวดินไม่เหมือนการสั่นปกติ ถ้าปกติจะสั่นเร็ว แต่เมื่อแผ่นดินไหว กทม.ที่ผ่านมาจังหวะโยกแบบช้าๆ เป็นลักษณะเกิดขึ้นบนดินอ่อน ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่ออาคารเล็กๆ แต่จะไปกระตุ้นและเขย่าอาคารสูงที่โยกช้าเหมือนกัน เรียกว่า “สั่นพ้อง”
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวต่อว่า จากการประเมินสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ 3 สถานการณ์ จาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1.แผ่นดินไหวขนาด 7-7.5 ที่อยู่ใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งรอยเลื่อนดังกล่าวเคยเขย่าแล้วขนาด 5.9 แรงสั่นสะเทือนไกลถึงกรุงเทพฯ แต่ตอนนั้นมีอาคารสูงไม่มาก ตอนนี้รอยเลื่อนใหญ่หลับอยู่ เมื่อไหร่มันฟื้นตื่นขึ้นมา แล้วทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ถึง 7.5 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อกรุงเทพฯได้ เพราะระยะห่างจากกรุงเทพฯ แค่200 กิโลเมตร เท่านั้น ต้องประเมินความเสี่ยงจากลอยเลื่อนนี้ด้วย
2.แผ่นดินไหว ขนาด 8 ที่แนวเลื่อนสกายในประเทศพม่าที่มีแนวยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ของเมียนมาจากมัณฑะเลย์ ไล่ลงมาผ่านเนปิดอว์ สะกาย ย่างกุ้ง เฉียดลงไปในทะเล ซึ่งยักษ์สะกายตื่นไปแล้ว เราประเมินไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา กว่า 10 ปีแล้ว สำหรับแผ่นดินไหวในมัณฑะเลย์เคยเกิดขึ้นเมื่อ 110 ปีที่แล้ว ทำลายมัณฑะเลย์ทั้งเมือง ครั้งนี้ลอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อยยาวเป็นพันกิโลเมตร กระทบต่อกรุงเทพฯ
3. แผ่นดินไหวขนาด 8.5 – 9 ที่แนวมุดตัวในทะเลอันดามัน เป็นแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกอินเดียมุดใต้เปลือกของไทย เรียกว่า แนวมุดตัวอาระกัน อยู่ทางฝั่งตะวันตกของพม่า และมีศักยภาพเกิดแผ่นดินไหว 8.5 -9 ผลกระทบรุนแรงไม่น้อยกว่าสะกาย อดีตมีการศึกษาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ จากประวัติเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.5 ในอดีตมาหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 260 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ แนวมุดตัวอาระกันสามารถผลิตแผ่นดินไหววงรอบ 400-500 ปี ตอนนี้ไม่รู้จะตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ไม่แน่อาจมาเร็วหรือช้ากว่ารอบปกติก็ได้ ไม่มีใครคาดการณ์ได้
จาก 3 สถานการณ์ดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว กล่าวต่อว่า เราประเมินสถานการณ์และความรุนแรงสูงสุดที่เป็นไปได้นำมาสู่การปรับปรุงกฎกระทรวงแผ่นดินไหวในปี 2550 ขยายพื้นที่ควบคุมให้ออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ให้รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกทั้งผลวิจัยดังกล่าวยังใส่ในมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มยผ 1301 /1302-61 วิศวกรต้องออกแบบตามมาตรฐานอาคารถึงจะทนทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวต่อว่า กรมโยธาธิการฯ เป็นผู้กำหนดเส้นกราฟการสั่นไหวรุนแรงที่ต้องรับให้ได้ ซึ่งความจริงโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหวแม้จะมีน้อยมากเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องออกแบบเผื่อเอาไว้ โดยแบ่ง กทม.เป็น 10 พื้นที่ที่สำคัญที่สุด คือ หมายเลข 5 ตั้งแต่บริเวณกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี มีการตั้งสถานีวัดระดับความรุนแรงไว้ 5 จุด ซึ่งที่ได้ข้อมูลมาแล้ว 2 จุด คือ ที่สถาบันพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
หากคำนวณแล้วพบว่าแรงสั่นสะเทือนที่กรุงเทพฯ อยู่ในระดับ 1 ใน 3 ของแรงสั่นสะเทือนที่กำหนดเป็นมาตรการฐานก่อสร้างอาคารสูง เพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว เน้นที่โครงสร้างเสาต้องไม่พัง กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กต้องไม่เสียหาย สลักต้องไม่แยกจากเสา ตัวพื้นต้องไม่แยกออกมา ส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างก็ไม่ได้เน้น เช่น กำแพงกั้นห้อง ฝ้า เพดาน ระบบท่อน้ำท่อประปาที่มีโอกาสได้รับความเสียหายได้ อย่างไรก็ตามต้องไปตรวจสอบดูอีกครั้งว่า มีการออกแบบดีจริงหรือไม่ และมีอะไรผิดพลาดหรือไม่
นอกจากนี้ ผอ.ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติย้ำแผ่นดินไหวไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ โอกาสเกิดขึ้นในช่วงชีวิตคนมีไม่ถึง 10% แต่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะเมื่อเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอาคารต้องตั้งอยู่ ไม่พังถล่มลงมา แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่ได้แรงเท่าระดับสูงสุดที่กำหนดในมาตรฐาน แต่แรงเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น มาตรฐานการออกแบบต้านทานแผ่นดินไหว เน้นความแข็งแรงของโครงสร้างหลัก รับน้ำหนักได้ คนรอดชีวิต เป็นมาตรฐานสากล แต่ไม่ได้หมายถึงผนังกำแพงกั้นห้องไม่ร้าว ฝ้าเพดานหล่น กระจกไม่แตก ไม่ใช่เป้าหลัก แต่หลังจากนี้อาจจะต้องปรับพิจารณาในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างด้วย
“ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่28 มีนาคม2568 จะไม่เกิดขึ้นง่าย อาฟตอร์ช็อคจะเบาลงและห่างไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความจะประมาท หรือตระหนกจนเกินไป แต่อย่าลืมยังมีสถานการณ์อื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น อาคารรุ่นใหม่ต้องทำให้แข็งแรง การดำเนินงานวิจัยหากทำตามกระแสสังคมแก้ปัญหาไม่ได้ แต่โชคดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนัลสนุนอย่างดี ช่วยให้เตรียมพร้อมและปกป้องชีวิตคนได้ “ ศ.ดร. เป็นหนึ่ง กล่าว
นักวิชาการแผ่นดินไหวระบุตลอด 20 ปี ที่ทีมวิจัยของเราได้นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์มาต่อกัน ทำให้เห็นปัญหาล่วงหน้า คือ การทำให้คนเชื่อตามการแก้ให้ถูกต้อง คือ เราต้องเตรียมพร้อมก่อนที่จะเกิด ซึ่งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติได้ ต่อจากนี้ จะมีปัญหาอาคารจำนวนมากในภาคเหนือได้รับความเสียหาย เราต้องเสริมกำลังอาคารที่อ่อนแอ ถ้าไม่ทำเราอาจจะเห็นผลกระทบที่ร้ายแรงและมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญกับ
เราควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรอยเลื่อนที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศ ด้วยจัดสรรงบประมาณมากกว่านี้ และควรเข้าไปตรวจสอบ และเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคารที่มีความอ่อนไหวเสี่ยงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอาคารเรียนหลายแห่งใน จ.เชียงราย เพราะตามข้อมูลการเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาคารเดิมจะใช้งบประมาณ10-20% ของงบประมาณการก่อสร้างอาคารใหม่
“ ที่ผ่านมาเรามีงานวิจัยทดลองติดตั้งอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนบนอาคารสูง โดยติดตั้งที่อาคารโรงพยาบาลเชียงใหม่ และโรงพยาบาลเชียงราย เพื่อประเมินความปลอดภัยของอาคาร และแจ้งต่อผู้ใช้อาคารในเวลาสั้นๆ 5 นาที ว่าสภาพอาคารเป็นอย่างไร ตำแหน่งไหนอันตราย และยังขยายการทดลองไปยังที่โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ในส่วนที่กรุงเทพฯ ก็เตรียมทดลองติดตั้งที่โรงพยาบาลกลาง หากมีหน่วยงานใดต้องการที่จะติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวทีมวิจัยของเรายินดีให้คำปรึกษา “ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว
เหตุการณ์แผ่นดิวไหวเขย่ากรุงเทพฯ ยังสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยภัยบัติของประเทศไทย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในวงเสวนา“สังคายนาระบบเตือนภัย” จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ ด้วยความเร็วคลื่นที่เร็วกว่าเสียง และน้อยกว่าแสงมีเวลา 7 นาทีก่อนมาถึงกรุงเทพฯ แต่ว่าระบบการเตือนภัยของประเทศไทยล่าช้า และไม่ครอบคลุม เนื่องจากส่งผ่านระบบSMS ที่มีข้อจำกัดส่งได้เพียง 2 แสนเลขหมาย ทั้งๆที่หากเตือนได้เร็วจะช่วยลดความสูญเสียได้
ทั้งนี้ เมื่อดูไทม์ไลน์ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว 13:20 น. ตามเวลาประเทศไทย อาคาร สตง.พังถล่มในเวลา13.26 -13.27 หรือประมาณ 7 นาที กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งศูนย์เตือนภัยประกาศในเว็บเตือนภัยเวลา 13.36 น. ซึ่งเป็นเวลาตึก สตง.ถล่ม และคนเสียชีวิตแล้ว และเรามี SMS เฉพาะหน่วยส่งผู้ว่าราชการจังหวัด สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และผู้บริหารทั้งหมดเวลา 14.30 น. และแจ้งให้กับประชาชนทั่วไปโดยส่ง SMS ให้กับ กสทช.เมื่อดูเวลาค่อนข้างล่าช้ามาจากจุดเริ่มต้น 13.36 ดังนั้น การทำงานแบบอนุกรมต่อกันไม่เวิร์ค ทันทีที่เกิดเหตุควรมีระบบแจ้งต่อประชาชนทันที
“ ต้องมีการปรับระบบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ปรับปรุงทำเป็นระบบเซลล์บอร์ดแคสต์ จะส่งข้อความแจ้งเตือนผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 นาที หรือระดับวินาที โดยจะสามารถใช้ได้ในเดือน ก.ค. 2568 จะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในการจัดทำระบบเซลล์บอร์ดแคสต์ให้ออกมาใช้ได้จริง เพราะมีองคาพยพที่ทำเรื่องนี้หลายหน่วยงาน แต่ปัจจุบันก็คุยกันถึงการลดขั้นตอนการขออนุญาตผู้บริหาร ในระหว่างนี้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ใช้ระบบการแจ้งผ่าน SMS ทันที โดยไม่ต้องผ่าน กสทช. รวมถึงช่องทางการแจ้งเตือนผ่านสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และโซเชียลมีเดียไปก่อน “ รศ.ดร.เสรี กล่าว