‘ไทยเบฟ’ ปรับทัพธุรกิจอาหาร ทุ่ม 1 พันล้าน-ขยายพอร์ตเต็มสูบ
SUB_TIK April 06, 2025 03:20 PM

แม่ทัพธุรกิจอาหารในเครือไทยเบฟ ปรับโครงสร้างธุรกิจอาหารภายใต้แนวคิด “ONE FOOD GROUP” ผนึก 3 บริษัทหลักเสริมแกร่งหลังบ้าน ทุ่มงบฯกว่า 1,000 ล้านบาท ขยายครบ 888 สาขา ในปี 2568 พร้อมเตรียมเพิ่มแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ต ไม่หวั่นแม้สหรัฐขึ้นภาษี มั่นใจยังโตตัวเลขสองหลัก

นายไพศาล อ่าวสถาพร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) ภายใต้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอาหารในเครือไทยเบฟในปี 2568 บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจอาหาร (Food Group) ใหม่ภายใต้แนวคิด “ONE FOOD GROUP” ที่จะมุ่งสร้างความแข็งแกร่งผ่านการรวมระบบหลังบ้าน ทั้งระบบ POS, การจัดซื้อ, การบริหารพลังงาน และการจัดการทรัพยากรบุคคลของทั้ง 3 บริษัทในกลุ่มธุรกิจอาหารเข้าด้วยกัน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ทั้งในเชิงธุรกิจ ภาพลักษณ์องค์กร และความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

ซึ่งปัจจุบันกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในเครือไทยเบฟ ประกอบด้วย 3 บริษัทหลัก คือ บริษัท โออิชิ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ OISHI ที่ประกอบและพัฒนาธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นหลากหลายแบรนด์ และยังมีอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ภายใต้ตราสินค้า โออิชิ อีทโตะ

บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ QSA ที่ประกอบและพัฒนาธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน ที่เป็นหนึ่งในผู้ถือสิทธิแฟรนไชซี เคเอฟซี ประเทศไทย ที่มีสาขามากที่สุด หรือกว่า 500 สาขาทั่วประเทศ

และบริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ FOA ที่ประกอบและพัฒนาธุรกิจร้านอาหารอย่างครบวงจร ตั้งแต่อาหารไทยทั่วทุกภูมิภาค, อาหารจีน, อาหารอาเซียน, อาหารชาติตะวันตก, รวมไปถึงเค้กและเบเกอรี่

ทุ่ม 1 พันล้าน-ขยายเต็มสูบ

นายไพศาลกล่าวต่อว่า โดยในปี 2568 บริษัทจะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 4 เสาหลัก ไม่ว่าจะทั้งการเดินหน้าขยายสาขาในพื้นที่ใหม่ ๆ การพัฒนาเมนูใหม่ ๆ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพพนักงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน และการลดปริมาณขยะอาหาร

โดยเบื้องต้นในปีงบประมาณ 2568 (1 ต.ค. 67 – 30 ก.ย. 68) บริษัทตั้งเป้าที่จะขยายสาขาให้ครบ 888 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ทั้งหมด 847 สาขา แบ่งเป็น QSA 500 สาขา, โออิชิ 284 สาขา และ FOA 63 สาขา ด้วยงบฯลงทุนรวมกว่า 1,000 ล้านบาท

ด้านการพัฒนาเมนูใหม่ ๆ และการจัดกิจกรรมทางการตลาด หลัก ๆ ในแต่ละแบรนด์จะมีการพัฒนาเมนูออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเคเอฟซี เมื่อช่วงต้นปีลอนช์เมนู “ข้าวมันไก่” ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดี ขณะที่แบรนด์ในกลุ่มโออิชิ ในปีนี้จะอัดแคมเปญปลุกตลาดให้คึกคักมากยิ่งขึ้น

เพิ่มแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ต

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนพัฒนาแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโออีก 2-3 แบรนด์ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ภายใต้บริษัท FOA โดยจะเน้นเซ็กเมนต์ Mass Market ที่สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงลูกค้าให้ง่ายขึ้น

“การขยายธุรกิจในปัจจุบันเราไม่ได้มองแค่การเปิดสาขาเพิ่ม แต่มองไปถึงการขยายศักยภาพ โดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูลยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ควบคู่กับการบริหารต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจอาหารเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง”

วัน แบงค็อก-จุดโชว์เคส

ซึ่งหนึ่งในก้าวสำคัญของกลุ่มธุรกิจอาหารในเครือไทยเบฟปีนี้ ก็คือ การเปิดร้านอาหารภายใต้โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ “วัน แบงค็อก” ด้วยงบฯลงทุนรวมกว่า 400 ล้านบาท เพื่อเป็นจุดโชว์เคสแบรนด์ร้านอาหารในเครือในรูปแบบโมเดลใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

โดยนำแบรนด์ร้านอาหารในเครือมารวมอยู่ในที่เดียวกันมากถึง 15 แบรนด์ ทั้งในกลุ่มโออิชิ ที่มีแบรนด์โฮว ยู, ซาคาเอะ, ชาบูชิ อิชิเทน และโออิชิ บิซโทโระ และกลุ่ม QSA ที่มีแบรนด์เคเอฟซี (KFC) และกลุ่ม FOA ที่มีแบรนด์บ้านสุริยาศัย, หม่าน ฟู่ หยวน, แวนเทจ พอยท, ไฮด์ แอนด์ ซีค, ฟู้ด สตรีท, โฮมเบค บาย เอ็ม เอกซ์, สโมสร, เลิศเหลา, คาเฟ่ ชิลลี่ และช้าง แคนวาส

โดยจะเน้นใช้กลยุทธ์ 1 ร้าน ต่อ 1 แบรนด์ เพื่อให้แบรนด์ไม่ต้องแข่งกันเอง ซึ่งในอนาคตบริษัทก็มีแผนที่จะนำร้านอาหารบางแบรนด์ที่เปิดในวัน แบงค็อก ออกไปขยายด้านนอกด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาพื้นที่อยู่

“เราตั้งใจให้ที่นี่เป็นเสมือนจุดโชว์เคสที่สะท้อนความพร้อมของกลุ่มร้านอาหารทั้งด้านคุณภาพสินค้า บริการ ประสบการณ์ที่แตกต่าง และศักยภาพในการแข่งขันในตลาดระดับบน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงที่ดี ระหว่างแบรนด์ของเรากับผู้บริโภคยุคใหม่”

มั่นใจเศรษฐกิจไทยแกร่ง

นายไพศาลกล่าวว่า แม้ปัจจุบันการทำธุรกิจร้านอาหารจะมีความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะทั้งภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ การแข่งขัน รวมถึงนโยบายทางการค้าโลก เช่น การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ แต่บริษัทยังเชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจที่จะสามารถเติบโตตามเป้าหมายได้

“ที่ผ่านมาบริษัทได้จัดหาวัตถุดิบจากหลายแหล่ง และซื้อขายล่วงหน้าเพื่อบริหารความเสี่ยงด้านต้นทุนอยู่แล้ว ประกอบกับรับซื้อผลผลิตตามฤดูกาลจากเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ทำให้การขึ้นภาษีของสหรัฐไม่ได้กระทบมากนัก”

ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 (1 ต.ค. 67-30 ก.ย. 68) บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตระดับสองหลัก สำหรับทุกบริษัทในกลุ่มอาหาร ตามแผน Vision 2030 จากปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค. 66-30 ก.ย. 67) ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้รวมอยู่ที่ 22,288 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้ของกลุ่มโออิชิ 50%, กลุ่ม QSA 40% และกลุ่ม FOA 10%

“โจทย์ของธุรกิจอาหารวันนี้ ไม่ใช่แค่รสชาติหรือราคา แต่คือการทำให้ลูกค้าใช้จ่ายกับเราได้คุ้มค่าและกลับมาใช้บริการซ้ำ ซึ่งเรามั่นใจว่าด้วยความแข็งแกร่งของระบบหลังบ้านและแบรนด์ที่มีอยู่ จะสามารถตอบโจทย์ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.