ทุกครั้งของวิกฤต จะมีทั้ง “ปัญหา” และ “โอกาส” เกิดขึ้นเสมอ
อย่างเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมืองไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นครั้งแรกที่คนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเจอแผ่นดินไหวอย่างจริงจัง
ที่ผ่านมาค่อนข้างจะบางเบา
ไม่เหมือนกับครั้งนี้
ความเลวร้ายที่สุดของแผ่นดินไหวครั้งนี้ก็คือ อาคาร 30 ชั้นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างอยู่ถล่มลงมา
มีคนบอกว่าถ้าไม่มีเรื่องนี้ ต้องถือว่าเมืองไทยเสียหายน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
และพิสูจน์ว่าอาคารสูงใน กทม.มีโครงสร้างที่แข็งแรงรับมือกับแผ่นดินไหวได้
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับห้องพักในคอนโดมิเนียมต่าง ๆ แม้จะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับลูกบ้าน
แต่ก็ยังดีกว่าโครงสร้างตึกมีปัญหา หรือตึกทรุด
ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เหตุการณ์นี้เป็น “โอกาส” ของหลายบริษัท
เพราะสถานการณ์มักจะสร้างวีรบุรุษเสมอ
คอนโดฯไหนที่โครงสร้างแข็งแรง ห้องพักเสียหายน้อย ก็จะมีการบอกกล่าวกันในโซเชียลมีเดีย
คอนโดฯไหนที่มีปัญหา โครงสร้างและห้องพักเสียหายหนัก
แบรนด์นั้นก็เหนื่อยหน่อย
เช่นเดียวกับการดูแลลูกค้าของแต่ละแบรนด์ ถ้าใครคิดว่าช่วงเวลานี้คือ “โอกาส” สร้างความประทับใจให้ลูกค้า
เขาก็จะทุ่มเทอย่างเต็มที่
เพราะหลังจากนั้น การตลาดแบบ “บอกต่อ” จะทำงาน
ต่อไปใครจะซื้อคอนโดฯ เขาจะเริ่มหาข้อมูลว่าแต่ละแบรนด์เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งคุณภาพการก่อสร้าง และการบริการหลังการขาย
ดูแลลูกค้าดีไหม เวลาที่มีปัญหา
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับ วิกฤตแผ่นดินไหวครั้งนี้มีผลกระทบทางจิตวิทยากับคนซื้อคอนโดฯมากพอสมควร
เพราะการวิ่งลงจากชั้น 20 กว่า มันเหนื่อยนะครับ
จิตวิทยาแบบนี้ก็เหมือนกับตอนที่น้ำท่วมใหญ่ปี 2554
ที่อยู่อาศัยแนวราบได้รับผลสะเทือน
ในขณะที่คอนโดฯกลับได้รับความนิยม
แผ่นดินไหวครั้งนี้คงกลับข้างกัน
คนเริ่มคิดถึงบ้านและทาวน์เฮาส์มากขึ้น
ยอดขายคอนโดฯ โดยเฉพาะตึกสูงจะชอร์ตไปช่วงหนึ่ง
แต่คอนโดฯระดับ 8 ชั้น คงไม่สะเทือนมากนัก
เพราะคนอยู่ชั้นไม่สูงมาก ได้รับผลจากแผ่นดินไหวน้อย
และการวิ่งลงจากตึก 8 ชั้นพอไหว ไม่เหนื่อยเท่าไร 555
ส่วนธุรกิจอื่นบอกได้เลย คงได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะคนจำนวนไม่น้อยต้องควักเงินไปซื้อของ หรือจ้างช่างไปซ่อมแซมห้องในคอนโดฯ
เงินที่ควรจะไปจับจ่ายใช้สอยอย่างอื่นก็ต้องเอามาจ้างช่าง
ของอื่นที่จะซื้อก็ต้องเอาไว้ก่อน
คิดง่าย ๆ แบบนี้ก็รู้แล้วว่ากำลังซื้อของคนกรุงส่วนหนึ่งจะลดลง
ยัง…ยังไม่พอ
หลังจากแผ่นดินไหวในเมืองไทยผ่านไป เราก็เจอแผ่นดินไหวจากต่างประเทศถล่มซ้ำอีกครั้ง
เป็นแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา
เมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเป็น 36%
แม้ทุกคนจะมองออกว่าเป็นตัวเลขขู่เพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรอง
แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็บอกว่าจะกระทบกับการส่งออกของไทย
และมีผลต่อ GDP ด้วย
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก
แม้ว่าตัวเลขการส่งออกของไทยช่วงไตรมาสแรกค่อนข้างดี
แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะผู้นำเข้าของสหรัฐอเมริกาสั่งซื้อสินค้ไทยไปตุนไว้ก่อน
เพราะรู้ว่าจะต้องเจอการขึ้นภาษีแน่นอน
ถ้าเป็นจริงก็หมายความว่ายอดส่งออกของไทยต่อจากนี้ก็จะลดลงอย่างแน่นอน เพราะเขาสต๊อกสินค้าไว้แล้ว
ครับ แผ่นดินไหวจาก “ทรัมป์” ครั้งนี้คงไม่จบลงง่าย ๆ
คงมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นเรื่อย ๆ
ตอนนี้ก็คงได้แต่หวังว่าที่รัฐบาลตั้งคณะทำงานเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี
คงมีแนวทางที่จะทำให้ประเทศไทยเสียหายน้อยที่สุด
ในมุมของ “โอกาส” นี่คือ ช่วงเวลาที่รัฐบาลจะแสดงฝีมือ
แต่ถ้าไม่สามารถแก้สถานการณ์ได้
“โอกาส” ก็จะเปลี่ยนเป็น “ปัญหา” ทันที
กลายเป็นแผ่นดินไหวทางการเมืองแทน