ยุคต้นของประวัติศาสตร์ที่ชวนหลงใหลให้ตีความ
GH News April 06, 2025 04:25 PM

ยุคต้นของประวัติศาสตร์ที่ชวนหลงใหลให้ตีความ

หนังสือ “พนม ไศเลนทร: ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยอยุธยา” เขียนโดยอาจารย์ธรรมทาส พานิช มีเรื่องชวนหลงใหลอยู่มาก แต่จะขอยกมาอ้างเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะบทที่ 1 ชื่อ “รัฐของชนชาวภูเขาในสมัย พ.ศ. 600 – 1100: รัฐพนมสมัยแรก” ก่อนอื่นของทำความเข้าใจกับชื่อหนังสือ คำว่าพนมนั้นแปลว่าภูเขา ส่วนคำว่าไศเลนทรเป็นภาษาสันสกฤต ประกอบด้วย ไศล = ฟ้า และ อินทร = พระอินทร์ = เจ้า รวมแล้วได้ความว่า “พระอินทร์ของชาวภูเขา” เป็นคำที่ “ลูกหลานของพระอินทร์แห่งเขาพระวิหารเรียกนามวงศ์ของพวกตน

อาจารย์ธรรมทาสเขียนว่า นักศึกษาฝรั่งเข้าใจว่า พนมเป็นภาษาเขมร “รัฐพนมเป็นรัฐเขมรโบราณ” แต่ชาวจีนยืนยันว่า ชาวพนมคือชาว “เซียะโท้วก๊ก” หมายถึงเมืองท้าวไข่แดง – ตามพรลิงค์ และเสี้ยมหลอก๊กอาจารย์เล่าต่อไปว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1100 พวกเจนละ (เขมร) จากทางที่ราบต่ำยกทัพมาตีกรุงพนมแถบเขาพระวิหารจนราบคาม ลูกหลานของเจ้ากรุงพนมจึงแยกย้ายไปตั้งตัวเป็นเอกราชในที่ต่าง ๆ กัน เช่น ท้าวไข่แดงตั้งนครตามพรลิงค์ที่นครศรีธรรมราช อีกองค์หนึ่งตั้งนครทวารวดีศรีอยุธยาที่อู่ทอง อีกองค์หนึ่งตั้งตัวที่นครพนม

กษัตริย์เหล่านี้เป็นวงศ์เดียวกัน มีวัฒนธรรมและ “ศิลปะไศลเลนทร” ร่วมกัน แต่นักศึกษากลับเรียกชื่อศิลปะนี้ต่าง ๆ กันไป เช่น ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นักศึกษาสมมติเรียกศิลปะนี้ว่า “ศิลปะทวารวดี” ศิลปะที่สืบเนื่องต่อมาสมมติเรียกว่า “ศิลปะศรีวิชัย” ศิลปะที่เชียงแสน ศรีสัชนาลัย ลำพูน นครปฐม ไชยา นครศรีธรรมราช ไทรบุรี และที่เกาะชวานั้น ล้วนสืบเนื่องมาจากศิลปะไศเลนทร ส่วนไศเลนทร์วงศ์ ก็มีอยู่หลายสาขา แต่ไม่ค่อยมีจารึก

อาจารย์ธรรมทาสยังตีความกว้างขวางออกไปว่า พระนางจามเทวีเป็นชาวกัมโภช ซึ่งหมายถึงชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตรงกับเมืองอโยธยาและเมืองละโว้ ในสมัยต่อมาจนถึงพระเจ้าอู่ทอง (รามาธิบดี) ผู้คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงเรียกตนเองว่าชาวกัมโภช เป็นคนละคำกับกัมพูชาซึ่งหมายถึงเขมร-เจนละ ต่อมากัมพูชายังหมายถึงพวกไศเลนทรที่มีมารดาเป็นเขมร และครองแดนพระนครหลวง พระนครวัด
การที่ทางนครหริภุญชัยต้องมาอัญเชิญพระนางจามเทวี ก็เพราะทรงเป็นญาติของพระพุทธเจ้า ทั้งในทางสายโลหิตและในทางธรรมทายาท แต่เดิมนครหริภุญชัยมีแต่คอร์รัปชั่น จนน้ำท่วมบ้านเมืองยับเยินเพราะคอร์รัปชั่น พระนางจามเทวีได้ทำให้เป็นแดนสวรรค์ เต็มไปด้วยผู้มีศีลธรรม ราษฎรนอนหลับไม่ต้องปิดประตูเรือน ไม่มีการเบียดเบียนกันเลย … คนไทยยกย่องพระนางจามเทวีเป็นดอกบัวบานดอกหนึ่งของไศเลนทรวงศ์ เท่าเทียมพระเจ้าอโศก ที่ฝรั่งว่าพระนางจามเทวีเป็นมอญนั้น เพราะมีจารึกเป็นภาษามอญที่ลำพูน เป็นจารึกสมัย พ.ศ. 1500 คนไทยส่วนมากก็เชื่อตาม

อักษรศาสตร์ของชาวไศเลนทรเป็นแบบอินเดีย แต่ภาษาพูดเป็นภาษาโบราณก่อนขอม บางคำพ้องกับภาษาเขมร บางคำพ้องกับภาษามอญ แสดงว่าภาษาโบราณของชาวไศเลนทรนี้ เป็นต้นตระกูลของภาษาในแดนสุวรรณภูมินี้หลายภาษา
จะขอหยุดการอ้างอิงหนังสือ “พนม ไศเลนทรฯ” ที่กล่าวถึง “ชาวไทย” ในลุ่มเจ้าพระยา แต่เพียงเท่านี้ ก่อนที่จะหลงใหลในความยิ่งใหญ่และแผ่กว้างของ “ไศเลนทร” มากไปกว่านี้อีก

ต่อไป จะขอสืบสาวราวเรื่องคำว่า “ขอม” และ “เขมร” ย้อนไปในอดีต โดยจะพูดถึงชาวเขมรก่อน เพราะคิดว่าคำคำนี้มีความชัดเจนพอสมควร คือชัดกว่าคำว่า “ขอม” ที่ดูเหมือนว่ายังมีข้อถกเถียงกันอยู่ วิกิพีเดียให้ข้อมูลว่า ชาวเขมรเริ่มมีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้เคียงกับชาวมอญโดยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในกลุ่มภาษามอญ-เขมรและสร้างจักรวรรดิเขมรขึ้นในอดีต ชาวเขมรยังแบ่งได้เป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่มตามประเทศและภาษาที่ใช้คือชาวเขมรในกัมพูชา พูดภาษาเขมร ชาวเขมรเหนือหรือเขมรสุรินทร์อยู่ในประเทศไทย และพูดภาษาเขมรที่เป็นสำเนียงของตนเองและพูดภาษาไทยด้วย ส่วนชาวขแมร์กรอมเป็นชาวเขมรที่อยู่ทางภาคใต้ของประเทศเวียดนาม

คำว่าเขมรนั้นเป็นคำไทย ส่วนชาวเขมรเรียกตนเองอย่างชัดเจนว่า “ขะแมร์” มาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 12 และเรียกดินแดนของตนว่า “กัมพูชา” มาตั้งแต่สมัยก่อนยุคอาณาจักรพระนคร ตามตำนานเขมรนั้น ผู้ก่อตั้งอาณาจักรกัมพูชาคือพราหมณ์ นามว่ากามพู สวยัมภูวะ หรือ โกญธัญญะ และเจ้าหญิงที่เป็นธิดาของพญานาค นามว่า โสมา หรือ เมรา เมื่อทั้งสองได้แต่งงานกันก็ได้กำเนิดนามว่า “ขะแมร์” ชาวเขมรตั้งชื่ออาณาจักรของพวกเขาว่า “กัมพูชา” ตามกษัตริย์แห่งกัมโพชะแคว้นหนึ่งในชมพูทวีปในยุคเหล็กของอินเดีย

ชาวเขมรได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาใกล้เคียงกันกับชาวมอญ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันตก นักโบราณคดี, นักภาษาศาสตร์ส่วนใหญ่ และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ เช่น จีนศึกษา เชื่อว่าทั้งชาวเขมรและชาวมอญมาถึงภูมิภาคนี้ไม่ช้ากว่า 2000 ก่อนคริสต์ศักราช (กว่าสี่พันปีมาแล้ว) ในช่วงแรกชาวเขมรเริ่มทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะปลูกข้าว ภูมิภาคที่ชาวเขมรอาศัยอยู่นี้ยังเป็นหนึ่งในสถานที่แรกในโลกที่เริ่มมีการใช้สำริด ชาวเขมรได้สร้างจักรวรรดิเขมรในเวลาต่อมา ซึ่งครอบงำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลาหกศตวรรษ ซึ่งเริ่มต้นครอบงำในปี พ.ศ. 1345

เช่นเดียวกับชนกลุ่มอื่น ๆ ในยุคต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ปยู, มอญ, จาม, มลายู และ ชวา ชาวเขมรเป็นชนชาติหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย โดยเฉพาะด้าน ศาสนา ภาษา และการค้า ในการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีที่ อังกอร์ บอเรย์ ใกล้ชายแดนเวียดนาม ได้ขุดพบ ซากอิฐ, คลอง, สุสานและหลุมฝังศพ สืบมาถึงศตวรรษที่สิบห้าก่อนคริสต์ศักราช

อาณาจักรฟูนันของชาวเขมร ก่อตั้งขึ้นในทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชาและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ชาวเขมรในยุคฟูนัน (คริสต์ศตวรรษที่ 1 – คริสต์ศตวรรษที่ 6) ได้รับพระพุทธศาสนา, ลัทธิไศวะ และลัทธิเทวราชา มีการสร้างวิหารที่ยิ่งใหญ่ราวกับเป็นภูเขาสัญลักษณ์ของศูนย์กลางโลก ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 5 มีการก่อตั้งอาณาจักรเขมรเจนละขึ้น อาณาจักรเจนละได้เอาชนะและยึดครองอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรเจนละเป็นรัฐที่อยู่บริเวณที่ราบสูงซึ่งมีเศรษฐกิจพึ่งพาการเกษตร ในขณะที่ฟูนันเป็นรัฐที่ลุ่มที่มีเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการค้าทางทะเล

มาถึงรัชสมัยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 (ครองราชย์ในปี ค.ศ. 1002 – ค.ศ. 1050) พระองค์ได้ทรงส่งกองทัพไปทางทิศตะวันตก และผนวกอาณาจักรทวารวดีของมอญเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมร ทำให้พระองค์ได้ปกครองส่วนใหญ่ของประเทศไทยและลาวในปัจจุบัน รวมถึงครึ่งทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู ในระหว่างนี้ได้มีการสร้างนครวัดที่ถือเป็นจุดสูงสุดของอารยธรรมเขมร

คนไทยจำนวนหนึ่งคิดว่า “ขอม” คือเขมร แต่ดูเหมือนว่าคำคำนี้มีหลายความหมาย อาจหมายถึงชนชาติและอาจหมายถึงวัฒนธรรม ในความหมายของชนชาติ ชาว “ขอม” กับชาวเขมรมักถูกอ้างว่าเป็นคนละชนชาติกัน อาจารย์ธรรมทาสเขียนว่า “ขอมกับเขมรเป็นข้าศึกต่อกันตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ สมัยใดขอมเป็นใหญ่ ในดินแดนพระนครหลวงก็รุ่งเรืองไปด้วยพระพุทธศาสนา สมัยใดเขมรเป็นใหญ่ ดินแดนพระนครหลวงก็เต็มไปด้วยไสยศาสตร์และศิวลึงค์ พวกขอมคือไศเลนทรที่มีมารดาเป็นเขมร มีวัฒนธรรมไศเลนทรของฝ่ายบิดา ส่วนพวกเขมรแท้มีวัฒนธรรมไศยศาสตร์ มากไปด้วยพิธีกรรมของพราหมณ์ปุโรหิต

อาจารย์ธรรมทาสเขียนต่อไปว่า “ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตรงเมืองอู่ทองและละโว้ ที่กำแพงเพชร ที่สุโขทัย ที่พิมาย ปรากฏว่ามีโบราณสถานที่คนไทยโบราณเรียกว่า “ปรางค์ขอม” อยู่มากมาย … สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียกบรรดาโบราณสถานที่สร้างก่อนสมัยสุโขทัยว่า “ปรางค์ขอม” เช่นกัน (แต่) สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัฒนธรรมเขมร ฝรั่งแกล้งเขียนประวัติศาสตร์ว่าเขมรปกครองดินแดนเหล่านี้ … พวกนักโบราณคดีฝรั่งเรียก “ขอม” นี้ว่า “แขมร์” โดยเข้าใจผิดว่าขอมนี้คือเขมร และต้องการจะรวมลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้ากับแดนเขมรด้วย”

คราวนี้มาเปิดวิกิพีเดียดูบ้าง  คำว่า “ขอม” (Khom) ตามนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 คือ เขมรโบราณ ชาวขอมกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา นับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน มีที่อยู่อาศัย เช่น แคว้นโยนก แคว้นสุโขทัย แคว้นอโยธยาเดิม (อู่ทอง ลวปุระ อโยชชะปุระ นครปฐม) และลุ่มแม่น้ำมูล (ดินแดนอีสาน) เอกสารทางล้านนา เช่น จารึกและตำนานต่าง ๆ ล้วนระบุสอดคล้องกันว่า ขอมคือพวกที่อยู่ทางใต้ของล้านนา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนอธิบายไว้ว่า ขอมเป็นพวกนับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน ใครเข้ารีตเป็นฮินดู หรือพุทธมหายาน เป็นได้ชื่อว่า “ขอม” ทั้งหมด ขอมไม่ใช่ชื่อชนชาติ เพราะไม่มีชนชาติขอม แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับ สยาม

แม้ขอมอาจไม่ใช่ชื่อชนชาติ แต่ก็มีชนหลายกลุ่มที่ถูกเรียกว่าชาวขอม  เช่น ชนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับชาวไท ถูกเรียกว่า ขอมสยาม ได้แก่กองทัพสยามที่ยกไปตีเมืองสะเทิมของมอญ, ขอมสบาดโขลญลำพง  คือแม่ทัพฝ่ายขอมซึ่งปกครองเมืองสุโขทัยอยู่ในฐานะเมืองหน้าด่านของขอม, ขอมละว้าคือชนชาติละว้าพื้นราบผสมกับชนชาตินาคาจากอินเดียและตอนเหนือของพม่า, ขอมเสลานคร  คือชนกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมืองอุโมงค์เสลานคร (พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ขอมดำ คือชนชาวกูยที่อาศัยริมแม่น้ำโขง, ขอมดำกำโพชพิสัย  คือ ชาวขอมดำในถิ่นกัมพูชา, พิริยะแขกขอม เป็นชื่อเรียก ครูผู้รู้ลายสือขอมไท เป็นต้น

สุจิตต์ วงษ์เทศเสนอว่า “ขอม” น่าจะหมายถึงคนในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่กับคนทางเหนือ คำว่าขอม ใช้เรียกคนเมืองละโว้หรือลพบุรี และต่อมาจึงเรียกรวมไปถึงเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอยุธยา จากนั้นในหลักฐานประวัติศาสตร์ของอยุธยา ได้ใช้คำนี้เรียกคนในดินแดนเขมรแถบเมืองพระนครหรือนครธม ในข้อความที่ว่า “ขอมแปรพักตร์” และในกฎมณเฑียรบาล น่าจะหมายถึงคนในเขมรหรือกัมพูชา โดยสรุป คำว่า ขอม เป็นคำเรียกคน มีความหมายทางวัฒนธรรม และมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา

คราวนี้ขอทำความเข้าใจกับราชวงศ์ไศเลนทร์โดยสังเขป ทั้งนี้ อาศัยความรู้จากวิกิพีเดียอีกครั้งหนึ่ง ราชวงศ์ไศเลนทร์ (Shailendra dynasty) สถาปนาโดย พระเจ้าศรีชยนาศแห่งศรีวิชัย  ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ซึ่งการครองราชย์ของพระองค์สร้างความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ พระองค์เป็นผู้สนับสนุนพุทธศาสนานิกายมหายานและทรงสร้างพุทธศาสนสถานในชวากลาง หนึ่งในนั้นคือมหาสถูปบุโรพุทโธ ซึ่งปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก

จนล่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งอาณาจักรชวาภาคกลางนำกองทัพเรือเข้ารุกรานอาณาจักรเจนละ ทำให้เจนละแตกออกเป็น 2 ส่วนคือ เจนละบก และ เจนละน้ำ โดยส่วนที่เป็นเจนละน้ำนั้นถูกชวายึดครองได้ นอกจากนี้อาณาจักรชวายังได้นำตัวองค์รัชทายาทไปเป็นตัวประกันที่อาณาจักรชวาอีกด้วย ต่อมาในปีพ.ศ. 1350 ชัยวรมันที่ 2 ได้รวบรวมกองทัพขึ้นต่อสู้ และประกาศเอกราชจากอาณาจักรชวา อีกทั้งยังรวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำ สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรเขมร และขนานนามใหม่ว่า เมืองกัมโพชน์ตะวันออก โดยแยกตัวมาจากอาณาจักรละโว้ (ปัจจุบันเรียกว่า ลพบุรี) ซึ่งมีเมืองกัมโพชน์อยู่แล้ว

ในปีค.ศ. 1025 พระเจ้าราเชนทราที่ 1 แห่ง ราชวงศ์โจฬะ ของอินเดียทรงเริ่มการรุกรานทางทะเลต่ออาณาจักรศรีวิชัยและอาณาจักรชวา เพื่อขยายเส้นทางการค้าของพ่อค้าชาวทมิฬ กองทัพเรือของพระองค์ได้ทำการยึดครองเมืองท่าสำคัญหลายแห่ง การรุกรานนี้นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ไศเลนทร์ของศรีวิชัยในที่สุด

ในยุคต้นของประวัติศาสตร์ ผู้คนกลุ่มใหญ่ ๆ ที่อาศัยในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นอกเหนือจากชาวเขมร ชาวชวา ชาวปยู, ชาวจาม, ชาวเวียด, ชาวมลายู แล้ว ยังมีชาวมอญที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานราว 4,000 ปีมาแล้ว (พอ ๆ กับชาวเขมร และก่อนชาวพม่าและชาวไท-ไต นับพันปี) ในที่นี้ ขอเล่าประวัติชาวมอญโดยสังเขป โดยอ้างอิงจากหนังสือ “วัฒนธรรมมอญทวารวดีในภาคตะวันออกของไทย” เขียนโดย Joachim Schliesinger

ในคริสต์สหัสวรรษแรก ผู้คนที่อาศัยในลุ่มน้ำบางปะกงประกอบด้วย 1) ชาวชองที่พูดภาษาแพริก (ภาษามอญ – เขมรตะวันออก) 2) ชาวมอญที่อพยพมาจากทางภาคกลางของเมียนมา 3) ชาวเขมรเจนละที่อพยพมาจากทางตะวันออก โดยเฉพาะเมืองเพนียด จังหวัดจันทบุรีในปัจจุบัน 4) ชาวเขมรพระนครซึ่งในช่วงต่อมา ได้ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ เมื่อชาวเขมรขยายพื้นที่ของตนออกไป ก็เข้าซ้อนทับกับพื้นที่เดิมของมอญ มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมของมอญทวารวดีกับของเขมร เช่น คูเมืองของมอญเป็นรูปไข่และมีขนาดใหญ่ ส่วนของเขมรเป็นรูปสี่เหลี่ยมและเล็กกว่า

เชื่อกันว่าอารยธรรมมอญเป็นอารยธรรมแรกของแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้าการก่อตั้งอาณาจักรของเขมร, พม่า, สยามหลายศตวรรษ ในราวศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์กาล มอญเริ่มการปลูกข้าวในนา และก่อตั้งราชอาณาจักรแห่งแรกใกล้เมืองสะเทิม ทางตอนใต้ของพม่าปัจจุบัน ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 5 มอญได้ก่อตั้งราชอาณาจักรหรือนครรัฐขนาดเล็กขึ้นหลายแห่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยารอบเมืองอู่ทอง ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ชาวมอญก่อตั้งเมืองหลายแห่งในลุ่มน้ำบางปะกง และก่อตั้งราชอาณาจักรหริภุญชัยใกล้เมืองลำพูนปัจจุบัน ในศตวรรษต่อมา การก่อตั้งนครรัฐได้ขยายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เมืองฟ้าแดดสงยาง ในจังหวัดกาฬสินธุ์ปัจจุบัน เมืองเสมา ในจังหวัดโคราชปัจจุบัน เมืองศรีโคตรบูร ริมแม่น้ำโขง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเมืองโบราณของมอญกระจายอยู่หลายแห่ง เมืองเหล่านี้มีการจัดโครงสร้างทางการเมืองแบบมีลำดับชั้น เมืองที่เล็กกว่ายอมรับความเหนือชั้นกว่าของเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง และเมืองใหญ่ก็ขึ้นต่อเมืองที่ใหญ่กว่าอีกตามลำดับถึงเมืองศูนย์กลาง (เมืองสะเทิมอาจเป็นศูนย์กลางของเมืองที่เล็กกว่าในลุ่มน้ำอิรวดี)

ขณะเดียวกัน คงต้องแยกชาวบ้านธรรมดาจากผู้ครองนคร ชาวบ้านอาจประกอบด้วยชนต่างเผ่าพันธุ์หลายกลุ่ม แต่ประวัติศาสตร์มักให้ความสำคัญแก่ผู้ครองนคร ถ้าผู้ครองเป็นชนกลุ่มใด ก็ทึกทักว่านครเป็นของชนกลุ่มนั้น แม้บางทีในบรรดาชนต่างเผ่าต่างพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น มีเพียงส่วนน้อยที่มีชาติพันธุ์เดียวกับชนชั้นนำที่มีอำนาจทางการทหารและการปกครอง

เป็นไปได้ว่าชาวมอญและชาวเขมรสมัยที่เรืองอำนาจ ได้ทำการจัดตั้งอาณานิคม ด้วยกำลังทางการทหารและพลังทางวัฒนธรรมที่เหนือกว่า จึงยกทัพ เช่น ทัพเรือ มายึดครองดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และเป็นปากแม่น้ำ เช่น แม่น้ำสั้น ๆ ในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบัน ที่สะดวกแก่การขนส่งสินค้าจากส่วนลึกของแผ่นดินใหญ่มาที่ปากแม่น้ำ จึงเป็นทำเลที่เหมาะแก่การค้า เป็นต้น ทำให้ตีความไปได้ว่า เมืองอันเป็นที่ตั้งของอาณานิคม คือเมืองของกลุ่มชนผู้มายึดครอง โดยไม่คำนึงถึงกลุ่มชนต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่เดิม

อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ก็มีการเสื่อมสลาย กล่าวโดยสังเขปคือ อาณาจักรเขมรได้เปลี่ยนยุคสมัย จากสมัยฟูนัน (ประมาณคริสต์ศตวรรษ 1 – 6) มาเป็นอาณาจักรเจนละ (กลางคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8) จนมาถึงอาณาจักรพระนคร (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11) ส่วนอาณาจักรมอญทวารวดี รุ่งเรืองอยู่ระหว่างคริสต์วรรษที่ 6 ถึงที่ 11 โดยประมาณ

จากนั้นชาวมอญต้องเผชิญความท้าทายจากการอพยพเข้ามาของชาวพม่าจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของชาวไทจากทางเหนือ ผู้อพยพเข้ามาแม้จะอ่อนด้อยกว่าในเชิงศิลปะวัฒนธรรม แต่รบเก่งกว่า ส่วนชาวเขมรที่เคยมีความกลมกลืนกันทางภาษาและวัฒนธรรมกับชาวมอญมาช้านาน พอมีความเข้มแข็งมากขึ้นในหลายด้าน ก็รุกคืบมาทางตะวันออก มอญจึงมิได้เป็นชนชาติที่เรืองอำนาจอีกต่อไป

ปัจจุบัน มีชาวมอญอาศัยกระจัดกระจายอยู่ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศไทย พอสันนิษฐานได้ว่า ก่อนที่ชนเผ่าที่พูดภาษาไทจะอพยพมาอยู่ในสุวรรณภูมิ มีชาวมอญอาศัยอยู่เกือบเต็มพื้นที่ภาคกลางและบางส่วนของภาคอีสาน โดยที่จำนวนหนึ่งได้ใช้ภาษาไทเป็นภาษากลางในการสื่อสารและในการค้า รวมทั้งบางส่วนได้กลืนกลายจนเป็นคนไทยในปัจจุบัน

ผู้คนต่างชาติพันธุ์ได้สู้รบกันมายาวนาน รวมทั้งได้ยึดพื้นที่ของชนกลุ่มอื่นเป็นเมืองขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อในความเหนือกว่าของกลุ่มชนของตน ต่อมาได้พัฒนาแนวคิดเรื่องเชื้อชาติ (race) ขึ้น ซึ่งอันตรายมาก ปัจจุบัน การอ้างเชื้อชาติมีน้อยลง เพราะเห็นภัยของการเหยียดเชื้อชาติ (racism) แต่ความคิดที่อันตรายนี้ไปโผล่ที่ความเป็นชาตินิยมสุดโต่งที่ชอบข่มชาติอื่น เช่น มีคำขวัญทางการเมืองว่า “ชาติของฉันต้องมาก่อน” หรือ “ชาติของฉันต้องยิ่งใหญ่อีกครั้ง”

ในเรื่องนี้ ขอยกข้อความหนึ่งย่อหน้าของหนังสือ “โฮโมเซเปียนส์: ประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมวลมนุษยชาติ” พอล เพ็ตติตต์ เขียน จักรกฤษณ์ จีอุ่นงอย แปล มีความที่ขออ้างดังนี้

“เชื้อชาติ” เป็นประเด็นเชิงสังคม ไม่ใช่ประเด็นเชิงเชิงชีววิทยาแต่อย่างใด มันเป็นระบบการจัดประเภทที่เกิดขึ้นจาก – และช่วยสนับสนุน – ลัทธิล่าอาณานิคมของชาวยุโรป และถูกนำมาใช้จัดโครงสร้างกลุ่มสังคม และสะท้อนอคติส่วนตัวอย่างชัดเจนตลอดช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อความเข้าใจเรื่องต้นกำเนิดและความหลากหลายของมนุษย์เพิ่มขึ้นในยุคแห่งการรู้แจ้ง คำว่า “เชื้อชาติ” ก็เริ่มผูกโยงกับแนวคิดเรื่องความเหนือกว่าทางวัฒนธรรม (และทางชีววิทยา) และอำนาจของเจ้าอาณานิคม

เชื้อชาติมิได้อยู่บนรากฐานของพันธุกรรม คุณลักษณะต่าง ๆ เช่น สีผิว สีผม สีตา รูปร่างของแก้ม คาง และจมูก ต่างก็เคยถูกใช้เป็นเกณฑ์เพื่อจำแนกประเภทมนุษย์ แท้จริงแล้วมีปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงเล็กน้อยเป็นตัวกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ทำหน้าที่ปรับสภาพให้ผู้คนเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ผันแปร ด้วยการสร้างคุณลักษณะบางอย่างที่เอื้อประโยชน์

ภายในหมู่ประชากรยุคสมัยใหม่ของสหรัฐอเมริกาหรือจีนเอง ก็มีการผันแปรทางพันธุกรรม มากกว่าความผันแปรระหว่างประชากรทั้งสองประเทศเสียอีก ข้อมูลจีโนมปฏิเสธแนวคิดที่ว่า กลุ่มที่แตกต่างกันสามารถแยกแยะเชิงพันธุกรรมออกจากกันได้อย่างชัดเจน พวกเขาไม่สามารถทำได้ และ “เชื้อชาติ” เป็นเพียงแนวคิดที่ไร้ประโยชน์เท่านั้น

ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในยุคต้น ๆ ของประวัติศาสตร์ที่ยังมีหลักฐานเชิงโบราณคดี ทางลายลักษณ์อักษร ทางภาษาศาสตร์น้อย และทางพันธุกรรมน้อย อาจชวนให้หลงใหลได้ และเปิดทางให้ตีความไปต่าง ๆ นานา ข้อเตือนใจคือ ไม่ควรปล่อยให้อคติทาง “เชื้อชาติ” หรือทาง “ชาตินิยม” ชวนให้หลงใหลไปกับความยิ่งใหญ่ที่จินตนาการว่าเคยมีมาแต่ในอดีต โดยเฉพาะไม่ควรให้การหลงใหลนั้น ชักนำไปสู่การด้อยค่า และการเอาเปรียบชนชาติอื่น ๆ เลย

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.