อจ.มธ. จี้รบ. เร่งเพิ่มหลักสูตรการเงิน ป.1 ยัน ป.ตรี หวั่นภาระเพิ่มมหาศาล
GH News April 07, 2025 08:00 AM

อจ.มธ. จี้รบ. เร่งเพิ่มหลักสูตรการเงิน ป.1 ยัน ป.ตรี หวั่นภาระเพิ่มมหาศาล

เมื่อวันที่ 6 เมษายน รศ.ดร.วิชัย วิทยาเกียรติเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยควรจะต้องผลักดันการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะจากการที่คนไทยขาดทักษะทางการเงินพื้นฐาน ไม่มีวินัยทางการเงิน และขาดความรู้ในการออม การลงทุน รวมไปถึงการวางแผนชีวิตการเงิน สิ่งเหล่านี้ ได้ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่ 16.5 ล้านล้านบาท หรือ 90.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก และสูงต่อเนื่องมาตลอดในระยะ 10 ปีหลัง นอกจากนี้ หนี้สาธารณะของไทยเมื่อปลายปี 2566 อยู่ที่ 10.6 ล้านล้านบาท หรือ 61.4% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากภาระใช้จ่ายเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ ตัวเลขการออมของคนไทยในปี 2566 พบว่า คนไทยออมเฉลี่ยเพียง 7-8% ของรายได้เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายเท่า อย่างประเทศสิงคโปร์ ที่มีอัตราการออมเฉลี่ยเกิน 20% ของรายได้

ถ้าไม่เร่งแก้ภาระเพิ่มมหาศาล

“ถ้าเราปล่อยสถานการณ์นี้ไว้อีก 5-10 ปี โดยไม่เร่งแก้ไขอะไรเลย จะทำให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นมหาศาล ทั้งเงินอุดหนุน เงินช่วยเหลือ เงินบำนาญ และภาวะเศรษฐกิจเปราะบางและความเหลื่อมล้ำก็จะถ่างออกอย่างรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ทางออกระยะยาวของเรื่องนี้จึงหนีไม่พ้นการผลักดันเรื่อง Financial Literacy ให้เป็นวาระแห่งชาติ และต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระบบการศึกษา เพราะการปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงิน ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง” รศ.ดร.วิชัยกล่าว

นักวิชาการธรรมศาสตร์จึงเสนอว่าควรจะมีหลักสูตร “ความรู้ทางการเงินเพื่อชีวิตมั่นคงและยั่งยืน” (Financial Literacy for Sustainable Living) บรรจุเป็น ‘วิชาภาคบังคับ’ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา ป.1-มหาวิทยาลัย ระยะเวลา 16 ปีเต็ม เพื่อเปลี่ยนทัศนคติทางการเงินของคนไทยทั้งประเทศ โดยในช่วง ป.1-ป.3 ควรมุ่งเน้นให้รู้จักเงิน ออมก่อนใช้ ซึ่งต้องแยกแยะให้เห็นถึง ‘ความจำเป็น’ กับ ‘ความอยาก’ และเริ่มบันทึกรายรับ-รายจ่าย

ปูพื้นเรื่องการเงินทุกระดับ

รศ.ดร.วิชัยกล่าวว่า ขณะที่การเรียนรู้ในระดับชั้น ป.4-ป.6 ต้องทำให้นักเรียนเข้าใจว่าดอกเบี้ยคืออะไร ต้องฝึกการวางแผนงบประมาณ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ความเข้าใจองค์ความรู้เรื่องประกันภัย เมื่อเข้าสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษา ม.1-ม.3 ก็สามารถเสริมสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘หนี้ดี-หนี้เสีย’ ดอกเบี้ยเงินกู้ สวัสดิการ เช่น ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น ต่อมาในระดับชั้น ม.4-ม.6 เรียนรู้สิ่งซับซ้อนขึ้น อย่างเรื่อง ภาษี หุ้น กองทุนรวม สินทรัพย์ดิจิทัล การวางแผนเกษียณ ฯลฯ สุดท้ายคือผู้อยู่ในระดับอุดมศึกษาและอาชีวะ ต้องยกระดับองค์ความรู้เรื่องการวางแผนภาษี การเงินทั้งชีวิต การลงทุนอย่างมีเป้าหมาย และการสร้างรายได้ที่เกิดจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (Passive Income) ไปจนถึงการรู้เท่าทันเศรษฐกิจและวิกฤตการเงิน

เตือนทำทันทีไม่รอรบ.ใหม่

รศ.ดร.วิชัยกล่าวว่า หากรัฐและสังคมเห็นถึงความสำคัญและร่วมมือกันลงมือทำอย่างจริงจัง ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจะได้คืออะไร หนี้ครัวเรือนและหนี้เสีย (NPL) จะลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะประชาชนมีวินัยทางการเงิน โดยไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ หรือหนี้นอกระบบอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คนไทย จะมีทักษะในการวางแผนอนาคตได้ มีเงินออม มีแผนเกษียณ อีกทั้งภาครัฐ จะสามารถลดภาระหนี้สาธารณะ จากการที่ประชาชนเข้มแข็งทางการเงิน ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศระยะยาวโดยตรง

“เพราะฉะนั้นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง อว. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำทันที ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ ไม่ต้องรอใคร เพราะนี่คือการ ลงทุนสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ ลงทุนวันนี้ดีกว่าเสียหายวันหน้าต้องสร้าง คนรุ่นใหม่ที่มีวินัยทางการเงิน รู้จักใช้ รู้จักออม รู้จักลงทุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระยะยาว” นักวิชาการธรรมศาสตร์กล่าวสรุปในตอนท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.