7 ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากฮอร์โมนลดลง หรือฮอร์โมนไม่สมดุลของผู้หญิง
sanook April 07, 2025 08:38 AM

ฮอร์โมนเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกายผู้หญิง หากเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความไม่สมดุลของฮอร์โมน จะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย จนอาจส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจของคุณผู้หญิงได้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ 7 ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากฮอร์โมนที่ลดลงหรือไม่สมดุลของผู้หญิง เพื่อการดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสมกัน

7 ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากฮอร์โมน

1.รู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลมากขึ้น

เมื่อฮอร์โมนไม่สมดุล โดยเฉพาะการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรน ในช่วงวัยทองหรือภาวะเครียด  ฮอร์โมนเหล่านี้มีผลต่อการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ความไม่สมดุลของฮอร์โมนอาจทำให้ผู้หญิงรู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด หรือเครียดมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานได้

2.ปัญหาผิวหนังและริ้วรอย

ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีบทบาทในการรักษาความยืดหยุ่นของผิวหนัง และการผลิตคอลลาเจน การลดลงของฮอร์โมนนี้ในช่วงวัยทอง จะทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นและเกิดริ้วรอยได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดความแห้งกร้านและผิวหมองคล้ำ

3.ปัญหาการนอนหลับ

การลดลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน สามารถทำให้ผู้หญิงมีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงวัยทองหรือในระหว่างการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนนี้มีผลต่อการผ่อนคลายร่างกายและสมอง ให้พร้อมสำหรับการนอนหลับ

4.ปวดท้องหรือไม่สบายตัว จากประจำเดือน

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ในช่วงก่อนและระหว่างมีประจำเดือน อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และอาการปวดหลังที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวอย่างมาก อีกทั้งอาการ PMS (Premenstrual Syndrome) ที่เกิดจากฮอร์โมนไม่สมดุลในช่วงก่อนมีประจำเดือน

5.ปัญหาน้ำหนักเพิ่มขึ้น

เมื่อฮอร์โมนมีความไม่สมดุล อาจส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมในร่างกาย การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันในร่างกาย และส่งผลให้ผู้หญิงมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยไม่สามารถควบคุมได้

6.ความต้องการทางเพศลดลง

การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน จะมีผลกระทบต่อความต้องการทางเพศของผู้หญิง ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่สนใจ หรือไม่กระตือรือร้นในการมีเซ็กส์ และอาจเกิดอาการเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้หญิงมักไม่ค่อยพูดถึง

7.ปัญหากระดูก

การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง ซึ่งส่งผลให้กระดูกเปราะบางและเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักง่าย โดยเฉพาะในช่วงวัยทองที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว การเสริมสร้างกระดูกด้วยการออกกำลังกายและการรับประทานแคลเซียม อาจช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้

ฮอร์โมนที่ลดลงหรือไม่สมดุล สามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหลากหลาย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์จนถึงปัญหาผิวหนังและกระดูก คุณผู้หญิงจึงควรใส่ใจดูแลตัวเองในเรื่องการรับประทานอาหารที่ดี การออกกำลังกาย และการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงในระยะยาวกัน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.