“ออฟฟิศซินโดรม” โรคสุดฮิตของหนุ่มสาวออฟฟิต หนึ่งในสัญญาณเตือนว่า ร่างกายของคุณกำลังถูกใช้งานอย่างหนักเกินไป หากไม่ใส่ใจและปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าที่คิด
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน มีพฤติกรรมที่ส่งผลต่อโครงสร้างของร่างกาย เช่น การนั่งหลังค่อม การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือการขาดความเคลื่อนไหวที่เหมาะสม ซึ่งนำไปสู่อาการปวดเรื้อรังได้ที่ บ่า ไหล่ หลัง และสะโพก แม้จะเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป แต่หากปล่อยให้เป็นเรื้อรังโดยไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
แนวทางการรักษาออฟฟิศซินโดรม มีหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ การบำบัดด้วย Redcord (Neurac method) ผ่านระบบแขวนพยุงที่ช่วยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยเน้นฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาทำงานอย่างสมดุล ลดอาการปวดจากต้นเหตุ ทั้งยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ
การทำงานผิดปกติของระบบประสาทที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อบางส่วนอ่อนแรงหรือเกร็งตัวจนเสียสมดุล ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการปวดเรื้อรัง ข้อต่อเสื่อม และกระดูกสันหลังบาดเจ็บ การบำบัดนี้ออกแบบเฉพาะบุคคล ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างทำ ช่วยลดระยะเวลารักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Redcord (Neurac method) เป็นเทคนิคการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มมุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย พร้อมทั้งรองรับการฝึกได้ทั้งในรูปแบบที่ส่วนปลายของร่างกาย เช่น มือหรือเท้า ให้มีอิสระในการเคลื่อนไหว (Open kinetic chain exercise) และรูปแบบที่มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของส่วนปลาย (Closed kinetic chain exercise) นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการเสริมการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อ (Proprioception) ส่งเสริมการทรงตัว และเพิ่มความทนทานของข้อต่อ รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบ
จุดเด่นของ Redcord คือความสามารถในการลดอาการปวด และช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย โดยไม่กระตุ้นอาการปวดเพิ่มเติม จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูร่างกาย การออกกำลังกายด้วยเทคนิค Redcord สามารถกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อได้มากกว่าการฝึกในท่าเดียวกันบนพื้น อีกทั้งยังสามารถเน้นกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ข้อดีของการออกกำลังกายด้วยเทคนิคสลิง Neurac Technique คือ สามารถเริ่มฝึกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของอาการ แม้ยังมีอาการปวดหลงเหลืออยู่บ้าง เนื่องจากระบบของสลิงในเทคนิคนี้ช่วยพยุงกล้ามเนื้อให้ผ่อนคลายขณะฝึกในท่าต่าง ๆ จึงไม่กระตุ้นอาการปวดเพิ่มเติม แต่การออกกำลังกายประเภทนี้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพเท่านั้น เพื่อให้สามารถฝึกได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
ขอบคุณ : โรงพยาบาลเวชธานี
คอลัมน์ Tricks for Life หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,085 วันที่ 6 - 9 เมษายน พ.ศ. 2568