จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตัวในเรื่องความมั่นคง แข็งแรงของโครงสร้างอาคารที่ตนเองอยู่อาศัยหรือทำงาน ว่าสามารถรองรับการโยกตัวของจากแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะสะท้อนการก่อสร้างว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ การใช้เครื่องมือวัดความแข็งแรงของอาคาร แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไหวจริง นับว่าเป็นการประเมินสภาพอาคารเบื้องต้นด้วยตนเอง อาจเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต
การพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยตรวจสอบความเสียหายของอาคารผ่านภาพถ่าย โดยใช้ระบบวิเคราะห์อัจฉริยะ เช่น Computer Vision และ Photogrammetry ที่สามารถตรวจจับรอยร้าว ความเอียง หรือความผิดปกติของโครงสร้างได้อย่างแม่นยำ จะเป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการประเมินสภาพอาคารหลังแผ่นดินไหวได้ง่ายขึ้น
ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจัดงานเสวนาวิชาการพิเศษ “คู่มือรับมือแผ่นดินไหว : ฉบับประชาชน” เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในมิติต่าง ๆ ภายในงานมีการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญร่วมเสนอแนวทางรับมือแผ่นดินไหวในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งด้านความปลอดภัย สุขภาพจิต และการรู้เท่าทันข่าวสาร
รศ. ดร.พรหมพัฒน ธัญสิริชัยศรี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความมั่นคงของโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการโยกตัวของตึกภายใต้แรงสั่นสะเทือน การที่อาคารสามารถยืดหยุ่นและโยกตัวได้นั้น ถือเป็นหลักการออกแบบตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว หากอาคารเกิดการแกว่งตัวมากผิดปกติ อาจสะท้อนถึงความเสียหายหรือความอ่อนแอของโครงสร้าง ซึ่งเสี่ยงต่อการพังทลาย โดยเฉพาะในกรณีที่โครงสร้างไม่ได้รับการออกแบบให้รับน้ำหนักเพียงพอ หรือได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนก่อนหน้า แม้ในภาวะปกติจะมีการคำนวณรองรับแรงสั่นไหวไว้แล้ว แต่หากเกิดแรงสั่นซ้ำซ้อน เช่น อาฟเตอร์ช็อก หรือมีจุดอ่อนในโครงสร้างเดิม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการถล่มของอาคารได้
นวัตกรรมประเมินความเสียหายของอาคาร รศ. ดร.พรหมพัฒน กล่าวว่า ระบบตรวจสอบรอยร้าวด้วยภาพถ่าย (Crack Detection) เป็นการประยุกต์ใช้ AI ร่วมกับเทคโนโลยี Computer Vision, Photogrammetry และ Large Language Model เพื่อวิเคราะห์ภาพถ่ายของอาคารในการประเมินรอยร้าว ความเอียง และความผิดปกติของโครงสร้าง โดยการพัฒนา InSpectra-o1 เป็นต้นแบบแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยประชาชนประเมินความเสียหายทางโครงสร้างของอาคารจากภาพถ่ายด้วย AI โดยอยู่ในช่วงทดลองใช้งานและเปิดให้ประชาชนเข้าถึงง่าย มีจุดเด่น คือสามารถวิเคราะห์รอยร้าว ความเอียง และความเสียหายเบื้องต้นของที่อยู่อาศัย โดยใช้เทคโนโลยี AI ร่วมกับภาพถ่ายจากสมาร์ตโฟนหรือโดรน ช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรอยร้าวได้ด้วยตนเองอย่างสะดวกและรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดเก็บข้อมูลสำคัญของอาคาร เช่น แบบแปลน โครงสร้าง และประวัติการซ่อมแซมไว้ในระบบ ช่วยให้วิศวกรเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ
นอกจากนี้ข้อมูลจากแอปฯ ยังสามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นประกันภัย ลดข้อโต้แย้งและสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของอาคาร อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะสามารถวิเคราะห์ภาพได้อย่างรวดเร็ว แต่ด้วยข้อจำกัดด้านข้อมูลในระบบ การประเมินยังครอบคลุมได้เพียงประมาณ 50-60% จึงยังจำเป็นต้องมีวิศวกรเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมในจุดที่ซับซ้อนหรือมีความเสี่ยงสูง
“โดยประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพียงเข้าเว็บไซต์ https://inspectra-o1.onrender.com แล้วอัปโหลดภาพถ่าย ระบบจะประเมินเบื้องต้นและแสดงผลในรูปแบบข้อความ เช่น ประเภทของความเสียหาย ความเสี่ยงของรอยร้าว และคำแนะนำในการตรวจสอบต่อไป โดยเน้นว่าเป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นจากภาพเดียว หากต้องการความแม่นยำมากขึ้น ควรให้วิศวกรตรวจสอบเพิ่มเติมนอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์เสริมสำหรับการตรวจสอบด้วยโดรนที่เก็บภาพโดยรอบและภายในอาคาร พร้อมสร้างเป็นแบบจำลอง 3 มิติ (3D Modeling) ซึ่งช่วยให้สามารถประเมินสภาพความเสียหายได้อย่างละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้นในกรณีที่ต้องการตรวจเชิงลึก” รศ. ดร.พรหมพัฒน กล่าว
ดร.วัชระ อมศิริ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวว่า จากการมีส่วนร่วมเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม มีหน้าที่รับผิดชอบระบบสื่อสารทั้งหมดในพื้นที่ปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านวิทยุสื่อสาร หรือการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งในการดำเนินภารกิจในครั้งนี้เป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงอยู่ทุกขณะเวลา การติดต่อสื่อสาร โดยในการสื่อสาร 1 ครั้ง ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยผู้ประสบภัยเสมอไป แต่เป็นการช่วยผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่จิตใจ ความเหนื่อยล้า การบาดเจ็บของร่างกาย รวมถึงการสื่อสารไปยังสื่อมวลชน เพื่อให้การสื่อสารไปยังประชาชนเป็นไปอย่างมีระเบียบ แต่พยายามจะไม่ให้เข้าในพื้นที่หรือเขตที่มีอันตราย และการดูแลรักษาความปลอดภัยจากเจ้าที่เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานของเจ้าที่
การเสพข่าวในเหตุการณ์แผ่นดินไหว รศ. ดร.นิธิดา แสงสิงแก้ว สาขาวารสารศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. กล่าวว่า ในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งข่าวหลักของประชาชน ข้อมูลสามารถถูกแชร์และกระจายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์วิกฤต เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด ข่าวสารแพร่กระจายไปในวงกว้างและอาจสร้างความตื่นตระหนกได้ง่าย ปัญหาสำคัญคือ ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปไม่ได้มาจากสื่อหลักเพียงอย่างเดียว เพราะทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งต่อข่าว แม้ว่าจะช่วยให้ข้อมูลเข้าถึงได้รวดเร็วขึ้น แต่หากขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น ดังนั้น การเสพข่าวอย่างมีวิจารณญาณ ตรวจสอบแหล่งที่มา และเลือกเชื่อถือข้อมูลจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับกระแสข่าวในยุคดิจิทัล
รศ. ดร.นิธิดา กล่าวต่อว่า อาจมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจฉวยโอกาสในช่วงสถานการณ์วิกฤตสร้างประเด็นหรือบิดเบือนข้อมูล เพื่อกระตุ้นความรู้สึกของสังคม หรือชี้นำทิศทางความคิดเห็นในเชิงลบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสังคมในวงกว้าง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด การตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม หรือการตื่นตระหนกเกินจำเป็น การมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญที่ประชาชนทุกคนควรมี โดยเฉพาะการตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว การเปรียบเทียบกับข้อมูลจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ และการหลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลที่ยังไม่มีความชัดเจน การรู้เท่าทัน บริโภคอย่างมีวิจารณญาณ และเลือกขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันข่าวสารที่แข็งแรงในช่วงเวลาแห่งความเปราะบางของสังคมไทย
การดูแลสภาพจิตใจและร่างกายในเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศุภณัฐ พัฒนพันธุ์พงศ์ คณะศิลปาศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงหรือสะเทือนใจอย่างเฉียบพลัน อย่าง เหตุการณ์แผ่นดิน อาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์และจิตใจที่ไม่ปกติในช่วงแรก ซึ่งเรียกว่าภาวะเครียดฉับพลัน หรือภาวะช็อกทางจิตใจ โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ นอนไม่หลับ ใจสั่น วิตกกังวล ตื่นตระหนกง่าย มีความระแวง หรือรู้สึกเหมือนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำ เช่น การเห็นภาพย้อนหลัง (flashback) หรือฝันร้ายซ้ำ ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น อาการเหล่านี้เป็นการตอบสนองตามปกติของร่างกายและจิตใจต่อสถานการณ์ที่รุนแรง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และโดยทั่วไปจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป จึงไม่ควรกังวลหรือตีความว่าเป็นความผิดปกติทางจิต หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ในช่วงหลังเผชิญเหตุ
ศุภณัฐ กล่าวต่อว่า หากอาการต่าง ๆ ดังกล่าวยังคงอยู่ต่อเนื่องยาวนานเกินกว่า 1 เดือน และเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำงานไม่ได้ มีปัญหาในการนอนหลับอย่างต่อเนื่อง อาจเข้าข่ายภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ” หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งเป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้นภายหลังจากเผชิญเหตุการณ์รุนแรง โดยจะรู้สึกเหมือนติดอยู่กับเหตุการณ์นั้น มีความรู้สึกหวาดกลัว วิตกกังวล หรือระแวงอย่างต่อเนื่อง แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วก็ตาม การสังเกตอาการและทำความเข้าใจว่าเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของจิตใจ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการฟื้นฟูตนเอง การให้เวลากับตัวเอง การได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อน หรือบุคลากรด้านสุขภาพจิต ตลอดจนการเข้ารับการประเมินและดูแลอย่างเหมาะสมเมื่อจำเป็น จะช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาไปสู่ภาวะ PTSD และส่งเสริมการฟื้นตัวของจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.พญ.นิพัทธา วินะยานุวัติคุณ ภาควิชาสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจหลังภัยพิบัติจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การจัดหาน้ำ อาหาร ยา การประเมินสุขภาพจิต และการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังหน่วยบริการที่เหมาะสม แม้จะมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรม แต่การช่วยเหลือเบื้องต้นมักเริ่มจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือคนในชุมชน ดังนั้นจึงต้องสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือระดับรากฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย และออกแบบวิธีการช่วยเหลือที่เข้าใจง่าย เหมาะกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ขณะเดียวกัน การฟื้นฟูจิตใจหลังภัยพิบัติไม่ควรหยุดแค่การให้กำลังใจระยะสั้น แต่ต้องมีการดูแลและติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะความบอบช้ำทางใจต้องใช้ทั้งเวลาและความเข้าใจในการเยียวยาอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เตรียมจัดทำ “คู่มือรับมือแผ่นดินไหว : ฉบับประชาชน” ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเรียบเรียงและรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ใช้ได้จริง และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะในชุมชนเมืองและพื้นที่เสี่ยงภัย ยกระดับความพร้อมของประชาชนในการป้องกันตนเอง ดูแลคนรอบข้าง และรับมือกับผลกระทบหลังเหตุการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ