สภาฯ เริ่มถกญัตติด่วนภาษีทรัมป์ ‘ศิริกัญญา’ ซัดส่งอุยกูร์กลับจีน เปลี่ยนมิตรเป็นอื่น
GH News April 09, 2025 04:01 PM

สภาเริ่มถก 10 ญัตติด่วนภาษีนำเข้าสหรัฐ ‘ศิริกัญญา’ ซัดส่งอุยกูร์กลับจีนเปลี่ยนมิตรเป็นอื่น หนุนกู้เงินเพิ่มสู้วิกฤตเศรษฐกิจ แต่อย่ากู้ไปแจกเทน้ำลงบ่อทราย

เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 9 เมษายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ภายหลังเข้าสู่ระเบียบวาระ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม (กธ.) นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายประมวล พงษ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายไชยชนก ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายวรวิทย์ บารู ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ (ปช.) และนายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาให้สภาพิจารณาศึกษาผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐอเมริกา นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. รวม 10 ญัตติ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อภิปรายว่า เรื่องดังกล่าว รัฐบาลให้ความสำคัญ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ตน และรัฐมนตรีหลายคนรับฟังข้อเสนอแนะ และความเห็นนำไปเจรจากับทางสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ขออนุญาตสภาให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในห้องประชุมเพื่อจดบันทึกข้อเสนอต่างๆ ของ ส.ส.

โดยนายอรรถกรกล่าวเสนอญัตติว่า น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นห่วงการเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐ จะกระทบต่อเกษตรกร ที่ผ่านมารัฐบาลมักเอาสินค้าเกษตรเป็นเงื่อนไขเจรจา การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศคู่ค้าอาจส่งผลต่อเกษตรกร ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบต่อเกษตรกร คิดถึงหัวอกเกษตรกร เจรจาด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงรากเหง้าของประเทศให้เสียดุลมิติทางการเกษตรน้อยที่สุด

รวมถึงข้อเรียกร้องการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าการเกษตรบางชนิดเข้าประเทศไทย อาจกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรไทยตกต่ำมากกว่าเดิม เราไม่ได้ค้าขายกับสหรัฐ ประเทศเดียว ซึ่งพรรค กธ.มี 4 ข้อเสนอคือ 1.อยากเห็นการเจรจาอย่างรัดกุมให้กระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด 2.ให้รัฐบาลหาทางลดความเสี่ยง โดยหาประเทศคู่ค้าเพิ่ม ไม่ใช่สหรัฐอย่างเดียว 3.มีมาตรการรองรับสินค้าที่จะไหลทะลักจากยุโรปมายังเอเชีย และ 4.มีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากการเจรจาให้ดีที่สุด

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า การประกาศขึ้นกำแพงภาษีครั้งนี้ มีผลกระทบหนักสุดในรอบ 100 ปี หนักและรุนแรงกว่ายุคภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1930 ซึ่งการตอบโต้และการค้าไปมาทำให้เกิดผลกระทบกระจายเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบในระลอกอื่นๆ ที่จะตามมาจากการที่เราเข้าไปเป็นห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก โดยเฉพาะเข้าไปเป็นซัพพลายเชนของจีนที่เจอภาษีหนักที่สุดอยู่ที่อัตรา 104% ที่จะเริ่มในวันที่ 10 เมษายน เวลา 10.00 น. อีกทั้งยังทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอลง กำลังซื้อที่น้อยลงอยู่แล้วก็จะน้อยลงอีก โดยสินค้าสำคัญที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยางล้อรถยนต์ อุปกรณ์จ่ายไฟ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ส่งออกเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมถึงแรงงานที่เสี่ยงจะถูกลดชั่วโมงทำงานหรือเลิกจ้าง โดยจะส่งผลกระทบมาที่ประเทศไทยแน่ๆ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ฉะนั้น จึงมีข้อเสนอว่า 1.เราต้องทำให้การเจรจาให้โปร่งใส การที่รองนายกรัฐมนตรีจะไปพูดคุยกับเกษตรกรในสหรัฐ แต่อย่าลืมที่จะพูดคุยกับเกษตรกรในประเทศว่าจะเอาผลประโยชน์ของพวกเขาไปเจรจา 2.การผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าโดยการลดภาษีเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค ถือเป็นปกติที่ต้องทำ ไม่น่าส่งผลอะไรกับการลดการเกินดุลกับสหรัฐ 3.มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหลายตัวที่เป็นการบล็อกสินค้าบางตัวไม่ให้นำเข้า ในส่วนนั้นมีอะไรที่ต้องเปิดตลาดเพิ่มหรือไม่ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เป็นต้น หรือเอสเทอร์นอล 4.การตรวจสอบคัดกรองสินค้าเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี 5.หาโอกาสการลงทุนของสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าไม้ตายที่หลายประเทศใช้กันคือการเข้าไปร่วมลงทุนในท่อก๊าซในอลาสกา อยากสอบถามว่าประเด็นนี้จะเป็นประเด็นหนึ่งที่ใช้ในการเจรจา ได้มีการพูดคุยกับประเทศอื่นๆ ที่จะไปลงทุนในท่อก๊าซแล้วหรือไม่ และประเด็นอื่นๆ ที่หายไปจากการที่นายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 8 เมษายน เช่นเครื่องบิน จะยังอยู่ในการเจรจาหรือไม่

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับไพ่ที่เรามีอยู่ในมือนั้นไม่ได้มหัศจรรย์เหมือนที่ทรัมป์ต้องการ แถมแต้มต่อที่เคยมีก็หายไปทุกวัน และปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบจากการที่เราส่งชาวอุยกูร์กลับไปประเทศจีน มันทำให้มิตรกลายเป็นอื่น

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่มีการแจ้งจับนักวิชาการสัญชาติสหรัฐ ด้วยข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพ์ โดยไม่ให้มีการประกันตัวด้วย ซึ่งตนยังสงสัยอยู่ว่าเขาจะเจรจากับเราหลังจากมีเรื่องนี้หรือไม่ แต่เชื่อว่านายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คงจะเดินหน้านำข้อเสนอต่างๆ ของไทยไปเจรจาต่อรอง โดยจะเห็นผลในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า และดุลการค้าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปี

ทั้งนี้ พรรค ปชน.เราไม่ได้ติดใจรัฐบาลที่ไม่ได้เร่งรีบเจรจาและใช้กลยุทธ์รอดูท่าที ทั้งที่ในหลายประเทศเริ่มมีการเจรจาเลยและกลับมาประกาศเตือนประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ฉะนั้น จึงขอเรียกร้องว่าสิ่งที่ต้องทำคู่ขนานไปกับการเจรจาคือการเยียวยา พยุง กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ เพราะการเจรจายาวนานเท่าไหร่ก็ยิ่งกระทบกับปากท้องของประชาชนมากเท่านั้น และหากเลวร้ายที่สุดจีดีพีอาจจะโตเพิ่งแค่ 1% เท่านั้น แล้วรัฐบาลเตรียมที่จะรับมือในกรณีที่ฉุกเฉินไว้อย่างไรบ้าง เพราะในหลายประเทศก็ออกมาตรการเยียวมาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สเปน ออสเตรเลีย และไต้หวัน จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าการเยียวยาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องทำเร่งด่วน แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมาจากภาครัฐ

“ด้วยจีดีพีที่โตต่ำเช่นนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าใหญ่หลวง การลงทุนกำลังจะหยุดชะงัก คนกำลังตกงาน ต้องมีมาตรการฉุกเฉินเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปในเวลาเดียวกัน ขณะนี้งบประมาณการคลังที่เหลืออยู่มีน้อยมาก หนี้สาธารณะใกล้ชนเพดาน เหลือพื้นที่กู้เพิ่มได้อีกในงบประมาณปี 2568 อีก 4-5 แสนล้านบาท หากวิกฤตที่จะเผชิญในวันข้างหน้า ที่รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ถ้าต้องขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อกู้เงินเพิ่ม สภายินดีสนับสนุน ถ้าไม่ได้กู้เพื่อไปแจกเงินอย่างสะเปะสะปะ ถ้ามีแผนชัดเจนเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศ ให้กู้เลยเพื่อนำงบมาเยียวยาภาคอุตสาหกรรม แรงงาน ไปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขัน กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ขออย่างเดียวอย่ากู้ไปแจกเพื่อเทน้ำลงบ่อทราย ตีเช็คเปล่าให้ตัวเอง หรือกู้โดยไม่มีแผนที่ชัดเจน วันนี้วิกฤตใหญ่หลวง ทั้งลึกและกว้าง กินเวลายาวนาน เราต้องจับมือไปก้าวข้ามไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขอให้ใช้โอกาสนี้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.