“ไอติม” ปิ้งไอเดีย ปลุก “รัฐบาลไทย” ชวนประเทศอาเซียนรวมตัวออกแถลงการณ์ร่วม สู้กำแพงภาษี พ่วงข้อตกลงห้ามใครแตกแถว แข่งกันเอาใจมะกัน-ตัดกำลังกันเอง รอ “แพทองธาร” แก้มือ ลั่น เรื่องหลักการนี้ไม่ได้ยืนยันกันหล่อๆ
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษาผลกระทบและมาตรการรับมือจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา โดยมีทั้งหมด 10 ญัตติ
ช่วงหนึ่ง นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน อภิปรายเสนอแนะรัฐบาล ว่า กำแพงภาษีดังกล่าว สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระเบียบโลกที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนจากการค้าเสรี เป็นการค้าที่อิงกับความไม่แน่นอน และการตอบโต้กันไปมา ในคำแถลงของนโยบาย นายกรัฐมนตรีพูดถึงเป้าหมายในการเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก วันนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่าบทบาทประเทศไทยในเวทีโลกที่นายกรัฐมนตรีหมายถึง ไม่ได้หมายถึงการจับมือผู้นำเดินพรมแดง หรือการถ่ายภาพสวยๆ แต่หมายถึงการใช้เวทีนานาชาติ แสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนคนไทย
“คำขวัญของอาเซียนมีอยู่ว่า หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม ดังนั้นข้อเสนอหลักของผมที่จะอภิปราย คือการขอให้รัฐบาลไทยลุกขึ้นมามีบทบาทนำในการทำให้ประเทศในอาเซียนเป็นหนึ่งประชาคมจริงๆ ที่เดินหน้าร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ อย่างน้อย 5 เรื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่ 1.ประเทศไทยควรเชิญชวนประเทศอื่นในอาเซียนมาออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อยืนยันในหลักการว่าระเบียบโลกที่ส่งเสริมการค้าเสรี เป็นประโยชน์กับทุกประเทศ และเพื่อยืนยันว่าการที่สหรัฐขาดดุลทางการค้ากับประเทศอื่น ไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่นไปเอาเปรียบสหรัฐฯ
“เรื่องนี้มันไม่ได้ยืนยันทฤษฎีกันหล่อๆ นะครับ แต่ความจริงแล้วในเชิงข้อเท็จจริงประเทศในอาเซียนนั้น เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและได้ประโยชน์จากการค้าที่เสรีมากเป็นอันดับต้นๆ เราเห็นนายกฯ สิงคโปร์ มาเลเซีย ยืนยันต่อหลักการดังกล่าว และกลับเป็นนายกฯ ของไทยเสียเองที่ เลือกไม่ยืนยันหลักการดังกล่าว กลับยอมรับว่ารัฐบาลไทยตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมาก กับนโยบายภาษีต่างตอบแทน ผมเห็นว่ารัฐบาลไทย คุณจะแก้มือและดึงทุกประเทศในอาเซียนมายืนยันในหลักการนี้ร่วมกัน” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า 2.ประเทศไทยควรรวมตัวกับประเทศอื่น เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในการเจรจากับสหรัฐ ในฐานะอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และทำให้เสียงของเราดังขึ้น ประเทศไทยเรามีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 26 ของโลก แต่หากเอาทุกประเทศในอาเซียนมารวมกัน จะมีขนาดเศรษฐกิจที่คิดเป็นระดับ 5 ของโลก
3.ประเทศไทยควรแสวงหาข้อตกลงระหว่างประเทศในอาเซียน ว่าจะไม่ดำเนินยุทธศาสตร์การเจรจากับสหรัฐที่ขัดแย้งหรือตัดกำลังกันเอง หากเราไม่มีการพูดคุยกันเลย แล้วต่างคนต่างทำ แต่ละประเทศก็จะมียุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศก็อาจจะเน้นการตอบโต้ บางประเทศก็อาจจะเน้นการลดแลกแจกแถม การที่แต่ละประเทศแยกกันเดินระหว่างรัฐ แข่งกันเอาใจสหรัฐแบบนี้ มันเข้าทางสหรัฐเต็มๆ ดังนั้น ต้องเพิ่มกรอบความตกลงร่วมกันระดับหนึ่ง ว่าจะไม่มีใครแตกแถวไปเอาใจสหรัฐด้วยตนเองมากเกินควร ตนเชื่อว่าภูมิภาคของเราก็จะได้ข้อตกลงจากสหรัฐ ที่จะมีประโยชน์กับทุกประเทศ
4.ประเทศไทยควรแสวงหาข้อตกลงระหว่างประเทศในอาเซียน เพื่อลดอุปสรรคต่อการค้าระหว่างกันและกัน ปฎิเสธไม่ได้ว่าในเฉพาะหน้า เราควรเร่งหาตลาดใหม่ให้กับผู้ประกอบการ หากเรายังไม่สามารถเจรจาเพื่อลดกำแพงที่สหรัฐตั้งไว้ได้ สิ่งหนึ่งที่เราพอทำได้คือการพูดคุยกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะพูดคุยเรื่องการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และ5.ประเทศไทยควรมองไปถึงการเพิ่มสถานะและอิทธิพลของอาเซียน ในอนาคตโลกที่อาจจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างหลายมหาอำนาจ
“แน่นอนครับ ในที่นี้คงไม่มีใครบอกว่าประเทศไทยจะเป็นมหาอำนาจ แต่เราก็ไม่ลดทอนตัวเองไปเป็นประเทศขนาดเล็กเช่นกัน” นายพริษฐ์ กล่าว