‘ขุนคลัง’ รับเล็งปรับแผนเจรจาสหรัฐฯ หลัง ‘ทรัมป์’ ประกาศเลื่อนเก็บภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน แต่ยืนยันทิศทางสร้างสมดุลทางการค้ายังเหมือนเดิม เล็งคุยกับ USRT เพื่อประเมินแนวโน้มก่อน พร้อมยันจะไม่มีการนำเข้าสินค้าจนทะลักกระทบเกษตรกรและผู้ผลิตในประเทศแน่นอน
10 เม.ย. 2568 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ เลื่อนกำหนดการบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน ว่า เชื่อว่าทั่วโลกก็แปลกใจ เพราะคงไม่มีใครเดาทิศทางของสหรัฐฯ ได้ถูกต้อง แต่สำหรับรัฐบาลไทย ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่มีการคาดเดาไว้อยู่แล้วว่าสุดท้ายแล้วสถานการณ์จะออกมาในลักษณะนี้ เพราะมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการปรับขึ้นภาษี ที่ถือเป็นสิ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเกิดผลเสียหายต่อทุกคนในโลก รวมถึงสหรัฐฯ เองด้วย ดังนั้นหลังจากนี้จะทำให้ทุกฝ่ายมีเวลามานั่งพูดคุยกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่โจทย์ นั่นคือ การสร้างสมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ
ทั้งนี้ เมื่อมีการเลื่อนมาตรการภาษีตอบโต้ออกไป แผนการดำเนินงานหลัก ๆ ของไทยคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะมีทิศทางหลัก ๆ ไว้หมดแล้ว แต่ยอมรับว่าอาจจะต้องมีการปรับบางเรื่องเพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้เลื่อนการเก็บภาษีตอบโต้ให้ทั้งโลก แต่เลื่อนให้เฉพาะบางกลุ่มประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องมาดูว่าส่วนที่ไม่ได้ถูกเลื่อนจะเกิดอะไรขึ้น และไทยจะสามารถเข้าไปเติมเต็มสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร
“เราต้องมีการปรับแผนแน่นอนอยู่แล้ว แต่ทิศทางหลัก ๆ ยังเหมือนเดิม นั่นคือการสร้างสมดุลทางการค้า ก็ต้องมาพูดคุยกันมากขึ้นระหว่างคู่ค้า ว่าประเทศนี้เกินอะไร ประเทศนี้ขาดอะไร มาคุยกันเพื่อปิดส่วนที่ขาดและเกินระหว่างกัน ซึ่งประเด็นเรื่องภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ตอนนี้จะเหลือกับแค่บางประเทศเท่านั้นที่สหรัฐฯ มีนโยบายต่างหาก ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเศรษกบิจ แต่ยังเป็นผลทางการเมืองด้วย ดังนั้นเราต้องแยกให้ออกว่าจะเป็นอย่างไร แต่ถ้ามองให้ดี นั่นแปลว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่ค้าขายซึ่งกันและกัน หรือค้าขายกันน้อยลง ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ขาดสินค้า ก็อยากให้เห็นว่าตรงนี้เป็นโอกาสของไทยที่อยู่ตรงกลางที่จะเข้าไปเพิ่มสิ่งเหล่านี้ จะเป็นการรับจากที่หนึ่งไปขายอีกทีหนึ่ง ในรูปแบบที่ต้องสมดุล เชื่อว่าจะเป็นจุดที่น่าพอใจสำหรับทุกฝ่าย เพราะส่วนตัวมองว่าโลกนี้คงอยู่ไม่ได้ หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังไม่พอใจ หรือคิดว่าตัวเองเสียเปรียบ สุดท้ายจะต้องนำไปสู่จุดที่ค่อย ๆ ปรับสู่ความสมดุล” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันเชื่อว่าการเดินทางเพื่อไปเจรจากับสหรัฐฯ คงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว โดยเบื้องต้นจะมีการนัดพูดคุยกับสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ก่อน ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติ เพื่อดูทิศทางว่าไทยจะสามารถดำเนินการตามข้อเสนอต่าง ๆ ได้หรือไม่ เพราะเชื่อว่าสุดท้ายระดับนโยบายของสหรัฐฯ ก็จะต้องมาหารือกับระดับปฏิบัติการก่อนอยู่แล้ว ดังนั้นหากไทยไปคุยกับระดับนโยบายเร็วเกินไปจะทำให้กลับตัวไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องทำให้มั่นใจก่อนว่าสิ่งที่รัฐบาลเตรียมจะนำไปเสนอนั้นจะสามารถปฏิบัติได้จริงและเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล รวมถึงจะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย
ส่วนกรณีที่จะมีการนำเข้าสุกรจากสหรัฐนั้น นายพิชัย กล่าวว่า แนวทางของรัฐบาลไม่ได้จะมีแค่การนำเข้าสุกรเพิ่มเท่านั้น แต่เป็นแนวทางทางสมดุลทางการค้าที่เตรียมไปเจรจา แก้ปัญหาจากสิ่งที่เป็นวิกฤติในขณะนี้ คือ ต้องทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ แต่ก็ต้องอยู่บนหลักการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการในประเทศด้วย อย่างกรณีสุกรนั้น ก็ต้องมาดูว่าในประเทศมีการเลี้ยง และบริโถคเท่าไหร่ ถ้าเหลือเท่าไหร่จึงจะเป็นการส่งออก ยืนยันว่าหลักการของรัฐบาล คือ อะไรที่เราไม่ขาด จะไม่มีการนำเข้า จะนำเข้าในกรณีเดียวเท่านั้น คือ ในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค หรือนำเข้ามาเพื่อแปรรูปเพื่อส่งออก ดังนั้น จึงยืนยันว่าแนวทางเรื่องการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ นั้นจะไม่ส่งผลกระทบกับเกษตรกร หรือผู้ประกอบการในประเทศอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลจะมีมาตรการที่ทำให้ส่วนที่เป็นของเกษตรกรในประเทศไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดี มองว่าเวลาวิกฤติเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเร่งหาทางแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะเรื่องนี้มันเกิดผลกับทุกประเทศ หนักเบาไม่เหมือนกัน สำหรับไทยเป็นประเทศซึ่งเป็นประเทศแห่งการผลิตภาคเกษตรและผู้นำการส่งออก ดังนั้นเรื่องนี้จึงอาจมีผลกับภาคการผลิตและการจ้างงานค่อนข้างมาก ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละประเทศที่จะต้องหาวิธีแก้ไขตามลักษณะของตัวเอง ซึ่งยืนยันว่าไทยมีวิธีที่ชัดเจนแล้วในการแก้วิกฤติครั้งนี้ ที่แม้ว่าจะมีการแก้ไขแล้วก็อาจจะยังเป็นวิกฤติอยู่
“ไทยเราเป็นผู้ส่งออก หากส่งออกได้น้อยลงหรือไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ก็แปลว่าผู้ผลิตก็จะผลิตได้น้อยลงไปด้วย การจ้างงานก็จะน้อยลงไปด้วย ตรงนี้รัฐบาลต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้การจ้างงานมากขึ้น รัฐบาลมีการทำงานอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา และรู้ว่าประเทศเรามีปัญหาในเชิงโครงสร้าง อย่างเรื่องน้ำ ก็อาจถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะต้องหยิบขึ้นมาดูอย่างจริงจังในช่วงที่เรายังส่งออกได้” นายพิชัย ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 9.00 น. ที่กระทรวงการคลัง สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้นำกลุ่มสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจากทุกภูมิภาคยื่นหนังสือต่อนายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาแก้ปัญหาดุลการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกข้อเสนอการนำเข้าเนื้อสุกรและเครื่องในจากสหรัฐฯ ที่อาจจะถูกใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้า
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า หากภาครัฐยังคงยืนยันจะนำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ มวลชนที่ได้รับผลกระทบจะเดินทางมาแสดงจุดยืนคัดค้านการนำภาคเกษตรไปแลกกับดุลการค้าสหรัฐอเมริกามากกว่านี้
ทั้งนี้ หนังสือของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยก 3 เหตุผลหลักค้านนำเข้า “หมูอเมริกา” โดยระบุว่า 1. เสนอทางเลือกนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์แทน – เกษตรกรยินดีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ซึ่งไทยผลิตได้ไม่เพียงพอ ช่วยเพิ่มดุลการค้าให้สหรัฐฯ ถึงปีละ 84,000 ล้านบาท โดยไม่กระทบเกษตรกรพืชไร่ในประเทศ 2. เนื้อหมูไทยผลิตเพียงพอแล้ว – หากปล่อยให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ซัพพลายจะเกินดีมานด์ กระทบตลอดห่วงโซ่การผลิต ซ้ำรอย “หมูเถื่อน” ปี 2564 ที่ทำเกษตรกรหลายรายสูญเสียอาชีพ และ 3. ห่วงสารเร่งเนื้อแดง-สุขภาพผู้บริโภค – สหรัฐฯ ไม่มีกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง แตกต่างจากไทยที่ควบคุมอย่างเข้มงวด หากนำเข้าจะกระทบความปลอดภัยของผู้บริโภคทั้งคนและสัตว์เลี้ยง อีกทั้งยังขัดกับมาตรฐานการส่งออกของไทยไปยังยุโรป
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและภาคีเกษตรกรทั่วประเทศ จึงขอความเห็นใจจากรัฐบาลให้ยกเลิกข้อเสนอการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพอาชีพเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืน