พาณิชย์ เผยบทวิเคราะห์ ภาคบริการไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก เปิด 5 ด้าน ข้อจำกัดของไทย
GH News April 11, 2025 01:00 PM

พาณิชย์ เผยบทวิเคราะห์ ภาคบริการไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก เปิด 5 ด้าน ข้อจำกัดของไทย

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาคบริการเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางการค้าโลก โดยในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2567 การค้าภาคบริการระหว่างประเทศของโลกมีอัตราขยายตัวถึงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การค้าสินค้าระหว่างประเทศของโลกที่เติบโตเพียงร้อยละ 2 ในช่วงเวลาเดียวกัน และภาคบริการก็มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2567 มีมูลค่า 11.44 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.57 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.60 และในปี 2566 สร้างการจ้างงานกว่า 5.85 ล้านตำแหน่ง หรือร้อยละ 48 ของแรงงานทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.79

จากรายงานดัชนีข้อจำกัดทางการค้าภาคบริการ (Service Trade Restrictiveness Index: STRI) ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ การพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ในปี 2567 ค่าดัชนี STRI ของไทยอยู่ที่ 0.37 เท่ากับปี 2565 และ 2566 โดยเป็นอันดับที่ 48 จาก 51 ประเทศ เท่ากับอันดับของปีก่อน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ที่ 0.19

สะท้อนว่าไทยมีข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการค้าภาคบริการ ในระดับที่สูง แต่น้อยกว่าบางประเทศในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย (อันดับที่ 49) และฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 51)

โดยสาขาบริการที่ไทยมี STRI ต่ำที่สุดหรือมีข้อจำกัดที่ไม่มาก อาทิ การกระจายเสียง การขนส่งทางอากาศ ภาพยนตร์และการบันทึกเสียง ทั้งนี้ STRI มีการประเมินใน 5 ด้าน ได้แก่ ข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด ข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายบุคคล มาตรการกีดกันอื่น ๆ อุปสรรคต่อการแข่งขัน และความโปร่งใสของการกำกับดูแล สำหรับค่าดัชนีที่วัดได้จะอยู่ระหว่าง 0 – 1 โดยระดับ 0 คือไม่มีข้อจำกัดเลย และ 1 คือมีข้อจำกัดเต็มที่

สำหรับด้านที่ไทยมีข้อจำกัดน้อยที่สุดจากทั้ง 5 ด้าน คือ มาตรการกีดกันอื่น ๆ ซึ่งมีข้อจำกัดแตกต่างกันไปตามแต่ละสาขาภาคบริการ ครอบคลุมประเด็น เช่น การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันในด้านภาษี ข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินอุดหนุนเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการในประเทศ

นอกจากนี้ รายงาน STRI ของ OECD ระบุว่า แม้ว่าในปี 2567 ภาคบริการเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีมูลค่าการส่งออกภาคบริการจากประเทศสมาชิก OECD กว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อุปสรรคทางการค้าภาคบริการของโลกยังคงอยู่ในระดับสูงและในบางประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย
โดยมีปัจจัยมาจากความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการค้าภาคบริการของโลกลดลง
และในแต่ละประเทศยังมีข้อจำกัด/มาตรการด้านการค้าออนไลน์จำนวนมากและแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ ในปี 2566ประเทศสมาชิก OECD ที่มีการส่งออกภาคบริการสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและเยอรมนี และประเทศที่มีค่าดัชนี STRI ต่ำที่สุด 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ โดยสาขาบริการที่มีการเปิดเป็นเสรีมากขึ้นกว่าช่วงปี 2565-2566 คือ สาขาบริการไปรษณีย์และขนส่ง และสาขาบริการด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการทยอยยกเลิกการผูกขาดในธุรกิจไปรษณีย์ รวมถึงการยอมรับใบอนุญาตวิชาชีพบางสาขาโดยเฉพาะด้านกฎหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลของ OECD ชี้ว่าการลดอุปสรรคด้านการค้าภาคบริการจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานและนวัตกรรม รวมถึงลดต้นทุนทางการค้าได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

โดยประเทศที่มีการปฏิรูปมากที่สุดในช่วงปี 2566-2567 คือ โปรตุเกส กรีซ และอินเดีย โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ อาทิ โปรตุเกส ในปี 2567 ดัชนี STRI ของโปรตุเกส คือ 0.15 ลดลง 0.02 จากค่าของปีก่อน ทำให้มีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 13 ในปี 2566 เป็นอันดับที่ 7 ในปี 2567 โปรตุเกสได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพหลายฉบับ โดยยกเลิกข้อจำกัดด้านสัญชาติสำหรับการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง บริการด้านกฎหมาย และบริการด้านบัญชี ยกเลิกข้อกำหนดบางประการในการขอใบอนุญาตเพื่อปฏิบัติงานในท้องถิ่น และยกเลิกความจำเป็นที่ชาวต่างชาติต้องเรียนซ้ำในระดัมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตในโปรตุเกส นอกจากนี้ ได้ยกเลิกข้อจำกัดที่ห้ามทนายความและสำนักงานกฎหมายทำการโฆษณา และอนุญาตให้มีการรวมกลุ่มทางการค้าระหว่างทนายความและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ได้

กรีซ ในปี 2567 ดัชนี STRI ของกรีซ คือ 0.23 ลดลง 0.02 จากค่าของปีก่อน ทำให้มีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 42 ในปี 2566 เป็นอันดับที่ 40 ในปี 2567 กรีซมีการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ โดยเพิ่มระยะเวลาการพำนักสูงสุดสำหรับผู้ให้บริการชาวต่างชาติจาก 24 เป็น 36 เดือนจากการได้รับใบอนุญาตเข้าประเทศครั้งแรก

อินเดีย ดัชนี STRI ของอินเดีย คือ 0.29 ลดลง 0.003 จากค่าของปีก่อน ทำให้มีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 43 ในปี 2566 เป็นอันดับที่ 40 ในปี 2567 อินเดียได้เพิกถอนสิทธิผูกขาดการให้บริการไปรษณีย์ของรัฐ
โดยอนุญาตให้เอกชนสามารถร่วมดำเนินธุรกิจจัดส่งจดหมายได้ นอกจากนี้ ได้ยกเลิกการเก็บภาษีที่เรียกเก็บจากการให้บริการดิจิทัลบางประเภทจากบริษัทที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในอินเดีย

“ไทยสามารถถอดบทเรียน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคบริการและลดอุปสรรคทางการค้า เช่น ผ่อนปรนกฎระเบียบภาคบริการ โดยอาจมีการทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวข้องกับข้อจำกัดด้านสัญชาติและผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติและใบอนุญาตวิชาชีพในบางสาขา โดยเฉพาะสาขาที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน อุตสาหกรรมที่ไทยขาดแคลนแรงงาน และสาขาที่ต้องการการถ่ายทอดองค์ความรู้
และความเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนและการแข่งขันในภาคบริการ เพื่อดึงดูดการลงทุนในภาคบริการที่มีศักยภาพ และลดการผูกขาดทางการค้า “

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.