เอกชนไทยได้ต่อลมหายใจ ทรัมป์ยืดขึ้นภาษี 90 วัน ส.อ.ท.ชี้นาทีทองเร่งเพิ่มกะทำงานโหมผลิตส่งออก รับออร์เดอร์ทะลัก เผยไส้ใน 5 อันดับสินค้าส่งออกที่โดนภาษีหนัก ล้วนเป็นบริษัทต่างชาติ เชื่อมะกันรู้ว่าหยิกเล็บเจ็บเนื้อ ทยอยเปิดช่องเว้นภาษี ดีป้าชี้อุตฯฮาร์ดแวร์รู้ชะตากรรมตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว “พิชัย นริพทะพันธุ์” เป็นตัวแทนถกร่วม รมต.อาเซียน-ติมอร์ฯ หาแผนต่อรองและตั้งทีมพิเศษเกาะติดใกล้ชิด
สถานการณ์สงครามการค้าโลกที่ยังปั่นป่วนไม่หยุด ล่าสุดนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรม ที่เดิมมีผลวันที่ 9 เมษายน 2568 ออกไปอีก 90 วัน แต่คงเก็บอัตราฐาน 10%กับทุกประเทศ ขณะเดียวกัน สงครามโฟกัสไปที่มหาอำนาจสหรัฐกับจีนแทน โดยสหรัฐประกาศขึ้นภาษีจีนชาติเดียวเป็น 125% ทำให้กระทรวงการคลังจีนตอบโต้กลับ โดยแจ้งขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐทุกชนิดเพิ่มเป็น 84% เช่นกัน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเลื่อนเก็บภาษีไทยอีก 90 วัน ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มกะทำงาน เพื่อเร่งการผลิต ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจึงใช้จังหวะนี้ ต้องเร่งปรับเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่ยังพอมีเวลา และผู้ส่งออกก็ต้องเร่งส่งออกให้ทันเวลาที่กำหนดคือ 90 วัน
การเลื่อนเก็บภาษีของสหรัฐนับว่าเป็นผลบวกต่อภาคการผลิต แต่หลังจากที่ครบ 90 วันหลังจากนี้ต้องจับตามองและต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งหามาตรการรับมือในระยะยาว เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคการผลิตของไทย และไทยจะยังคงเป็นกลางไม่เลือกข้าง เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศคือคู่ค้าสำคัญ
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เปิดเผยว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจดิจิทัล พบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์เริ่มกังวลตั้งแต่ไตรมาส 4/2567 หลังรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งส่งผลลบต่อความเชื่อมั่น อยู่ที่ 48.8 (ต่ำกว่า 50 ถือว่าไม่มีความเชื่อมั่น)
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจในเดือนมกราคม 2568 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มเป็น 50.1 แต่จนถึงตอนนี้เราต้องตั้งคำถามใหม่ เพราะการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์ 2.0 เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลต่อกลุ่มผู้ประกอบการฮาร์ดแวร์แน่นอน
โดยกลุ่มประชากรที่สำรวจ 60 ราย คิดเป็น 30% ของผู้ประกอบการร้านฮาร์ดแวร์ เฉพาะบริษัทฮาร์ดแวร์สำคัญที่ผลิตฮาร์ดดิสก์ส่งออกกว่าแสนล้านบาท เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกาที่ได้สิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
ดังนั้น เรื่องผลกระทบต่ออุตสาหกรรมจากมาตรการภาษีทรัมป์ ต้องมองใหม่ ต้องมาดูว่าจริง ๆ แล้วมาตรการภาษีเหล่านี้เป็นการโยนหินถามทางที่มีเจตนาซ่อนอยู่ ว่าใครจะเลือกข้างใคร ใครเสียผลประโยชน์บ้าง เพื่อให้เราไม่หลงทางในการเจรจา
ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า แนวทางการปรับตัวรับมือ ไทยต้องหาตลาดส่งออกใหม่ ขณะเดียวกัน เชื่อว่าผลกระทบจากสงครามการค้าในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิต (Relocation) ไทยมีคู่แข่งที่สำคัญคือเวียดนาม ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการเป็นฐานผลิตสินค้าฮาร์ดแวร์ ไบโอเทค และสินค้าจำพวกอาหารแปรรูป
ดังนั้นไทยจะต้องวางบทบาทในการเป็นฐานผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่ม การเป็นสวรรค์ให้กับนักลงทุน ที่ไม่ใช่แค่สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่เป็นการอำนวยความสะดวกต่าง ๆเพื่อสนับสนุนการย้ายฐานผลิตมาไทย
นอกจากนี้ จะต้องเพิ่มช่องทางดิจิทัล สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้เข้าสู่ตลาดส่งออกได้โดยตรง ผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยมีอยู่แล้ว เช่น PromtPay PromtBiz หรือ PromtTrade
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ร่วมประชุมผ่านระบบทางไกลกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และติมอร์-เลสเต เพื่อหารือแนวทางเชิงยุทธศาสตร์รับมือกับนโยบายใหม่ของสหรัฐ อาเซียนมีมติจะออกถ้อยแถลงร่วมเพื่อแสดงจุดยืน ในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” กับสหรัฐ
พร้อมเสนอการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ ลดความขัดแย้งทางการค้า และหาทางออกที่สมดุลร่วมกัน ภายใต้กรอบ ASEAN-US Strategic Trade and Investment Partnership (STIP) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยอาเซียนจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือในสาขาศักยภาพสูงกับสหรัฐ
เช่น ดิจิทัล AI อาหาร พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมขั้นสูง รถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ สุขภาพ โลจิสติกส์ รวมถึงเกษตรกรรม เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ภูมิภาค และย้ำถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี โดยอาเซียนจะไม่ตอบโต้ทางการค้าต่อสหรัฐ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะทำงานพิเศษ “ASEAN Geoeconomics Task Force” ทำหน้าที่ติดตาม ประเมิน และเสนอแนะนโยบายในการรับมือและใช้ประโยชน์จากทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอาเซียน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทั้งระดับรัฐและเอกชน
นายพิชัยกล่าวว่า ตนได้ติดต่อกับนายจามิสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ซึ่ง USTR ได้ตอบรับที่จะหารือกับไทยแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างนัดหมายวันประชุม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ตนเป็นผู้เจรจาหลักกับ USTR สหรัฐ
นายวิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าข้อมูลปี 2567 สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มเครื่องโทรศัพท์รวมถึงสมาร์ทโฟน และเครื่องโทรศัพท์อื่น ๆ มีมูลค่าส่งออก 6,846.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
2.เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 6,093.2 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ยางรถยนต์ 3,513 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ 2,472.5 ล้านเหรียญสหรัฐ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 2,088.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
หากตรวจสอบบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ในแต่ละกลุ่มแล้ว พบว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น กลุ่มผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์รายใหญ่ที่สุดในไทย คือบริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มสินค้าอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ ได้แก่ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนที่เป็นผู้ส่งออกบริษัทไทยมีสัดส่วนไม่ถึง 1%
นายวิบูลย์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสินค้าหลักที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐจะไม่ใช่บริษัทคนไทย แต่ถึงกระนั้น บริษัทคนไทยก็ยังคงได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน เพราะส่วนใหญ่บริษัทคนไทยจะเป็นผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ทำธุรกิจป้อนชิ้นส่วน หรือเป็นซัพพลายเชนให้กับบริษัทรายใหญ่เหล่านี้ทั้งสิ้น
“เป้าหมายของทรัมป์ต้องการกีดกันจีน ไม่ต้องการให้จีนย้ายฐานการผลิต และใช้ประเทศอื่นเป็นฐานแล้วมาสวมสิทธิเพื่อการส่งออก ทรัมป์ใจร้อนเรื่องขึ้นภาษีตัวสินค้าที่เกินดุลก่อน แต่สุดท้ายก็รู้ว่าสินค้าหลักที่ขึ้นภาษีนั้น บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีสัญชาติอเมริกาด้วย ล่าสุดทรัมป์จึงยกเว้นเก็บภาษีกลุ่มสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ และเชื่อว่าในอนาคตจะทยอยยกเว้นกลุ่มสินค้าประเภทอื่นตามมาด้วย”
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การลงทุนในไทยจะแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.การลงทุนแบบสวมสิทธิหรือนอมินี รูปแบบนี้นักลงทุนมักใช้ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยนำเข้าสินค้าเข้ามา อาจแค่ประกอบในไทย ตีตรา Made in Thailand เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ ซึ่งไทยไม่ได้ประโยชน์ใดเลย
2.ลงทุนแบบถูกกฎหมายแต่ไม่เหมาะสม ซึ่งรูปแบบนี้มีนักลงทุนค่อนข้างได้สิทธิประโยชน์มากจากมาตรการรัฐ โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยยังไม่เข้มแข็ง ไม่เก่ง ไม่ชำนาญ แต่แท้จริงแล้วอุตสาหกรรมเหล่านี้ไทยจะได้เพียงตัวเลข แต่จะไม่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี หรือการถ่ายทอดองค์ความรู้
สิ่งที่ควรทำเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และสกัดการเข้ามาสวมสิทธินั้น ภาครัฐควรต้องปรับเงื่อนไขการลงทุนครั้งใหญ่ เพิ่มเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบในประเทศ เงื่อนไขการใช้ Local Content กับทุกอุตสาหกรรมต้องเกิน 50% และต้องใช้จุดแข็งของประเทศที่มี จะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมใด โฟกัสเป็นเป้าหมายให้ชัดเจน ด้วยการเพิ่มมูลค่า เพิ่ม Value Chain ให้ยาว
ขณะเดียวกัน ต้องใช้ประโยชน์จาก MIT Made in Thailand (MIT) การรับรองสินค้าจาก ส.อ.ท. เพื่อสำแดงให้ชัดว่านี่คือผู้ผลิตจากบริษัทคนไทย ถูกผลิตในประเทศไทย ใช้วัตถุดิบในประเทศ จะเป็นตัวการันตีเพื่อไม่ให้คู่ค้ามองว่าไทยถูกทุนเทาครอบครอง หรือเป็นการสวมสิทธิเพื่อใช้ไทยเป็นฐานและทางผ่านเท่านั้น อย่างนักลงทุนที่ผลิตยางคอมพาวนด์ เขาเอามาเติมสารประกอบนิดหน่อยก็ได้บีโอไอแล้ว แบบนี้คือมาถูกกฎหมายแต่มันไม่เหมาะสม
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ศุลกากรสหรัฐ ว่าสินค้าที่ส่งออกมีถิ่นกำเนิดไทยจริง กรมกำหนดรายการสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐจำนวน 49 รายการ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ล้อเหล็กสำหรับรถบรรทุก แผ่นหินเทียม และท่อเหล็ก เป็นต้น โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกจะต้องยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนขอรับหนังสือรับรอง Form C/O ทั่วไป เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐจากประเทศอื่น ๆ
นอกจากนี้ มีแผนจะเพิ่มรายการสินค้าเฝ้าระวังฯ โดยติดตามข้อมูลสถิติทางการค้าสำหรับรายการสินค้าอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยจากมาตรการ AD และมาตรการ 301 อย่างใกล้ชิด ขณะนี้ดำเนินการติดตามรายการสินค้าจากมาตรการ 232 เพิ่มเติมด้วย เช่น สินค้าเหล็ก/อะลูมิเนียม และรถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจมีสินค้าดังกล่าวมาแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย