อลหม่านต่อรองภาษีทรัมป์ ชาวไร่ค้านนำเข้าข้าวโพด
SUB_BUA April 12, 2025 08:20 AM

เกษตร-ปศุสัตว์เสียงแตก เจรจาสหรัฐลดภาษีตอบโต้ 4 สมาคมพืชไร่ออกโรงค้านการนำเข้า “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงหมูก็ไม่เอานำเข้าหมูเนื้อแดง-เครื่องในสหรัฐ อลหม่านปัดพ้นตัวโยนให้นำเข้าถั่วเหลือง-กากถั่วเหลืองแทน แนะมีเวลา 90 วัน “ทบทวน” ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะเจรจาสหรัฐให้รอบคอบ เหตุธุรกิจมีได้มีเสีย เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวั่นถูกทิ้ง เสี่ยงยกเลิกมาตรการปกป้อง 3 : 1

แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะเลื่อนการจัดเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศคู่ค้ารวมทั้งประเทศไทย (ถูกเรียกเก็บภาษี 36%) ออกไปอีก 90 วัน “ยกเว้น” จีน ที่จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 145% มีผลทันที หรือเท่ากับเป็นการเปิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบกับจีน

โดยอ้างว่า “จีนไม่เคารพตลาดโลก” แต่กลับขึ้นภาษีแบบตาต่อตาฟันต่อฟันกับสหรัฐนั้น ด้านหนึ่งเท่ากับประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะ “ทบทวน” ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปเจรจากับสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์จากสหรัฐเพิ่มขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวกลับกลายเป็นข้อเสนอด้านเดียวจากภาคผู้ผลิตส่งออก ขณะที่ภาคเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อ “คัดค้าน” การนำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์จากสหรัฐแล้ว

4 ส.เกษตรค้านนำเข้าข้าวโพด

ล่าสุด 4 สมาคมพืชเกษตรไทย ได้แก่ สมาคมโรงสีข้าวไทย, สมาคมการค้าพืชไร่, สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือลงวันที่ 9 เมษายน 2568 ถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ถึงความเสี่ยงในนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดให้มีการนำเข้าข้าวโพดและวัตถุดิบอาหารสัตว์จากสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบและสร้างความอ่อนแอให้กับภาคการเกษตรไทยอย่างใหญ่หลวง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยให้เหตุผลของการคัดค้านที่รัฐบาลจะอนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ตัดต่อพันธุกรรม (GMO) และพืชวัตถุดิบทดแทนทุกชนิด ดังต่อไปนี้

1) ข้าวโพดกับวัตถุดิบในหมวดคาร์โบไฮเดรต ประเทศไทยมีเพียงพอต่อการผลิตอาหารสัตว์อยู่แล้ว “ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการนำเข้ามาอีก” รัฐบาลควรใช้นโยบายให้โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

2) ประเทศไทยมีกฎหมายและนโยบายห้ามปลูกพืชตัดต่อพันธุกรรม (GMO) และห้ามเกษตรกรเผาแปลง แต่สหรัฐมีการปลูกพืช GMO และเผาแปลงเกษตรกรรมได้ ดังนั้น การเปิดให้นำเข้าข้าวโพด GMO ที่ปลูกด้วยการเผาแปลงอาจจะขัดกับกฎหมายไทย และการนำเข้ายังมีผลทำให้ข้าวเปลือกและมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชทดแทนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาตกต่ำลง

3) มาตรการอนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนต่อการรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ที่คุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ให้ถูกวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลี) ที่มีราคาถูกกว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้เรียกร้องขอให้มีการ “ผ่อนผัน” สัดส่วน 3:1 มาโดยตลอด ดังนั้น การเพิ่มการนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อมาตรการนี้ทันที

4) นโยบายการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะกลายเป็นนโยบายที่ “เอื้อประโยชน์” ต่อการเปิดให้นำเข้าพืชเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนได้

นอกจากนี้ 4 สมาคมพืชเกษตรไทยยังมีความเห็นถึง “ข้อเสนอ” ให้มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐอีกด้วยว่า จะมีผลกระทบต่อ “รายได้” ของเกษตรกรและอาชีพเกี่ยวเนื่อง เมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรลดลงจากการเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวโพดสหรัฐ กำลังซื้อของเกษตรกรก็จะลดลงตามไปด้วย และยังก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

โดยบริษัทที่แข่งขันกับบริษัทใหญ่ไม่ได้ก็จะต้องเลิกกิจการไป ดังนั้น มาตรการปกป้องเกษตรกรจากการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อทดแทนวัตถุดิบในประเทศยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีอยู่

ดังนั้น หากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐ ก็ขอให้ย้ายไปนำเข้าข้าวสาลี อาหารสัตว์ กากถั่วเหลือง เมล็ดถั่วเหลือง ตลอดจนธัญพืชทดแทนอื่น ๆ จากสหรัฐแทน

ยกพืช GMO ไม่ควรนำเข้า

รายงานข่าวจากสมาคมการค้าและผลิตพืชไร่เพชรบูรณ์กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในประเทศ “ไม่เห็นด้วย” ที่จะนำเข้าข้าวโพดสหรัฐมาใช้ต่อรองการลดภาษีตอบโต้ที่ไทยถูกเรียกเก็บอยู่ 36% เนื่องจากข้าวโพดสหรัฐเป็นพืช GMO ยังมีการเผาแปลงปลูกข้าวโพดด้วย ในขณะที่ประเทศไทยห้ามปลูกพืช GMO และห้ามเผาแปลงปลูก ซึ่งการจะนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐถือว่า “ไม่ยุติธรรมกับเกษตรกรในประเทศ”

ดังนั้น หากจะพิจารณานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐควรพิจารณานำเข้า “ถั่วเหลือง” มากกว่า โดยเป็นการลดนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลหรือยูเครน และนำเข้าจากสหรัฐมากขึ้นแทน เพราะถั่วเหลืองในไทยยังมีปริมาณผลผลิตน้อย เกษตรกรผู้ปลูกก็น้อยมาก

สำหรับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2568/69 ประเมินล่าสุดจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน จากเฉลี่ยผลผลิตต่อปีอยู่ที่ 5 ล้านตัน ดังนั้น ปีนี้อาจจะมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากกว่า 6 ล้านตัน ขณะที่ราคาข้าวโพดเฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาท/กก. ปลายข้าว 8 บาท/กก. และมันสำปะหลังเฉลี่ย 5 บาท/กก.

ถอยไม่นำเข้าเนื้อหมู/วัว

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกล่าวว่า หลังจากที่สมาพันธ์มี “ข้อแนะนำ” ในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรรายการสำคัญของสหรัฐ เช่น เนื้อวัวและเครื่องใน, เนื้อหมูและเครื่องใน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง ให้รัฐบาลนำไปพิจารณาอย่างรอบคอบนั้น

ล่าสุดสมาพันธ์เห็นว่าเนื้อวัวและเครื่องใน กับเนื้อหมูและเครื่องใน “ยังไม่ควรพิจารณาเปิดตลาดให้สหรัฐ” เนื่องจากประเทศไทยยังมีการใช้กฎหมายภายในประเทศที่ปกป้องผู้บริโภค เช่น การห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง อีกทั้งยังมีในเรื่องของต้นทุนสินค้าในประเทศที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้

แต่รายการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น “สามารถเปิดตลาดให้สหรัฐได้” โดยอาจจะต้อง “ยกเลิก” ภาษีนำเข้าภายใต้กรอบ WTO กำหนดโควตาภาษีไว้ที่ 20% นอกโควตา 73% สามารถกำหนดปริมาณการนำเข้าให้เท่ากับปริมาณการขาดแคลนภายใน เช่น กำหนดช่วงเวลาของการนำเข้าเพื่อไม่ให้กระทบฤดูเก็บเกี่ยวของเกษตรกรผู้ปลูก การเปิดตลาดอาจจะสร้างสมดุลการค้าระหว่างไทย-สหรัฐได้เพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 9.2 ล้านตัน ผลิตในประเทศได้ 5 ล้านตัน ยังขาดอีก 4.2 ล้านตัน/ปี ที่ผ่านมามีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน 2 ล้านตัน และนำเข้าข้าวสาลีอีกประมาณ 1.7 ล้านตัน

ส่วนประเด็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจะมีผลต่อการนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ดังนั้น อาจนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐเข้ามาทดแทนได้ 4.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 36,000 ล้านบาท หากเพื่อนบ้านเร่งแก้ปัญหาการเผาก็อาจจะเปิดกลับมานำเข้าได้” นายพรศิลป์กล่าว

ส่วนถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง ปัจจุบันมีการเปิดตลาดนำเข้าอยู่แล้ว เพียงแต่ประเทศนำเข้าหลักของไทย ได้แก่ ประเทศบราซิล ด้วยเหตุผลด้านต้นทุน เนื่องจากโปรตีนจากถั่วเหลืองของประเทศบราซิลสูงกว่าสหรัฐ ซึ่งในอนาคตมีโอกาสที่จะนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองจากสหรัฐมากขึ้นได้

หากสหรัฐสามารถจำหน่ายถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองในราคาที่แข่งขันได้ การลดอัตราภาษีกากถั่วเหลือง 2% จะช่วยจูงใจมากขึ้น หรือรัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองลง 2% ด้วย

ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ออกมาคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐ เพื่อเจรจาต่อรองแลกกับการลดภาษีตอบโต้ไทย โดยสมาคมเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเนื้อหมูเพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ

การอนุญาตให้นำเข้าจะส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ และแนะนำให้มีการนำเข้าพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ที่ไทยขาดแคลนจากสหรัฐแทน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.