รถอีวีเคลมพุ่ง-ประกันขาดทุน อะไหล่แพง-วิริยะนำทีม ‘ขึ้นเบี้ย’
SUB_BUA April 12, 2025 08:41 AM

รถอีวีเคลมพุ่ง ธุรกิจประกันขาดทุน “ค่าสินไหม+ค่าใช้จ่ายรวม” ทะลุ 100% เหตุต้นทุนค่าอะไหล่แพง “วิริยะ” เจ้าตลาดส่งสัญญาณขึ้นเบี้ยสองดิจิต ลุยเจรจาผู้ผลิต-ตัวแทนจำหน่ายปรับลดค่าอะไหล่ เตรียมส่งประกันรถอีวี 2+ ซ่อมห้างตอบโจทย์ลูกค้า “กรุงเทพประกันภัย” เจรจาร่วมทุนจีนเปิดอู่ซ่อมอีวีมาตรฐานแข่งกับศูนย์ หวังกดค่าซ่อมรถอีวีต่ำลง เตือนปัญหาดัมพ์ราคาอีวี กระทบธุรกิจประกันเสี่ยงเกิด Moral Hazard จงใจเคลมประกัน “เมืองไทยประกันภัย” ไม่ผลีผลามบุกตลาดอีวี เข้ารับประกันตลาดรถเฉพาะกลุ่ม

แหล่งข่าววงในธุรกิจประกันวินาศภัยไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจุบันยังค่อนข้างมีความเปราะบางมาก ทั้งตลาดมีการรับประกันรถอีวีอยู่ประมาณ 1.66 แสนคัน คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม 5,000-6,000 ล้านบาท จากเบี้ยประกันทั้งระบบเกือบ 3 แสนล้านบาท

โดยปัจจุบันบริษัทวิริยะประกันภัยมีพอร์ตรถอีวีมากที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าทุกบริษัทขณะนี้ยังคงมีผลการรับประกัน “ขาดทุน” เพราะอัตราส่วนรวมค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายดำเนินงานทั้งหมดเกิน 100%

ประกอบกับค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของประกันรถยนต์จะสูงกว่าทุกโปรดักต์ เพราะรถยนต์มีความถี่ของการเกิดความเสียหายที่สูง จึงต้องให้บริการสำรวจอุบัติเหตุ ติดต่อซ่อม ประสานงาน และจัดหาอะไหล่ นี่คือต้นทุนที่ยังไม่ได้รวมค่าคอมมิชชั่นเข้าไป ทำให้ตอนนี้มีสัญญาณการปรับขึ้นค่าเบี้ย มากน้อยแล้วแต่บริษัท ขณะที่บางบริษัทอาจชะลอการรับประกันเพื่อไปปรับรูปแบบการรับประกัน เพื่อดูแลสินไหมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“วิริยะ” ส่งสัญญาณขึ้นเบี้ยอีวี

นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่าพอร์ตประกันรถอีวีของบริษัทยังขาดทุน โดยมี Combined Ratio ทะลุ 100% ในปี 2567 มีพอร์ตเบี้ยประกันรถอีวี 1,500 ล้านบาท ทั้งหมด 66,000 คัน มาจากพันธมิตรค่ายรถอีวีกว่า 10 แบรนด์

ทั้งนี้ เนื่องจากต้นทุนการรับประกันรถอีวีจากทั้งค่าซ่อมและค่าอะไหล่สูงกว่าการรับประกันรถยนต์สันดาปถึง 50% ในขณะที่การโควตเบี้ยรถอีวีของบริษัทสูงกว่ารถสันดาปแค่ 15% สะท้อนว่าตอนนี้เบี้ยรถอีวีของบริษัทยังรองรับไม่พอ

ทำให้ในปี 2568 บริษัทมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นเบี้ยประกันรถอีวี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างคำนวณหาอัตราเบี้ยที่เหมาะสม แต่อาจต้องปรับขึ้นในระดับสองดิจิต ทั้งนี้ จะพิจารณาเฉพาะรถบางยี่ห้อและบางรุ่นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิต หรือตัวแทนจำหน่ายรถอีวี ว่าหากไม่ปรับขึ้นเบี้ย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับลดค่าอะไหล่ลงมาให้สอดคล้องกับเบี้ยประกันมากขึ้น ซึ่งตอนนี้กำลังเร่งพูดคุยอยู่ มองปัญหานี้ต้อง Win-Win ทั้งคู่

เตรียมเปิดตัวประกันอีวี2+

นายอมรยืนยันว่าบริษัทจะไม่หยุดรับประกันรถอีวี แม้ว่าจะเป็นตลาดที่มีความท้าทายสูง โดยในช่วงไตรมาส 2/2568 จะเปิดตัวประกันรถอีวี 2+ ซ่อมห้าง เพื่อออกมาตอบโจทย์กับความต้องการของผู้เอาประกัน ตามตลาดรถอีวีที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับเป้าหมายปีนี้คาดการณ์เบี้ยรถอีวีของบริษัทคงไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท

“ปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะรักษากำไรสุทธิที่ระดับ 3,000 ล้านบาท มีเบี้ยรับรวม 42,569 ล้านบาท เติบโตไม่น้อยกว่า 3.7% เทียบจากปีที่แล้ว มาจากเบี้ยประกันรถยนต์ 37,591 ล้านบาท เติบโต 3.3% อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดรถยนต์โดยรวมในปีนี้ยังมีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค และที่เหลือมาจากเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถอีก 4,978 ล้านบาท เติบโต 11%” นายอมรกล่าว

กรุงเทพฯ พอร์ตอีวีไม่มีกำไร

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตรถอีวีแค่ 4.4% ของตลาด โดยมีรถอีวีที่รับประกันไว้ 7,100 คัน เบี้ยประกันเพียง 215 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปี 2568 เบี้ยรถอีวีจะอยู่ที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท บริษัทไม่บุกตลาดมาก เพราะหากพอร์ตอีวียิ่งโตมากจะมีอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ที่ยิ่งสูง เพราะปัจจุบันรถอีวียังส่งซ่อมกับอู่ศูนย์ซึ่งมีค่าอะไหล่แพง

แม้ตลาดเริ่มส่งสัญญาณปรับเบี้ยรถอีวีกันแล้ว แต่สำหรับบริษัทยังไม่เร่งรีบ เพราะเดิมโควตเบี้ยสูงกว่าอุตสาหกรรมอยู่ 15-20% และปี 2567 พอร์ตรถอีวีมีอัตราการเคลมเฉลี่ย 67-68% บางยี่ห้อเคลมปริ่ม ๆ เกือบ 100% ถ้ารวมค่าใช้จ่ายอื่นคือยังไม่มีกำไร แต่ก็ไม่เหมือน 2 ปีที่แล้วที่มี Combined Ratio พุ่งกว่า 120% คือปีที่แล้วถือว่าบริษัทแค่เจ๊า ไม่ถึงกับเจ๊ง

“เบี้ยรถอีวีของบริษัทก็ถือว่าแพงแล้ว เช่น Tesla ค่าเบี้ยสูงกว่าตลาด 20% อย่างเจ้าอื่นขายประกัน 5 หมื่นบาท แต่บริษัทขายเกือบ 7 หมื่นบาท เป็นต้น โดยลูกค้าที่ทำประกันรถกับเราคือลูกค้าที่ไม่ใช้ค่าเบี้ยเป็นตัวตัดสิน แต่เป็นลูกค้าที่มั่นใจในบริการเคลม ส่งผลให้อัตราการต่ออายุประกันรถยนต์อยู่ที่ 78% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่เฉลี่ยไม่ถึง 70%”

ร่วมทุนจีนเปิดอู่ซ่อมอีวี

ดร.อภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถควบคุมราคาค่าซ่อมและค่าอะไหล่รถอีวีได้ดีมากขึ้น บริษัทมีแผนร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีน สร้างอู่ซ่อมรถอีวีที่เป็นศูนย์ซ่อมมาตรฐาน (General Garage) ของบริษัทขึ้นมา เพื่อจะส่งรถอีวีที่เกิดความเสียหายเข้าไปซ่อมด้วยมาตรฐานเดียวกับซ่อมอู่ศูนย์ได้ สำหรับการร่วมทุนก็จะทำผ่าน “บมจ.บีเคไอ โฮลดิ้งส์”

โดยบริษัทกำลังศึกษาและเจรจากับนักลงทุนที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญที่สนใจเปิดอู่ซ่อมรถในไทย ทั้งนี้ ความร่วมมือนี้ต้องได้การันตีความปลอดภัยในการซ่อมตามมาตรฐานสากล โดยไม่ทำให้ระบบไฟ/ระบบซอฟต์แวร์มีปัญหา หรือ Warranty ยังคงอยู่กับผู้ผลิตได้ต่อ และในอนาคตบริษัทจะสามารถดีไซน์เบี้ย 2 ราคาได้คือ ราคาซ่อมศูนย์กับราคา General Garage

ทั้งนี้ ตามแผนจะเปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลักก่อน เพราะเป็นพื้นที่ของการใช้งานรถอีวีส่วนใหญ่ เชื่อว่าหากแนวทางนี้เกิดขึ้นแล้ว จะหนุนให้ราคาค่าซ่อมและค่าอะไหล่รถอีวีจะปรับตัวลดลงมาได้ และจะเป็นจุดขับเคลื่อนให้ธุรกิจประกันภัยสามารถเข้าไปแข่งขันรับประกันรถอีวีได้มากขึ้นในอนาคต

เตือนจงใจเคลมประกัน

ดร.อภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จากผลพวงการดัมพ์ราคารถอีวีป้ายแดงลงมาก และปรับลดลงเร็วนั้น โดยเฉพาะรถอีวีจีน ซึ่งตอนนี้ก็ทะลักเข้ามาขายในไทยหลังเจอภาษีจากยุโรปและสหรัฐกันมาก ซึ่งน่าเป็นห่วงว่ามีโอกาสที่ทุนประกันของรถอีวีเดิมจะสูงกว่าราคาขายป้ายแดง จึงมีความกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงจากการจงใจเคลมประกัน (Moral Hazard)

แม้จะยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจน แต่ต้องการออกมาเตือนให้อุตสาหกรรมประกันภัยต้องระมัดระวังเรื่องนี้ เพราะตอนนี้รถอีวีขายต่อยาก ไม่มีคนซื้อ เพราะฉะนั้นอาจเห็นการปล่อยรถไหลลงน้ำหรือปล่อยรถแช่น้ำ เพื่อหวังเคลมประกันจากกรณีความเสียหายสิ้นเชิง (Total Loss) ก็ได้

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยว่า ตอนนี้รถอีวีที่อ่อนไหวมาก ธุรกิจประกันมีความระมัดระวังในการเข้าไปรับประกัน เพราะปัจจุบันเวลารถอีวีเสียต้องรออะไหล่นำเข้าจากต่างประเทศนานหลายเดือน สิ่งที่กังวลคือจะเกิด Moral Hazard ได้ โดยรถยี่ห้อนี้ทุนประกันไม่สูง ประมาณไม่เกิน 6 แสนบาท

ตอนนี้ต้องดูว่ารถยี่ห้อนี้จะหาใครเข้าไปรับประกันป้ายแดง เพราะในแต่ละปีตลอดช่วง 3 ปีมานี้การเปลี่ยนบริษัทผู้รับประกันไปทั้งสิ้น เนื่องจากโควตเบี้ยที่ตั้งไว้ไม่พอรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น

เมืองไทยไม่ผลีผลามบุกอีวี

นายวาสิต ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทยังคงมีความระมัดระวังเข้าไปรับประกันรถอีวี คือไม่ผลีผลามเข้าไปบุกตลาด ตอนนี้พยายามเข้าไปมีส่วนกับรถทุกยี่ห้อ แต่ไม่เป็นผู้เล่นที่มีสัดส่วนใหญ่ เพราะเข้าไปเพื่อต้องการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับราคาอะไหล่และค่าซ่อมของรถแต่ละแบรนด์มากกว่า เพื่อนำมากำหนดราคาเบี้ยให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

โดยปัจจุบันบริษัทโควตเบี้ยรถอีวีแพงกว่ารถสันดาปอยู่แล้วราว 20-30% ส่งผลให้เบี้ยประกันรถอีวีไม่ได้เข้ามาที่บริษัทมากนัก อย่างไรก็ตาม ปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตของรถอีวี 20% มาจากฐานเบี้ยที่เล็ก โดยหวังการเติบโตจากรถบางยี่ห้อที่การใช้งานจะเป็นรถคันที่ 3 หรือ 4 และราคาไม่แพง เบี้ยประกันเหมาะสม

แอกซ่าไม่แข่งสงครามราคา

นายกิลโยม มิราโบว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยอมรับว่าพอร์ตรถอีวีของแอกซ่าในไทยขาดทุนอยู่เล็กน้อย แต่เพราะเป็นพอร์ตอนาคตบริษัทจึงยังคงเข้าไปรับประกันต่อไป แต่จะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง

โดยขณะนี้กลุ่มแอกซ่ามีโครงการ One AXA ที่แต่ละประเทศจะมีการแชร์ข้อมูลสถิติการเคลมรถอีวีร่วมกัน และแอกซ่าในจีนมีการเข้าไปพูดคุยกับผู้ผลิตรถอีวีเป็นการเฉพาะ ทำให้บริษัทจะมีข้อมูลนำมาโควตค่าเบี้ยให้มีความเหมาะสมได้ดีที่สุด

สำหรับปีนี้บริษัทจะมุ่งขยายงานรถอีวีและรถไฮบริดเป็นหลัก เพราะรถสันดาปยอดขายใหม่ลดลงมาก แต่ยืนยันว่าจะไม่แข่งสงครามราคาอย่างแน่นอน ส่วนนโยบายการปรับเบี้ยจะขึ้นอยู่กับแบรนด์รถและรุ่นรถเป็นสำคัญ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.