พลันที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ (สคพ.) ที่ 1 กรมควบคุมมลพิษ ได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้ใช้น้ำจากแม่น้ำกกอุปโภคบริโภค หลังผลตรวจวิเคราะห์น้ำและตะกอนดินจากแม่น้ำกกในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย พบปริมาณ “สารหนู” เกินมาตรฐานทั้ง 3 จุด ค่าคุณภาพน้ำเสีย BOD แม่น้ำกก เฉลี่ย 5.2 มก./ลิตร เกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 4) ปริมาณสารหนูเฉลี่ย 0.012-0.026 มก./ลิตร (มาตรฐานไม่เกิน 0.01)
ตอกย้ำรายงานคุณภาพน้ำปี 2567 จากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า แม่น้ำกกอยู่ในลำดับที่ 8 จาก 10 แหล่งน้ำที่เสื่อมโทรมที่สุดในภาคเหนือ
แม่น้ำกกมีความยาวประมาณ 285 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดที่เมืองกก จังหวัดเชียงตุง ในรัฐฉานของเมียนมา ไหลเลาะเข้าสู่ประเทศไทยที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงชัย อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย และไหลลงแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระยะทางยาว 130 กิโลเมตร เป็นเส้นทางน้ำสายสำคัญที่ก่อให้เกิดชุมชนและศิลปวัฒนธรรมสองฝั่งแม่น้ำมากมาย มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลานานาชนิด และเป็นเส้นเลือดที่ใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตร
ลำน้ำสาขาที่สำคัญ ได้แก่ น้ำแม่ฝาง น้ำแม่ลาว และน้ำแม่สรวย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนสุขภาวะของผู้ใช้น้ำของพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต้นตอสำคัญพบว่ามีการทำเหมืองทองคำของบริษัทจีนในพื้นที่ ณ บริเวณต้นแม่น้ำกก เขตเมืองยอน ของรัฐฉาน ที่มีการเปิดหน้าดิน เปลี่ยนจากป่าอุดมสมบูรณ์เป็นพื้นที่เปิดหน้าดินกว้างใหญ่ขึ้น ตั้งแต่ปี 2567-2568 ซึ่งมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ประเมินว่าเหมืองทองทั้งหมดไม่มีการบำบัดน้ำก่อนปล่อยทิ้งในแม่น้ำกก
สถานการณ์วิกฤตครั้งนี้เป็นภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นมลพิษข้ามพรมแดนที่ได้รับผลกระทบจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนที่ยังไม่คลี่คลาย ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนไทยอย่างสูง
ล่าสุด นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้เพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำตั้งแต่รอยต่อกับ จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงปลายน้ำที่ อ.เชียงแสน ก่อนแม่น้ำกกจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมถึงมีคำสั่งให้สำนักงานสาธารณสุข การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมสำรวจแหล่งใช้น้ำทั้งอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยได้ประกาศให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่มหรือสัมผัสน้ำจากแม่น้ำกกโดยตรง
ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องเร่งด่วนใหญ่คือ การสร้างความปลอดภัยของผู้ใช้น้ำประปาในการอุปโภคบริโภค คาดว่ามีประชากรเป็นแสนคนที่ใช้น้ำจากแม่น้ำกก เฉพาะ กปภ.ที่รับผิดชอบในเขตตัวเมืองมีผู้ใช้บริการราว 40,000 ราย
โดยผู้ใช้ 1 รายคือ 1 ครอบครัว เฉลี่ยครอบครัวละ 3 คน รวมคนใช้น้ำประปาประมาณ 120,000 คน หรืออาจมีมากกว่านี้ หากรวมห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัดวาอาราม เป็นต้น
ล่าสุดทางจังหวัดเชียงรายออกประกาศแจ้งเตือน 1.ห้ามเอาร่างกายลงไปสัมผัสในแม่น้ำกก 2.ห้ามนำน้ำมารดหรือใช้ทางการเกษตร 3.ห้ามจับปลาและสัตว์น้ำ ทั้งนี้ สารหนูที่ตรวจพบ 3 จุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2568 และออกมาประกาศแจ้งเตือนต้นเดือนเมษายน 2568 โดยยังไม่มีการตรวจเพิ่มเติม เพราะต้องส่งไปตรวจที่ Lab ใน จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 7 วัน หมายความว่าอาจมีมลพิษทางน้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่ระหว่างรอการตรวจ
ประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำทันทีตอนนี้คือ การสร้างห้อง Lab ในจังหวัดเชียงราย เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะการตรวจสารโลหะหนัก ให้ได้ทราบผลรวดเร็วและเป็นปัจจุบันกว่าการส่งไปตรวจที่ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง แม้ กปภ.จะระบุว่าน้ำประปาในจังหวัดเชียงรายปลอดภัย
แต่ดูเหมือนเป็นคำอธิบายที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ไม่มีตัวเลขยืนยันชัดเจนที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ และสารหนูในน้ำประปามีกระบวนการกำจัดอย่างไรหากเกิดสะสมในร่างกาย ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนตลอดลำน้ำกกน่าเป็นห่วงมาก เพราะการได้รับสารพิษอาจจะไม่ได้ออกอาการทันที แต่จะสะสมและเกิดผลในระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้า
“เชียงรายมีสถาบันการศึกษา 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สามารถผนึกกำลังทำงานร่วมกันได้ จึงอยากให้มีการผลักดันความร่วมมือของ 3 สถาบันนี้ให้เกิดขึ้นในการตรวจสอบหาสารโลหะหนักที่เป็นพิษในแม่น้ำกก ซึ่งจะมีข้อมูลที่นำไปใช้ในการตัดสินใจได้ และรัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดห้อง Lab ภายใน 1 เดือนนี้”
ขณะที่ในเชิงนโยบายระดับประเทศ ควรเร่งให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขต้นเหตุของปัญหา คือเหมืองทองคำที่ตั้งอยู่ต้นน้ำแม่กกและต้นน้ำแม่สาย ซึ่งระยะ 2 ปีมีเหมืองทองเกิดขึ้น 5-6 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของ “กองกำลังว้า” โดยมีบริษัทจีนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งเปิดหน้าดินทำโดยไม่มีการบำบัดใด ๆ จะเห็นว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเหมืองทองส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และชี้ชัดได้เลยว่าต้นเหตุมาจากเหมืองทองในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา
ดร.สืบสกุลกล่าวว่า ข้อเสนอในเชิงนโยบายคือ 1.รัฐบาลไทยต้องไปคุยกับรัฐบาลเมียนมาในกรอบนโยบายระหว่างประเทศ 2.ผู้นำกองกำลังว้าที่ดูแลพื้นที่และให้สัมปทานกับบริษัทจีน ต้องคุยกับรัฐบาลจีน เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในแม่น้ำกก อันเนื่องมาจากการทำเหมืองทองคำ ซึ่งกระทบทั้งสุขภาพ กระทบระบบนิเวศคือ ปลาและสัตว์น้ำ และจะกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในปลายทางคือ มนุษย์ที่ได้รับสารพิษ 3.นอกจากกลไกระดับรัฐต่อรัฐแล้ว อาจต้องใช้กลไกที่ไม่เป็นทางการด้วย
อาทิ นักธุรกิจไทยที่มีเครือข่ายข้ามแดน หรือสมาคมทางการค้าไทย-เมียนมา ควรจะใช้ช่องทางนี้เพิ่มเติมในการร่วมเจรจาหาทางออกว่าการทำเหมืองสร้างผลกระทบ โดยการหาทางออกร่วมกันคือ การยุติการทำเหมืองทอง
ตอนนี้ถือว่าสถานการณ์แม่น้ำกกรุนแรงที่สุด หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ PM 2.5 ที่ควบคุมสาเหตุไม่ได้ แต่ยังมีมาตรการป้องกันได้คือ ใช้หน้ากากอนามัย มีห้องปลอดฝุ่น หรือการใช้เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น แต่สถานการณ์แม่น้ำกกที่มีสารโลหะหนัก เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาป้องกันได้เลย แม้แต่ในระดับปัจเจกบุคคล นอกจากการซื้อน้ำดื่มที่บรรจุจากนอกพื้นที่จังหวัดเชียงราย และผู้ใช้น้ำในครัวเรือน ผู้ใช้น้ำในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว การค้า อุตสาหกรรมจะทำอย่างไร PM 2.5 ที่เกิดขึ้นระยะ 2-3 เดือน ยังมีวันหายไป แต่เหมืองทองมีการทำทุกวัน และปล่อยสารพิษลงแม่น้ำกกทุกวัน
ตัวเลขโครงสร้างเศรษฐกิจมวลรวมของจังหวัดเชียงราย มีมูลค่าประมาณ 1.6 แสนล้านบาท เป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือรองจากเชียงใหม่ และนครสวรรค์ ส่วนใหญ่รายได้หลักคือภาคการท่องเที่ยว ที่มีถึง 35% ของ GPP มีนักท่องเที่ยวมาเยือนสูงถึง 5-6 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 58,000 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 ของภาคเหนือ เป็นรองเพียงเชียงใหม่ รองลงมาภาคการเกษตร มีมูลค่า 45,000 ล้านบาท คิดเป็น 27% และภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่า 36,000 ล้านบาท หรือ 22%
ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นหัวใจเศรษฐกิจของเชียงรายที่ไต่อันดับขึ้นมาเป็นจังหวัดอันดับที่ 5 ที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทย และมีสถิตินักท่องเที่ยวพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี
ดร.สืบสกุลกล่าวต่อไปว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งปกติจังหวัดเชียงรายจะมีหาดเชียงราย อยู่ติดแม่น้ำกก ซึ่งในช่วงสงกรานต์เป็นแหล่งพักผ่อนและเล่นน้ำของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ต้องยุติกิจกรรมและการทำธุรกิจการค้าทั้งหมด ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเงียบเหงาอย่างมาก
สุดท้ายภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบในวงกว้าง เพราะนักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยในการใช้น้ำ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน เพราะเชียงรายมีรายได้จากการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก คนจะกล้ามาท่องเที่ยวหรือไม่ เศรษฐกิจจะกระทบภาคอุตสาหกรรม โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งระบบ
นอกจากนั้นยังส่งผลต่อการใช้น้ำภาคการเกษตรที่มีมูลค่ารองลงมาในการนำน้ำจากแม่น้ำกก และแม่น้ำสาขามาหล่อเลี้ยงภาคการเกษตรในพื้นที่ และการประมงในแม่น้ำ ซึ่งกระทบตรงต่อการบริโภคสินค้าการเกษตรของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว อันจะประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมาภาพรวมไม่น้อยกว่า 60% ของ GPP หรือกว่า 1 แสนล้านในภาพรวม ยังไม่รวมถึงผลกระทบเชิงสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่จะดูแลรักษาในระยะยาว
รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะเสื่อมโทรมของแม่น้ำทุกแม่น้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งแนวโน้มของแม่น้ำในประเทศไทยในช่วง 10 ปี อยู่ในระดับปานกลางถึงเสื่อมโทรม แต่สำหรับแม่น้ำกกมีความน่ากังวลคือ การตรวจพบสารหนูและโลหะหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบหนักคือ จังหวัดเชียงราย
ดังนั้น ในเชิงการบริหารจัดการ ต้องมีการตรวจสอบตำแหน่งที่เหมาะสม และการกระจายตัวที่มากและสม่ำเสมอ เช่น ในอดีตเคยเก็บการตรวจคุณภาพน้ำในบริเวณลำน้ำกกหรือไม่และบริเวณไหน ก่อนที่ยังไม่มีเหมืองทองเกิดขึ้น
ซึ่งสามารถนำมาเทียบได้ว่ามีความต่างกันอย่างไร ถ้าพบว่ามีสารปนเปื้อนในน้ำเกินมาตรฐานมาก จะชี้ชัดได้ว่ามาจากต้นตอเหมืองทอง ซึ่งยอมรับว่าในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดเหมืองทองเพิ่มขึ้นจำนวนมากในเขตประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำกก
ขณะเดียวกัน ต้องตรวจสอบความต่อเนื่องของคุณภาพน้ำในแต่ละฤดูกาล ซึ่งน้ำจะมีคุณภาพแตกต่างกัน ต้องมีการตรวจคุณภาพน้ำอย่างละเอียดและเพิ่มความถี่ในการตรวจเพื่อให้ทราบว่า น้ำสามารถสูบขึ้นไปผลิตเป็นน้ำประปาได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากถ้าเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งฝนแรกประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม คาดว่าคุณภาพน้ำจะแย่มาก เพราะจะมีการดึงหน้าดินไหลลงมาในแม่น้ำ ฝนแรกน้ำจะค่อนข้างอันตราย
นอกจากนี้ยังมีสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตรอีก ที่ต้องจัดหมวดหมู่ให้ดีว่า ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาและทำให้เกิดสารปนเปื้อนในแม่น้ำกกมาจากสาเหตุใด ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ก็จะมีการนำประเด็นนี้มาหารือในระดับจังหวัดเช่นกันในส่วนของแม่น้ำกกเขตอำเภอแม่อาย
ทั้งนี้ การทำเหมืองต้นแม่น้ำกกไม่มีรูปแบบที่มาตรฐาน ไม่มีระบบแบบแผนในการทำเหมืองที่ถูกวิธี การหารือระดับภูมิภาคต้องมีความชัดเจน อนาคตหากปล่อยให้พื้นที่ทำเหมืองทองต้นแม่น้ำกกในเขตประเทศเมียนมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากลงทุนและมีความคุ้มทุนก็จะเกิดการขยายตัวของการลงทุน เหมือนเช่นเดียวกับการปลูกข้าวโพดในประเทศเมียนมา ที่เกิด PM 2.5 อย่างควบคุมไม่ได้ แม่น้ำกกจะกลายเป็นพื้นที่ล่อแหลมและเปราะบางที่สุด ผลกระทบจะตกแก่ผู้ใช้น้ำที่ปลายทางจังหวัดเชียงราย
รศ.ชูโชคกล่าวว่า จังหวัดเชียงรายต้องทำฉากทัศน์ (Scenarios) หลายระดับ 1.ในช่วง 5 ปี หน้าดินที่เสื่อมสลายไป จะทำอย่างไรในเรื่องตะกอน น้ำท่วม และสารพิษในแม่น้ำ 2.ในช่วง 10 ปีข้างหน้า หากเหมืองทองขยายตัวมากกว่านี้ ขยายเหมือนไร่ข้าวโพดในเมียนมา จะมีการบริหารจัดการอย่างไร
3.ประเด็นการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) สำคัญมากในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน คือการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ที่มี 3 เสาหลักในการจัดการ ต้องดูให้ครบทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ต้องมีความบาลานซ์ ใช้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้กระบวนการ SEA เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะมีส่วนสนับสนุนต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นการบูรณาการความสัมพันธ์และเชื่อมโยงประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
ปัญหาภัยพิบัติในปี 2567-2568 คือมรสุมที่กระหน่ำภาคเศรษฐกิจของเชียงรายต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควันข้ามแดน ปัญหาน้ำท่วมแม่สายและตัวเมืองเชียงราย กรณีล่าสุดคือมลพิษข้ามแดนด้านน้ำ ที่เชียงรายกำลังถูกถาโถมด้วยปัจจัยลบที่ท้าทายการแก้ไขปัญหาเชิงวิกฤตที่ต้องพลิกสถานการณ์อย่างรวดเร็ว เพราะสถานการณ์มลพิษทางน้ำจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นด้านการบริโภคน้ำดื่ม การใช้น้ำในภาคบริการโรงแรม รวมถึงกระทบภาพลักษณ์เมืองที่กำลังเติบโตด้านการท่องเที่ยว
ดังนั้น ตัวเลขผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงรายกำลังเป็นคลื่นที่กระทบกับฐานเศรษฐกิจโดยตรง หากไม่มีการแก้ไขเชิงพื้นที่และการแก้ไขของรัฐบาลอย่างเร่งด่วน